ที่มาที่ไปของ TQM
องค์การถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้วัตถุประสงค์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ต้องการกำไรสูงสุด (Maximize Profit) แต่หากมองเพียงแค่นี้บางครั้งองค์การเองก็ตกม้าตายได้ การมองภาพผลลัพธ์สุดท้าย (Outcome) จึงน่าจะเป็นประเด็นที่ผู้บริหารองค์การต้องมองให้ทะลุมากกว่า เช่น
- การมีสินค้าที่มีคุณภาพพูดกันติดปาก
- ชื่อเสียงบริษัท
- การเป็นมิตรกับสังคม
และการได้มาซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ที่จะทำการบริหารการผลิตให้สินค้ามีคุณภาพ ต้นทุนของสินค้าต่ำ หรือบริการดี และราคาขายของสินค้าหรือบริการนั้นๆเหมาะสม ผลประโยชน์ที่ให้กับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ
การได้มาของสินค้าหรือบริการจำต้องมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากความต้องการของผู้ซื้อ โดยอาศัยกระบวนการภายในขององค์การ เช่นเปลี่ยนความต้องการของผู้ซื้อให้รู้ว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไร ใช้เครื่องจักรแบบไหน ใช้แรงงานมากน้อยแค่ไหน ใช้พลังงานเท่าไหร่ ใช้กระบวนการผลิตอย่างไร เพื่อให้ได้สินค้า หรือบริการที่เป็นที่พึงพอใจของผู้ซื้อ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การผลิตสินค้าที่มีรูปแบบเดิมๆ คือผลิตเท่าที่มีความสามารถ (Product- Out) ก็เริ่มกลายเป็นผลิตตามคำสั่ง (Market-in) องค์การเองจำต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น การบริหารของผู้บริหารในองค์การก็มีความยากลำบากมากขึ้น แนวทางการบริหารที่ออกคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำพาองค์การฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้
องค์การจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรทุกๆคน ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ตามลำดับชั้นการบริหาร นั่นคือองค์การจำต้องหาเครื่องมือทางการบริหารแบบใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับ
นิยาม
TQM เป็นรูปแบบการบริหาร (Management Model) รูปแบบหนึ่งในหลายๆรูปแบบ โดยมีปรัชญาว่า หากองค์การสามารถผลิตสินค้าหรือบริการ ให้ลูกค้าที่พึงพอใจได้แล้ว ลูกค้าก็จะกลับมาซื้อสินค้าหรือบริการ แต่แนวคิดนี้จะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของพนักงานทุกระดับในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน
ดร.โนริอากิ คาโน่ ได้สร้างโมเดลจำจองการบริหารออกมาเป็นรูปบ้าน เพื่อสรุปแนวคิดการบริหาร โดยอาศัย
- ช่องทางการบริหารนโยบายผ่านผู้บริหารระดับสูง
- ช่องทางการบริหารงานประจำวันผ่านผู้บริหารระดับกลาง/ต้น
- ช่องทางการบริหารงานข้ามสายงานผ่านผู้บริหารระดับกลาง/ต้น และซุปเปอร์ไวซ์เซอร์
- ช่องทางการแก้ไขปัญหาผ่านผู้บริหารระดับต้น/ซุปเปอร์ไวเซอร์/หัวหน้างาน
- และช่องทางกิจกรรมล่างสู่บนผ่านพนักงานหน้างาน
ทั้งนี้พนักงานทุกระดับต้องมีแนวคิดต่างๆเช่น การยึดความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ การยึดว่ากระบวนการถัดไปเป็นลูกค้าของเรา การใช้วงจรการบริหาร P-D-C-A คุณภาพสร้างได้ที่กระบวนการ การใช้ข้อมูลข้อเท็จจริง การจัดลำดับความสำคัญ การบริหารกระบวนการ การกำหนดมาตรฐาน และการป้องกันปัญหาเกิดซ้ำ อีกทั้งใช้เครื่องมือช่วยต่างๆเช่น QC 7 Tools , New QC 7 Tools, วิธีทางสถิติ ตลอดจนเครื่องมือต่างที่จะหยิบมาใช้เมื่อมีความจำเป็นและเหมาะสม
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที