Muthita

ผู้เขียน : Muthita

อัพเดท: 27 มิ.ย. 2024 22.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 98 ครั้ง

4 ความจริงเกี่ยวกับ หนี้นอกระบบ ที่คนอยากกู้ควรรู้


4 ความจริงเกี่ยวกับ หนี้นอกระบบ ที่คนอยากกู้ควรรู้

ไม่แปลกเลยที่เราจะพบเห็นโฆษณาเชิญชวนให้ กู้เงินด่วนนอกระบบ ตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงบริเวณทางเดินเท้าและสะพานลอยคนข้าม เนื่องจากธุรกิจนี้ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้มูลค่ามหาศาล สังเกตจากอัตราดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกหนี้แต่ละราย ใครที่ยังไม่รู้จัก หนี้นอกระบบ ในมุมที่ต่างออกไป วันนี้เราจะมาเปิดเผย 4 ความจริงที่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจเป็นหนี้นอกระบบ

 

  1. ดอกเบี้ยแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อาจเป็นเรื่องที่หลายคนพอทราบอยู่บ้าง แต่ทราบไปถึงรายละเอียดหรือไม่ว่าดอกเบี้ยของการ กู้นอกระบบ ที่ว่าแพงนั้นแพงอยู่ในระดับใด หากเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด “ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี” เมื่อตัดสินใจ กู้นอกระบบ มีโอกาสต้องแบกรับดอกเบี้ยร้อยละ 15 - 30 ต่อเดือนทันที หากจะเทียบเป็นดอกเบี้ยต่อปี จากร้อยละ 15 ต่อปี จะกลายเป็นร้อยละ 180 - 360 ต่อปี หนักกว่าแค่ไหนถามใจตัวเองกันดู 

  1. ดอกเบี้ยลอย ยากที่จะปลดหนี้ได้ 

ตามปกติของคนเป็นหนี้ก็ย่อมต้องการจะเป็นอิสระจากหนี้ หรือปลดภาระหนี้ได้ไว ๆ แต่การเป็น หนี้นอกระบบ ไม่ช่วยให้ชีวิตของลูกหนี้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะดอกเบี้ยที่สูงลิบลิ่วมักจะส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถปิดหนี้ได้ในคราวเดียว จำเป็นต้องทยอยผ่อนรายเดือนรายวันไปเรื่อย ๆ เมื่อจำนวนเงินที่ผ่อนชำระกลายเป็นการชำระดอกเบี้ยได้แค่บางส่วน ดอกเบี้ยที่ค้างชำระก็จะไปสะสมกับเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างก่อนหน้า ทบกันไปมาจนกลายเป็นหนี้ก้อนโตเกินกว่าจะคาดคิด ยิ่งปล่อยไว้นานโอกาสจะปิดหนี้ก็ยิ่งยาก

  1. เสี่ยงต่อการเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย 

ธุรกิจเงินกู้ในลักษณะนี้อาจมีที่มาไม่ถูกกฎหมาย เช่น ขบวนการฟอกเงิน เครือข่ายค้ายาเสพติด รวมถึงธุรกิจผิดกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งแม้ว่าเราจะมีเจตนากู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายเท่านั้น แต่เมื่อเงินที่ได้รับมานั้นเป็นเงินไม่ถูกกฎหมาย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องเดือดร้อนเพราะต้นทางของเงินเหล่านั้นได้เหมือนกัน 

  1. เสี่ยงต่อการถูกทวงหนี้ด้วยวิธีรุนแรง 

อย่าหวังว่าการทวงเงินค่างวดจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติการทวงหนี้ เพราะการกู้เงินในลักษณะนี้ไม่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายอยู่แล้ว หากลูกหนี้ผิดนัดชำระ หรือชำระหนี้ล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย ก่อให้เกิดความอับอายจากเจ้าหน้าที่ติดตามหนี้ ซึ่งข้อนี้ไม่ได้สร้างความไม่ปลอดภัยต่อตัวลูกหนี้เท่านั้น แต่ยังอาจลุกลามไปถึงสมาชิกในครอบครัว รวมถึงเพื่อนร่วมงานได้ด้วยเช่นกัน 

สำหรับผู้ที่กลายเป็นลูกหนี้ของธุรกิจนี้ไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะขอความช่วยเหลือ หรือขอคำแนะนำจากใครไม่ได้เลย เนื่องจากศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย (โทร. 1567) และศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน (โทร. 1359) พร้อมที่จะให้คำปรึกษา คุ้มครองลูกหนี้ และช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้อย่างเป็นธรรม 

 

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากวงจรเงินกู้นอกระบบ หนี้เสียได้ก็คือการกู้เงินในระบบไปปิดหนี้เงินกู้นอกระบบนั่นเอง โดยสามารถค้นหาสินเชื่อแก้หนี้นอกระบบที่เข้าหลักเกณฑ์และขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ทุกแห่ง ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีแผนสินเชื่อให้เลือกหลากหลาย กู้ได้ทั้งพนักงานประจำและผู้ประกอบการรายย่อย

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที