ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่กลายเป็นกระแสในหลายอุตสาหกรรมและสังคมทั่วโลก มีการรณรงค์จากองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น ทำให้สินค้าต่างต้องคำนึงถึงและแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจกับโลกและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้วัตถุดิบรวมทั้งกระบวนการผลิตเพื่อร่วมมีส่วนในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด World Wildlife Federation (WWF) องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ได้ออกรายงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนาฬิกาและเครื่องประดับ พบว่า ยังทำได้ไม่ดีนักในการก้าวเข้าสู่หนทางแห่งความยั่งยืน โดยได้ศึกษาข้อมูลจาก 21 แบรนด์ชั้นนำ ตามหลังอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีห่วงโซ่อุปทานซับซ้อนมากกว่า ซึ่งเมื่อเทียบกับรายงานฉบับก่อนของ WWF เมื่อปี 2561 นั้น พบว่า หลายแบรนด์มีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจนัก
จากรายงานฉบับล่าสุดในปี 2566 นั้น มีการจัดระดับออกเป็น 6 ขั้น จากไม่มีส่วนร่วมเลยจนถึงขั้นเกินคาดหมาย ซึ่งปรากฏว่า ไม่มีแบรนด์เครื่องประดับรายใดที่อยู่ใน 2 ระดับแรกเลย (ระดับสูงสุด Visionary และรองมา Front-runner) โดยแบรนด์ที่อยู่ในระดับ 3 (Ambitious) เรียงตามคะแนนมากไปน้อย ได้แก่ Pomellato, Tiffany&Co., IWC, Boucheron, Cartier, Panerai, และ Bvlgari ตามลำดับ ขณะที่แบรนด์จำนวนมากถึง 10 แบรนด์ อยู่ในระดับ 3 (Upper Midfield) อย่างเช่น Pandora, TAG Heuer, Omega, Tissot และ Breitling เป็นต้น
ตารางอันดับจาก Sustainable Rating and Industry Report 2023
ในการวัดมาตรฐานของ WWF นั้น พิจารณาการให้คะแนนถ่วงน้ำหนักใน 9 หมวดหมู่ มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยประกอบด้วย 1. กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน 2. การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ 3. การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ 4. การบริหารจัดการน้ำ 5. การจัดการด้านสิทธิมนุษยชน 6. การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ 7. การตรวจสอบที่มาและความโปร่งใสของวัตถุดิบ 8. การติดตามผลการดำเนินงานและการตรวจสอบจากภายนอก 9. การรายงานและเปิดเผยข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตจาก WWF ว่า รายงานนี้ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบเชิงนิเวศวิทยากับอัญมณีสังเคราะห์ ที่แม้ได้รับการยอมรับว่าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในกระบวนการผลิตและวัตถุดิบที่นำมาใช้ ล้วนมีส่วนยังก่อให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่การนำทองคำรีไซเคิลมาใช้เป็นวัตถุดิบใน
แบรนด์เครื่องประดับ ก็มีคำถามตามมาถึงนิยามของคำนี้ว่าครอบคลุมหรือหมายถึงแบบใด เพราะการนำทองคำมาผ่านการหลอมสองครั้งไม่อาจเรียกได้ว่า ทองคำรีไซเคิล และยังยากที่จะตรวจสอบถึงแหล่งที่มาอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น จากรายงานยังชี้ให้ผู้บริโภคระมัดระวังการฟอกเขียว “Greenwashing” ของสินค้าที่โฆษณาหรืออ้างว่าสินค้าหรือบริษัทมีภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลก แต่อาจไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง เน้นการทำแบบฉาบฉวยไม่ยั่งยืน หรือเลือกใช้กลยุทธ์การฟอกเขียวเพื่อการสร้างภาพลักษณ์
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ความพยายามในการสร้างความรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ ทั้งยังต้องระวังการใช้ภาพลักษณ์นี้ในการสื่อสารด้วย เพราะหากไม่เป็นจริงแล้ว ย่อมลดความน่าเชื่อถือและขาดการสนับสนุนจากผู้บริโภค ความจริงใจในการสร้างภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ
จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มกราคม 2567
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที