วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 14 ก.พ. 2008 20.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 10358 ครั้ง

"ดัดจริต"...บางคนมีจริตแต่ไม่ดัด บางคนชอบดัดจริต หรือบางคนก็ไม่มีจริตจะให้ดัด แล้วอย่างนี้อะไรดีกว่ากัน...?


"...ดัดจริต..."

“...ดัดจริต...”

วิกูล    โพธิ์นาง    (๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑  เวลา  ๒๑: ๓๙ น.)

 

18845_Clip_3.jpg

 

“ดัดจริต” ถ้าใครโดนผู้ใดกล่าวหาว่า “ดัดจริต” ก็คงรู้สึกไม่ดีเลยต่อผู้พูด และคำพูดนั้นๆ พาลให้ไม่พอใจและก่อตัวเป็นศัตรูกันได้ ส่วนผู้ฟังที่ได้ยินคำนี้บางคนอาจะรู้สึก “สะใจ”  ก็เหตุที่คำว่า “ดัดจริต” ในการรับรู้ของคนไทยเราน่าจะส่วนใหญ่หมายถึง “คำด่า” มิใช่ “วาจาอันอ่อนหวาน”

 

ระยะนี้ได้มีผู้นำคำว่า “ดัดจริต” มาใช้อยู่บ่อยๆ จากกรณีนักข่าวถามว่างานนั้นงานนี้จะแก้ไขอย่างไรเพราะมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย ก็ได้รับคำตอบประมาณว่า “กลุ่มนั้นๆดัดจริต”

 

ถ้ามองในแง่ดีก็ถือว่าเป็นโอกาสของเราที่จะนำคำ “ดัดจริต” มาศึกษาหาความหมายที่แท้จริง อันจะนำไปสู่การตัดสินใจว่าใครบ้างที่ดัดจริต หรือเข้าข่ายดัดจริต จริตหรือดัดจริตจริงๆแล้วดีหรือไม่ดี ก็ถ้าในเมื่อทุกคนที่เกิดมาล้วนแล้วแต่มีจริตไปพร้อมกับการดัดจริตอยู่ทุกคนตลอดมา

 

“ดัดจริต” ประกอบไปด้วยคำสองคำ คือ ดัด+จริต ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ดังนี้

ดัด  เป็นกิริยา หมายถึง ทำให้คดหรือตรงตามประสงค์ เช่นดัดไม้ ดัดนิสัยฯ

จริต  เป็นนาม หมายถึง ความประพฤติ กิริยาหรืออาการ เช่น พุทธจริต เสียจริตฯ

เมื่อนำคำสองคำมารวมกันก็เป็นคำว่า “ดัดจริต”

ดัดจริต  เป็นกิริยา ที่แปลว่า “แสร้งทำกิริยาหรือว่าจาให้เกินควร”

 

และในทางพุทธศาสนาได้สอนเรื่องกิริยาหรือจริยาที่เกี่ยวข้องกับจริตนี้ไว้โดยแบ่งจริตไว้ด้วยกัน ๖ ลักษณะดังที่ยกมาจาก “ธรรมะไทย”   ดังนี้

จริต ๖

“คำว่าจริยา หมายถึงลักษณะอันเป็นพื้นฐานของจิต หรือนิสัยอันเป็นพื้นเพของบุคคลแต่ละคน
คำว่าจริต ใช้เรียกบุคคลที่มีจริยาอย่างนั้นๆ เช่น คนมีโทสจริยา เรียกว่า โทสจริต

จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๖ ประเภท หรือ ๖ จริต คือ

 

๑.ราคจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน และจิตใจจะยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นเวลานานๆ

๒.โทสจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อน วู่วาม หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง โผงผาง เจ้าอารมณ์

๓.โมหจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโมหะ เขลา เซื่องซึม เชื่อคนง่าย งมงาย ขาดเหตุผล มองอะไรไม่ทะลุปรุโปร่ง

๔.วิตักกจริต หรือวิตกจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถยึดเกาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ
วิตก แปลว่าการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการเพ่งจิตสู่ความคิดในเรื่องต่างๆ ไม่ได้หมายถึงความกังวลใจ วิตกจริตจึงหมายถึง ผู้ที่เดี๋ยวยกจิตสู่เรื่องโน้น เดื๋ยวยกจิตสู่เรื่องนี้ ไม่ตั้งมั่น ไม่มั่นคงนั่นเอง

๕.ศรัทธาจริต หรือสัทธาจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสได้ง่าย ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษต่างจากโมหจริตตรงที่โมหจริตนั้นเชื่อแบบเซื่องซึม ส่วนศรัทธาจริตนั้นเชื่อด้วยความเลื่อมใส เบิกบานใจ

๖.ญาณจริต หรือพุทธิจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางชอบคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล

 

โดยความเป็นจริงแล้ว คนเรามักมีจริตมากกว่า ๑ อย่างผสมกัน เช่น ราคโทสจริต ราคโมหจริต โทสโมหจริต ราคโทสโมหจริต สัทธาพุทธิจริต สัทธาวิตกจริต พุทธิวิตกจริต สัทธาพุทธิวิตกจริต เป็นต้น เมื่อรวมกับจริตหลัก ๖ ชนิด จึงได้เป็นบุคคล ๑๔ประเภท หรือ ๑๔ จริต

ซึ่งบุคคลแต่ละจริตก็เหมาะที่จะทำกรรมฐานแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป”

 

ก็ลองใช้หลัก “จริต๖” นี้ไปเป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบพิจารณาดูว่าตัวเราหรือคนรอบข้างหรือใครๆก็ตามทีว่ามีจริตอยู่ในประเภทใดบ้าง ถ้าจะ “ดัดจริต” จากจริตหนึ่งไปสู่จริตหนึ่งหากเป็นการพัฒนาจริยาแล้วคำว่า “ดัดจริต” ก็ไม่น่าจะเป็นคำที่น่ารังเกียจ ดังที่ช่างพยายามดัดไม้ดัดเหล็กให้วิจิตรงดงาม ทั้งนี้ทั้งนั้น “ต้องไม่แสร้งทำ”

 

ผู้ที่ไม่คิดพัฒนาจิตตนเอง  ไม่พยายามดัดจิตให้สวยงามปล่อยไปตามกระแสสังคมหรือตามยถากรรมก็ตามทีผู้นั้นดูจะน่ารังเกียจกว่าเพราะ  “ไม่คิดจะดัดจิตใจตนเอง” ประหนึ่ง “โมษะบุรุษ” หรือบุคคลผู้ไร้แล้วซึ่งคุณค่าของความเป็น “มนุษย์” ขอฝากไว้กับบทกลอนของท่านพุทธทาส

 

“เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง

เหมือนนกยูงมีดีที่แววขน

ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน

ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา

ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ

ถ้ามีครบควรเรียกมนุสสา

เพราะทำถูกพูดถูกทุกเวลา

เปรมปรีดาคืนวันสุขสันต์จริง
ใจสกปรกมืดมัวและร้อนเร่า

ใครมีเข้าควรเรียกว่าผีสิง

เพราะพูดผิดทำผิดจิตประวิง

แต่ในสิ่งนำตัวกลั้วอบาย

คิดดูเถิดถ้าใครไม่อยากตก

จงรีบยกใจตนรีบขวนขวาย
ให้ใจสูงเสียได้ก่อนตัวตาย

ก็สมหมายที่เกิดมาอย่าเชือนเอย”

 


อ้างอิง

พจนานุกรรม  http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

จริต ๖  http://www.dhammathai.org/treatment/concentration/concentrate06.php              

บทกลอน   http://www.lokwannakadi.com/neo/shakayan.php?ID=46

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที