กรุงเทพฯ, 28 มีนาคม 2567 – เพื่อร่วมสนับสนุน และผลักดันนโยบายรัฐบาลตามแนวทางยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของประเทศไทย หรือ Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล และนวัตกรรม สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. โดย ผศ.ประยูร เชี่ยววัฒนา นายกสมาคม และ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ ลงนามความร่วมมือ (MOU) ครั้งสำคัญร่วมกัน เพื่อพัฒนาการศึกษาวิชาการ สำหรับพัฒนายกระดับศักยภาพบุคลากรด้าน Factory Automation เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
การลงนามความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการต่อยอดความร่วมมือพัฒนาการศึกษา ในการเสริมสร้างความรู้ความสามารถ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับศักยภาพของบุคลากรด้าน Factory Automation ของไทย โดยการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ของบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับพัฒนาระบบการทำงาน โดยเฉพาะการเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านเตรียมความพร้อมของบุคลากร ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการแข่งขันของประเทศที่สูงขึ้นหลังการเข้าสู่ AEC- ASEAN Economic Community เมื่อปี 2559
ผศ.ประยูร เชี่ยววัฒนา นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้กล่าวถึงความร่วมมือนี้ว่า "การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กับบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย การฝึกอบรมบุคลากร และพัฒนาในด้านเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ อีกทั้งยังป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมของบุคลากร ให้มีความสามารถตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล และส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ"
นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความคิดเห็นว่า "เรามุ่งมั่นที่จะสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในด้าน Factory Automation เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขัน นำพาอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล ความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบริษัทจะจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับความสามารถของบุคลากรให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น แต่ยังสร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาการแข่งขันขององค์กร และประเทศในเวทีโลกได้อีกด้วย"
การลงนามร่วมมือนี้ในครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ดีต่ออนาคตของอุตสาหกรรมการผลิตแบบอัตโนมัติของประเทศไทย และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาทักษะ และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวหน้าตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง
ส่วนงานประชาสัมพันธ์
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
โทร. 0 2717 3000 ต่อ 797, 712
http://www.tpa.or.th