FCL และ LCL ความแตกต่างที่ผู้ทำธุรกิจส่งออกควรรู้
FCL คือ การขนส่งสินค้าบรรจุเต็มตู้ขนส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นความรู้ที่ผู้ทำส่งออกควรทราบ มันมีรายละเอียดอย่างไร แตกต่างกับ LCL ตรงไหน อ่านได้จากบทความนี้
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มีการพัฒนาจนได้มา 5 วิธีด้วยกัน คือ การขนส่งทางบก, การขนส่งทางน้ำ-ทะเล, การขนส่งทางอากาศ, การขนส่งแบบท่อ (pipeline) และการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์ที่มีทั้ง FCL และ LCL โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าสามารถเลือกวิธีการขนส่งที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเสียค่าใช้จ่ายไม่สูง
สำหรับการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์นั้นส่วนใหญ่จะทำร่วมกับการขนส่งทางอื่น เช่น ทางบก (รถไฟ, รถบรรทุก, รถยนต์), ทางน้ำ-ทะเล (เรือสินค้า) เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า FCL คืออะไร ความรู้ที่คนทำส่งออกควรรู้ไว้
FCL คืออะไร เหมาะสำหรับสินค้าประเภทใด
FCL (Full Container Load) คือ รูปแบบการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบบรรจุเต็มภายในตู้ โดยปกติแล้วจะใช้ในการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ สำหรับขนาดตู้คอนเทนเนอร์ที่ปกติใช้กันก็จะมี
-
20’ GP ตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีความจุประมาณ 30 cbm
-
40’ GP ตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีความจุประมาณ 65 cbm
-
40’ HQ ตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีความจุประมาณ 75 cbm
นอกจากนี้การขนส่งทางทะเลระบบตู้คอนเทนเนอร์นั้นสามารถขนส่งได้จำนวนมากในแต่ละครั้งจึงทำให้ต้นทุนในการขนส่งต่อหน่วยต่ำเมื่อเทียบกับวิธีขนส่งทางอื่น
สินค้านำเข้า-ส่งออกที่นิยมขนส่งทางน้ำแบบ FCL ส่วนใหญ่จะเป็น เครื่องจักร, สินค้าทางเคมี, อาหารแช่แข็ง, อุปกรณ์ช่าง, วัสดุก่อสร้าง - หิน ทราย, สินค้าสุขภัณฑ์, สินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าว เป็นต้น
FCL และ LCL มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง
รูปแบบการขนส่งสินค้าทางทะเลในแบบตู้คอนเทนเนอร์ FCL และ LCL แตกต่างกันอย่างไรนั้น เราจะแจกแจงความแตกต่างดังนี้
-
FCL เป็นวิธีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยใช้การบรรจุสินค้าให้เต็มตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเจ้าของสินค้าเพียงรายเดียวที่สามารถจัดระเบียบวางสินค้าให้เต็มพื้นที่ ปริมาณสินค้าที่ส่งนั้นมากกว่า 15 ตันสำหรับตู้ 20’GP หรือ มากกว่า 20 ตันสำหรับตู้ 40’GP และยังเป็นสินค้าชิ้นใหญ่
-
LCL จะยืดหยุ่นกว่าเพราะถึงแม้จะใช้ระบบขนส่งแบบตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม ในหนึ่งตู้จะเป็นสินค้าของเจ้าของสินค้าหลายรายที่ร่วมกันใช้พื้นที่ในการบรรจุสินค้า เฉลี่ยค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่ง freight ค่า THC, CFS เป็นต้น แถมสินค้าที่ขนส่งนั้นไม่จำเป็นต้องมีปริมาณมาก
FCL มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง
การขนส่งสินค้าในระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบ FCL มีทั้งข้อดี และข้อจำกัดดังนั้นเราจะพูดถึงการขนส่งสินค้าแบบ FCL (Full Container Load) มีข้อดีอย่างไร ดังต่อไปนี้
-
ทั้งตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงเจ้าของสินค้าเพียงรายเดียว สามารถใช้พื้นที่ในตู้ได้เต็มที่ พร้อมบรรจุเรียงสินค้าได้อย่างปลอดภัย
-
สินค้าที่อยู่ในระหว่างเดินทางทางทะเลจะมีความปลอดภัยสูงเพราะตู้คอนเทนเนอร์ได้ถูกสร้างให้มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพลมฟ้าอากาศ จึงสามารถป้องกันการชำรุดเสียหายได้
-
เหมาะสำหรับใช้ขนส่งสินค้าชิ้นใหญ่ ๆ เช่น เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
-
สามารถขนสินค้านำเข้าต่อเที่ยวในปริมาณเยอะ ๆ
-
สามารถเคลียร์สินค้าผ่านพิธีการศุลกากรได้รวดเร็วกว่า LCL เพราะไม่ต้องรอกำหนดเวลาเปิดตู้แบบ LCL
-
หลังเคลียร์สินค้าก็สามารถลากตู้คอนเนอร์ออกได้เลย
-
ในกรณีที่ขนส่งได้เต็มตู้ มีปริมาณสินค้ามาก ต้นทุนในการขนส่งก็จะมีความคุ้มค่ามากกว่า LCL
ในขณะที่ข้อจำกัดของรูปแบบ FCL มี
-
ไม่เหมาะใช้กับสินค้าที่มีปริมาณน้อย ๆ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงกว่า LCL ทำให้ขาดทุนได้
-
ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับตู้คอนเทนเนอร์ หากไม่มีหลักฐานชัดเจนพอ
LCL มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง
สำหรับการขนส่งสินค้าแบบ LCL (Less than Container Load) คือ รูปแบบในการขนส่งสินค้าที่แชร์พื้นที่ในตู้คอนเทนเนอร์กับเจ้าของสินค้ารายอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าชิ้นเล็ก, เสื้อผ้าแฟชั่น, เครื่องประดับสร้อยคอ ฯลฯ
ข้อดีในการเลือกใช้แบบ LCL จะมี
-
ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าเมื่อสินค้าที่ต้องการส่งออกมีจำนวนน้อย หรือเป็นสินค้าที่ใช้พื้นที่น้อย เพราะค่า freight, CFS (Container Freight Station Charge - ค่าธรรมเนียมโหลดสินค้าเข้า-ออก) และ THC (Terminal Handling Charge - ค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือ) มีการแบ่งเฉลี่ยการรับผิดชอบร่วมกันระหว่างเจ้าของสินค้าหลายราย
-
ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศสามารถจัดส่งสินค้าที่มีปริมาณน้อยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้สินค้าเต็มตู้คอนเทนเนอร์เพื่อจัดส่ง
ข้อเสียของรูปแบบ LCL คือ
-
ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งไม่แน่นอน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการล่าช้า หรือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
-
ไม่สามารถเคลียร์สินค้าได้ทันที
-
การที่จะนำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ เจ้าของสินค้าต้องรอกำหนดเปิดตู้ว่าเป็นเมื่อไรจากการท่าเรือด้วยการเช็กกับ Freight Forwarder ก่อน โดยมากจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วันทำการหลังจากเรือเทียบท่าแล้ว
-
สินค้าต้องได้รับการบรรจุที่รัดกุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสินค้าได้เพราะสินค้าในตู้มีเจ้าของมากกว่าหนึ่งราย อาจทำให้มีการวางทับซ้อนกันจนเกิดความเสียหายได้
-
หากสินค้าของเจ้าใดไม่ผ่านการตรวจสอบพิธีการศุลกากร จะส่งผลให้สินค้าของเจ้าอื่น ๆ ที่มาร่วมตู้คอนเทนเนอร์เดียวกันต้องผ่านการตรวจสอบทั้งหมด
สรุป FCL คือ หนทางการขนส่งระหว่างประเทศที่คุ้มค่าใช้จ่าย
ปัจจุบันการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศนิยมใช้วิธีขนส่งทางน้ำ-ทะเล ทั้งที่เป็น FCL, LCL เพราะสะดวก รวดเร็ว บริหารง่าย และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนได้ดีมาก ส่วนการตัดสินใจว่าควรใช้แบบไหนนั้นก็ควรปรึกษา Freight Forwarder ที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้มาให้คำแนะนำ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : FCL และ LCL ความแตกต่างที่ผู้ทำธุรกิจส่งออกควรรู้