GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 02 ก.พ. 2024 10.05 น. บทความนี้มีผู้ชม: 218 ครั้ง

จากบทบาทความสำคัญในหลากหลายวัฒนธรรมมาแต่โบราณที่ทองคำถูกนำมาผลิตแปรรูปเป็นเครื่องประดับทอง ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ สะสมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง หรือเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า และในด้านอื่นๆ ซึ่งได้สืบทอดคุณค่ามากระทั่งปัจจุบันทองคำได้พัฒนาความเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรมและรูปแบบการนำมาใช้ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งหลายประเทศที่มีการพัฒนาการจากตลาดค้าขายทองคำในประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าทองที่สำคัญของโลกได้สำเร็จ


โอกาสของไทยกับการเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำของโลก

จากบทบาทความสำคัญในหลากหลายวัฒนธรรมมาแต่โบราณที่ทองคำถูกนำมาผลิตแปรรูปเป็นเครื่องประดับทอง ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ สะสมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง หรือเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า และในด้านอื่นๆ ซึ่งได้สืบทอดคุณค่ามากระทั่งปัจจุบันทองคำได้พัฒนาความเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรมและรูปแบบการนำมาใช้ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งหลายประเทศที่มีการพัฒนาการจากตลาดค้าขายทองคำในประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าทองที่สำคัญของโลกได้สำเร็จ

บทบาทของทองคำในโลกสมัยใหม่

ในยุคที่การค้าระหว่างประเทศและการลงทุนระหว่างประเทศเติบโตมากขึ้น ทำให้มีการใช้ทองคำในการเชื่อมโยงระหว่างกันในระดับสากล ทำให้อุปสงค์ด้านการซื้อขายและการลงทุนในทองคำเติบโตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ข้อมูลจาก World Gold Council ประมาณการว่า นับแต่อดีตที่มีการทำเหมืองทองมีการขุดทองคำขึ้นมาแล้วกว่า 209,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราคาทองจาก LBMA ณ สิ้นปี 2022) หากพิจารณาทองคำตามประเภทการใช้งานสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ การนำมาทำเครื่องประดับ ใช้ในการลงทุน ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลก และการถือครองของกองทุนทองคำ รายละเอียดดังภาพ

 

ข้อมูลจาก : World Gold Council

เมื่อพิจารณาในรายประเทศนั้น พบว่า ประเทศผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และตุรเคีย ในสัดส่วน 23.89%, 23.43%, 7.77%, 5.95% และ 3.68% ตามลำดับ โดยหากนำการบริโภคทองคำของจีนและอินเดีย เพียงสองประเทศนี้มารวมกัน พบว่ามีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 47.32% 

ขณะที่ฝั่งการผลิตนั้น มาจากเหมืองคิดเป็น 75% และจากการรีไซเคิล 25% โดยเฉลี่ยการผลิตจากเหมืองมีปริมาณราว 3,500 ตันต่อปี โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นราว 2% ต่อปี ในปี 2022 ทั่วโลกมีกำลังผลิต 3,627.7 ตัน ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกประกอบด้วย จีน (กำลังผลิต 375 ตัน) รัสเซีย (กำลังผลิต 324.7 ตัน) ออสเตรเลีย (กำลังผลิต 313.9 ตัน) แคนาดา (กำลังผลิต 194.5 ตัน) และสหรัฐอเมริกา (กำลังผลิต 172.7 ตัน) คิดเป็นสัดส่วน 10.34%, 8.95%, 8.65%, 5.36% และ 4.76% ตามลำดับ

 

ภาพสัดส่วนการผลิตทองคำรายภูมิภาค จาก https://www.gold.org/goldhub/

แม้ว่าผู้ผลิตทองคำรายใหญ่จะเป็นจีนและรัสเซีย แต่เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาค จะเห็นว่า ทวีปแอฟริกามีสัดส่วนปริมาณการผลิตมากที่สุด 25% เนื่องจากทองคำถูกขุดพบได้ในหลายประเทศในแถบนี้ทั้งยังมีปริมาณมากอย่างเช่น กานา (กำลังผลิต 127 ตัน) มาลี (กำลังผลิต 101.7 ตัน) บูร์กินาฟาโซ (กำลังผลิต 96.2 ตัน) และแอฟริกาใต้ (กำลังผลิต 92.6 ตัน) จึงทำให้ปริมาณผลิตรวมสูง รองลงมาเป็นเอเชีย 19% (แหล่งผลิตที่มีปริมาณสูง คือ จีนและอินโดนีเซีย) และอเมริกาใต้ 16% (แหล่งผลิตที่มีปริมาณมาก คือ เปรู บราซิล โคลัมเบีย) ตามลำดับ

ศูนย์กลางการค้าทองคำที่สำคัญของโลก

ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยชนิดหนึ่งที่มีสภาพคล่องสูงและให้ผลตอบแทนได้ดีโดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อสูง และวิกฤตต่างๆ จึงเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างแพร่หลาย โดย World Gold Council ได้ทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 1971 พบว่า ทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15% ต่อปี เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 3% โดยทั่วโลกนั้นมีหลายประเทศที่ถือว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมทองคำ ซึ่งสามารถแบ่งตามความเกี่ยวข้องที่สำคัญได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

1. ตลาดซื้อขาย (Exchange)

การซื้อขายทองคำที่นิยมโดยทั่วไปมักเป็นการซื้อขายแบบ OTC (Over The Counter) หรือการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย แต่การซื้อขายประเภทนี้ผู้ซื้อและผู้ขายต้องรับความเสี่ยงในแง่ของราคา ความโปร่งใส และมาตรฐานที่ไม่เหมือนกันในแต่ละราย ขณะที่การซื้อขายอีกประเภทหนึ่ง คือ ผ่านการลงทุนในตลาดซื้อขาย (Exchange) ทั้งในรูปของ Exchange Traded Fund (ETF) หรือการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับทองคำ เช่น Gold Futures เป็นต้น ซึ่งการซื้อขายประเภทนี้มีสำนักหักบัญชีกลาง (Central Counterparty) หรือ CCP ที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการชำระราคาและส่งมอบในทุกสัญญาซื้อขายที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นใจและความโปร่งใสภายใต้มาตรฐานที่วางไว้ 

ปัจจุบันศูนย์กลางการซื้อขายทองคำและโลหะมีค่ากระจายอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่ตลาด London Bullion Market (LBMA) ในประเทศอังกฤษ นับเป็นแหล่งซื้อขายที่มีความสำคัญ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานที่สุด มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อีกทั้งหากพิจารณาปริมาณการซื้อขาย พบว่า ตลาดแห่งนี้ยังมีสัดส่วนสูงถึง 70% รองลงมา ได้แก่ COMEX (นิวยอร์ก-สหรัฐอเมริกา) SGE และ SHFE (เซี่ยงไฮ้-จีน) นอกจากนี้ ยังมีตลาดที่สำคัญอื่นๆ อย่างเช่น DMCC (ดูไบ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) MCX (มุมไบ-อินเดีย) และ TOCOM (โตเกียว-ญี่ปุ่น) เป็นต้น การซื้อขายในตลาดเหล่านี้มีการวางกฎระเบียบที่เข้มงวด มีความชัดเจนและมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มาตรรฐานในระดับสากล ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานที่ยอมรับในตลาดโลก คือ Good Delivery Gold Bars ซึ่งแต่ละตลาดที่สำคัญต้องระบุน้ำหนักและค่าความบริสุทธิ์ของทองคำไว้ มีรายละเอียดดังนี้

ที่มา : Gold Associations & Exchanges

2. ศูนย์กลางการสกัดทองคำของโลก

นอกจากตลาดซื้อขาย (Exchange) แล้ว ยังมีอีกส่วนที่มีความสำคัญนั้นคือ การสกัดทองคำ (Gold Refining) เพื่อให้ได้ค่าความบริสุทธิ์ของทองคำที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เองนั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเกี่ยวพันกับทองคำมายาวนาน แม้ว่าปัจจุบันการทำเหมืองทองในประเทศจะลดความสำคัญลงไปจากปริมาณการขุดพบที่ลดลง แต่ความสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ในอุตสาหกรรมนี้ไม่ลดลงไปเลย ด้วยการผันตัวเองไปมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและส่วนอื่นๆ ของอุตสาหกรรม 

สวิตเซอร์แลนด์มีชื่อเสียงด้านการสกัดและวิเคราะห์ทองคำเป็นที่ยอมรับในฐานะศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของโลก เนื่องด้วยมีกรรมวิธีการวิเคราะห์หาปริมาณค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า (Assay) ที่ละเอียดและมีการควบคุมมาตรฐานที่เข้มงวด รวมทั้งกำลังการผลิตของโรงสกัดทองสวิสมีสัดส่วนราว 70% ของการสกัดทองคำทั่วโลก โดยมี 5 โรงสกัดทองคำสำคัญที่มีกำลังการผลิตสูงสุดติดอันดับโลกอย่าง Argor-Heraeus, Cendres Métaux, Metalor, PAMP และ Valcambi ซึ่งเป็นโรงสกัดโลหะมีค่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยิ่งกว่านั้น สวิตเซอร์แลนด์ยังมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งที่มาของทองคำเพื่อสร้างความโปร่งใสและมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดังนั้น ทองคำสวิสจึงเป็นที่ต้องการในตลาดโลก และทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นศูนย์กลางการสกัดทองคำของโลก

 

ภาพทองคำขนาด 1 ออนซ์ ค่าความบริสุทธิ์ทองคำ 999.9% ที่มีตราประทับโรงสกัด Valcambi จาก https://goldclubdirect.com

นอกจากชื่อเสียงในด้านการสกัดทองคำแล้ว สวิตเซอร์แลนด์ยังมีชื่อเสียงในระดับโลกเรื่องตู้เซฟนิรภัยที่มีความล้ำสมัยและปลอดภัยสูง รวมทั้งมีการวางระบบตรวจตราควบคุมดูแลและการรับประกันทองคำที่ฝากไว้ จึงทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งที่บุคคลทั่วไป สถาบันการเงิน และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ให้ความไว้วางใจในการเป็นที่เก็บทองคำแท่งด้วย

3. ศูนย์กลางการค้าทองคำและเครื่องประดับทอง

อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนั้นคือ การซื้อขายแบบ OTC (Over The Counter) โดยดูไบหรือนครแห่งทองคำ ได้ชื่อว่าเป็นตลาดที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในการซื้อขายทองคำและเครื่องประดับทอง จากจุดเริ่มต้นด้วยการเป็นตลาดค้าทองคำ (Dubai Gold Souk) ที่เก่าแก่เป็นตลาดค้าส่งและค้าปลีกทองคำที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ต่อมาดูไบได้พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันนับตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ ดังนี้

 

ภาพทางเข้าและหน้าร้านใน Dubai Gold Souk จาก https://comingsoon.ae/venues/dubai-gold-souk

ธุรกิจทองคำในประเทศไทย

ความเกี่ยวพันกับทองคำของไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ มีทั้งการนำมาเป็นเครื่องประดับทอง เครื่องใช้สอยต่างๆ ถือเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่มีการแกะเป็นลวดลายที่ละเอียดประณีตให้ชิ้นงาน นับเป็นสมบัติล้ำค่าที่บ่งบอกเอกลักษณ์และความรุ่งเรืองของไทยจากอดีตสืบถึงปัจจุบัน โดยค่านิยมทองคำในสังคมไทยแผ่ขยายเพิ่มมากขึ้นจากความนิยมเฉพาะบางกลุ่ม มีการนำมาให้เป็นของขวัญในงานมงคลต่างๆ สวมใส่เป็นเครื่องประดับ และถือครองเพื่อการลงทุน

ในด้านการบริโภคทองคำนั้น ในรอบปี 2022 ไทยมีการบริโภคทองคำรวม 37.93 ตัน (อันดับ 15 ของโลก) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.33% โดยเป็นการบริโภคเครื่องประดับทอง 9.41 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 16.84% แม้ว่าการบริโภคทองคำจะมีเพิ่มขึ้นแต่ยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีการบริโภคทองคำทั้งหมด 46.5 ตัน ส่วนครึ่งแรกของปี 2023 ไทยบริโภคทองคำรวม 13.97 ตัน (อันดับ 17 ของโลก) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13.58% ขณะที่มีการบริโภคเครื่องประดับทอง 3.8 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 7.32% โดยทองคำที่บริโภคภายในประเทศนั้น มีที่มาจากการนำเข้าทองคำที่ผ่านการสกัดจากโรงงานในต่างประเทศที่ได้รับมาตรฐานของ LBMA แล้วจึงนำกลับเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งจากการรีไซเคิลทองคำที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ 

ขณะที่ในประเทศนั้นมีแหล่งแร่ทองคำหลายแหล่ง จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า มีแหล่งแร่ทองคำกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของไทย แต่แหล่งแร่ทองคำที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย มี 5 แนวหลักๆ คือ 1. แนวแร่ทองคำเลย-เพชรบูรณ์-ปราจีนบุรี 2. แนวแร่ทองคำเชียงราย-แพร่-ตาก 3. แนวแร่ทองคำชลบุรี-นราธิวาส 4. แนวแร่ทองคำเชียงราย-ลำปาง-แม่ฮ่องสอน 5. แนวแร่ทองคำกาญจนบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-พังงา ประเมินว่า มีปริมาณสำรองของแร่ทองคำที่เป็นไปได้ในไทยราว 148.48 ตัน ในปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำชาตรีเพียงแห่งเดียวที่เปิดทำการ นอกจากนี้ มีพื้นที่ที่ได้รับการประทานบัตรแร่ทองคำอยู่ 19 แปลง และส่วนที่ได้ใบอนุญาตอาชญาบัตรแร่ทองคำ ซึ่งหมายถึง การได้รับอนุญาตให้สำรวจแร่จากทางการ จำนวน 25 แปลง (ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สิงหาคม 2023) 

นอกจากนี้ ไทยยังมีโรงงานสกัดทองคำหลายแห่งที่มีมาตรฐานสูงอย่างเช่น Precious Metal Refining ที่เป็นโรงงานสกัดที่มีกำลังการผลิตสูง ทั้งยังมีมาตรฐานอย่าง ISO 9001, 14001 และ 45001 หรือบริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นสมาชิกในเครือเอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก หนึ่งในบริษัทค้าทองรายใหญ่ของไทยเช่นเดียวกับ YLG Bullion ฮั่วเซ่งเฮง และออสสิริส ซึ่งโรงงานสกัดทองคำเหล่านี้ยังยึดถือหลักการและแนวปฏิบัติบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม มีการดำเนินงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมทั้งมีกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างการลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง มีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ มีระบบบำบัดอากาศก่อนปล่อยออกสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในการผลิตด้วย

แม้ว่าไทยจะมีโรงสกัดโลหะมีค่าที่ได้มาตรฐานสากลหลายแห่ง แต่ปัญหาสำคัญ คือ ยังไม่มีโรงงานใดในไทยที่ได้รับมาตรฐาน LBMA Good Delivery ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านทองคำที่ทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากข้อกำหนดการเป็นผู้ผลิตทองคำที่ได้มาตรฐานตามที่ LBMA นั้น มีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ต้องมีกำลังผลิตทองคำอย่างน้อย 10 ตัน มูลค่าของบริษัทต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านปอนด์ (ราว 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้ผู้ผลิตในไทยต้องส่งออกทองคำที่ผลิตได้ไปยังต่างประเทศเพื่อผ่านกระบวนการทำให้ทองคำบริสุทธิ์และได้ตรามาตรฐานจากโรงงานสกัดที่เป็นสมาชิก LBMA หลังจากนั้นจึงนำเข้ากลับมา 

ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น เมื่อพิจารณาเฉพาะการส่งออกทองคำ ในรอบครึ่งปี 2023 พบว่า การส่งออกทองคำมีมูลค่า 3,162.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 34.95% โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ (สัดส่วน 50.25%) สิงคโปร์ (สัดส่วน 35.04%) และฮ่องกง (สัดส่วน 7.33%) ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องประดับทองมีมูลค่า 1,222.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเพิ่มขึ้น 66.10% โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 26.65%) ฮ่องกง (สัดส่วน 19.43%) และสหราชอาณาจักร (สัดส่วน 7.01%) ตามลำดับ

ส่วนการนำเข้าทองคำ ในรอบครึ่งปี 2023 พบว่า มีมูลค่า 3,447.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 19.17% โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ (สัดส่วน 35.85%) ฮ่องกง (สัดส่วน 24.45%) และกัมพูชา (สัดส่วน 11.38%) ตามลำดับ

ขณะที่การนำเข้าเครื่องประดับทองมีมูลค่า 376.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 60.28% โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ ฝรั่งเศส (สัดส่วน 33.03%) อิตาลี (สัดส่วน 16.36%) และจีน (สัดส่วน 10.76%) ตามลำดับ

ในด้านการค้าทองคำในประเทศนั้น ไทยได้มีการวางมาตรฐานค้าทองเริ่มจากการรวมกลุ่มของผู้ค้าทองรายใหญ่ในย่านเยาวราชร่วมกันจัดตั้ง “ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง” ต่อมาได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็น “สมาคมค้าทองคำ” ซึ่งได้ทำหน้าที่สร้างมาตรฐานการค้าทองคำที่ชัดเจน ส่งเสริมแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า ร่วมมือกับภาครัฐในด้านนโยบายเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสร้างมาตรฐานทอง 96.5% (เท่ากับ 23.16K) ที่มีการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับกันในธุรกิจค้าทองทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นผู้กำหนดราคาทองอ้างอิงของประเทศไทยอีกด้วย

 

ภาพถนนเยาวราชที่มีร้านค้าทองมากกว่า 100 ร้านค้า จาก https://www.pinterest.com

สำหรับความเป็นไปได้ที่ไทยจะก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำแห่งใหม่ของโลกนั้น คุณบุญเลิศ สิริภัทรวณิช กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด ได้ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

เมื่อพิจารณาจากศักยภาพของอุตสาหกรรมทองคำของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะเห็นว่า ในห่วงโซ่อุปทานของประเทศนั้นมีความเข้มแข็ง เนื่องจากมีพื้นที่ทำเหมืองทองหลายแห่งและเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการผลิต มีผู้ส่งออกที่มีความชำนาญ โรงงานสกัดทองคำที่มีมาตรฐานสูงรองรับกำลังผลิตได้อีกมาก ตลอดจนร้านค้าทองในประเทศที่เป็นสมาชิกกับสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทยกว่า 8,400 ราย ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ทำให้ตลาดในประเทศมีความเข้มแข็ง ทั้งยังมีแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในการผลิตขึ้นรูปและทำลวดลายทองคำที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับ ไทยจึงมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางทั้งการค้าขายและเพื่อการทำธุรกิจได้ อีกทั้งมีหลายภาคส่วนเอื้อประโยชน์อย่างภาคการท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำนวนมาก ซึ่งหากสร้างความเชื่อมโยงกับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับให้ครอบคลุม จะทำให้สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น ส่วนเจ้าของธุรกิจควรต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งสต็อกสินค้า ราคาวัตถุดิบต่างๆ ให้พร้อมรับโอกาสด้วยเช่นกัน

 

คุณบุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด

ในขณะที่ยังมีอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งขั้นตอนและกฎระเบียบที่ควรปรับให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยังต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุนในระบบ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นเพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ ส่วนเรื่องมาตรฐานทองคำอาจมีข้อจำกัดตรงที่ตลาดทองคำในประเทศไทยเป็น 96.5% ไม่อิงกับมาตรฐานสากลที่เป็นทองคำ 24K 22K หรือ 18K แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และ/หรือปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้ และโรงงานสกัดทองคำดังกล่าวแม้ว่ามีศักยภาพแต่ยังไม่มีโรงงานใดในประเทศที่ได้รับมาตรฐาน LBMA Good Delivery ทำให้ทองคำต้องถูกส่งออกไปเพื่อสกัดและทำให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดก่อนที่จะนำกลับเข้ามา ทำให้เกิดต้นทุนสองต่อ หากมีการสนับสนุนเรื่องปริมาณการผลิตและเงินทุนเพื่อให้โรงงานสกัดทองคำในประเทศเข้ามาตรฐานของ LBMA จะสร้างโอกาสของไทยให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคได้

ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับทองคำและเครื่องประดับทองมากที่สุดในขณะนี้ เพราะด้วยวัฒนธรรมที่นิยมบริโภคเครื่องประดับทองมาแต่อดีตและเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมาก หากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการในการเจรจาการค้า อำนวยความสะดวกทั้งด้านการตลาดและกฎระเบียบ จะทำให้การเข้าตลาดนี้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งไทยเป็นสังคมพหุนิยมมีเครือข่ายที่เป็นชาวมุสลิมอยู่แล้วการเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีของภูมิภาคนี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับมุมมองที่มีต่อวิสัยทัศน์การผลักดันประเทศ ไปสู่การเป็นศูนย์กลางค้าทองคำของโลกนั้น คุณบุญเลิศเห็นว่า แต่ละประเทศมีการวางตัวเป็นศูนย์กลางค้าทองคำในรูปแบบที่แตกต่างกัน อย่างเช่นสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีโรงงานสกัดหลอมทองคำที่เป็นมาตรฐานโลก สร้างแนวทางความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้กำหนดราคาทองคำ ส่วนดูไบเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำที่เป็นทั้งตลาดกลางค้าทองคำและเป็นศูนย์การกระจายทองคำสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย รวมทั้งยังมีระบบศุลกากรและนโยบายภาครัฐที่เอื้ออำนวย และสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินมาก่อน จึงใช้ประโยชน์ด้านนี้ผลักดันขึ้นมาเป็นศูนย์กลางค้าทองคำที่รองรับปริมาณทองคำได้จำนวนมาก

ดังนั้น แนวทางของประเทศไทยอาจเริ่มที่การก้าวไปเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค (ไม่รวมสิงคโปร์)  ก่อนในขั้นแรก ซึ่งต้องกำหนดนโยบายให้มีความชัดเจนและสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างเต็มที่เพื่อให้มีการลงทุนเข้ามา มีปริมาณทองคำไหลเข้ามามากขึ้น ในที่สุดเราจะไปสู่เป้าหมายได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประเทศไทยต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ต้องการเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำ (Gold Trading Hub) ในมุมไหนที่จะมีความแตกต่างและโดดเด่น

ทองคำเป็นโลหะมีค่าที่ถูกนำมาใช้อย่างยาวนานในฐานะทั้งสื่อกลางการค้า การแลกเปลี่ยน การทำเป็นเครื่องประดับ หรือการถือครองเพื่อสะสมความมั่งคั่ง ทั้งยังมีสภาพคล่องสูงที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ก่อให้เกิดศูนย์กลางการค้าทองคำที่สำคัญหลายแห่งเพื่อรองรับอุปสงค์ที่มีอยู่มหาศาลในแต่ละภูมิภาค ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำอีกแห่งที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ที่อื่นๆ ของโลกก็เป็นได้  

ติดตามอ่านความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้ที่ https://infocenter.git.or.th/

ผู้เขียน: นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที