วัตพล

ผู้เขียน : วัตพล

อัพเดท: 18 พ.ค. 2024 12.42 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8106 ครั้ง

ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับ ภัยธรรมชาติ การเงิน การตลาด การออม
ธุรกิจ บัตรเครดิต ฯลฯ


แผ่นดินไหวและผลกระทบ ทำให้จำนวนผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพิ่มสูงขึ้น

ความรุนแรงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลก ในหนึ่งปีมีผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนับไม่ถ้วน ที่ต้องการความช่วยเหลือจำนวนมาก

แผ่นดินไหวและผลกระทบ


แผ่นดินไหวเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ทั้งโดยธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวก่อให้เกิดความเสียหายมากมายไม่ว่าจะต่ออาคารสถานที่ ทรัพย์สิน หรือตัวบุคคล ซึ่งใครหลายคนอาจคิดว่าภัยพิบัตินี้เป็นเรื่องไกลตัวเนื่องจากประเทศไทยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงน้อยครั้ง แต่แผ่นพื้นผิวโลกมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทั้งยังสามารถส่งผลกระทบได้เป็นวงกว้าง

ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์คลื่นสึนามิโถมเข้าชายฝั่งอันดามันอัน เป็นแผ่นดินไหวจากสาเหตุบริเวณมหาสมุทรอินเดียซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตมากมายเนื่องจากประชาชนยังไม่รู้วิธีการสังเกตเพื่อรับมือต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้วิธีเฝ้าระวังจะช่วยให้เราสามารถรับมือต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

 


สารบัญบทความ
 

 

แผ่นดินไหว คืออะไร ลักษณะของการเกิดและสาเหตุที่มา

แผ่นดินไหวคืออะไร? แผ่นดินไหว (earthquakes) คือการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ก่อเกิด แยกตัว หรือชนกันตามความลึกต่าง ๆ ของผิวโลกเป็นพลังงานในรูปแบบคลื่นไหวสะเทือนที่มีความรุนแรงหลายระดับ จุดศูนย์กลางหรือแหล่งกำเนิดของการเกิดโดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ขอบแผ่นเปลือกโลกตามแนววงแหวนแห่งไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก

แผ่นดินไหวเกิดจากอะไร? ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ทั้งจากทางธรรมชาติและโดยการกระทำของมนุษย์ ในกรณีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะเป็นผลมาจากการปลดปล่อยพลังงานความเครียดที่สะสมไว้เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกตามรอยเลื่อนซึ่งมีการเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ อยู่เสมอ, ภูเขาไฟปะทุ, แผ่นน้ำแข็งไหวสะเทือน, ดาวเคราะห์น้อยจากนอกโลกพุ่งชน หรือแรงสั่นของพายุ

ส่วนแผ่นดินไหวกรณีที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ จะเกิดได้จากการระเบิดหินในเหมืองระดับลึกจนเกิดแรงสั่นสะเทือน, การสูบน้ำ น้ำมัน รวมถึงแก๊สธรรมชาติจากชั้นใต้ดินจนชั้นหินเกิดการเคลื่อนตัว, น้ำหนักจากการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ส่งผลให้ชั้นหินเกิดแรงดัน ตลอดจนการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน โดยมีมาตราวัดความรุนแรงขนาดของแผ่นดินไหวแต่ละครั้งเป็น ‘ริกเตอร์’

ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวแบ่งตามมาตราวัดขนาดของแผ่นดินไหว ในระดับ 1-3 ริกเตอร์จะก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนจากอาคารเพียงเล็กน้อยซึ่งมีแต่คนภายในอาคารเท่านั้นที่รู้สึก ในขณะที่แผ่นดินไหวระดับ 4 ริกเตอร์จะรุนแรงขึ้นจนผู้คนทั่วไปสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือน แผ่นดินไหวระดับ 5 ริกเตอร์จะมีความรุนแรงจนวัตถุอย่างเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ สามารถเคลื่อนที่ได้ และจะรุนแรงมากขึ้นในระดับ 6-7 ริกเตอร์ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจนอาคารสิ่งก่อสร้างพังทลายหรือเกิดแผ่นดินแยก


แผ่นดินไหว ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในวงกว้าง

แผ่นดินไหวเป็นการสั่นสะเทือนของคลื่นออกจากจุดศูนย์กลางเป็นรัศมีวงกว้างรอบตัว คลื่นจากแผ่นดินไหวสามารถเดินทางได้ในระยะไกลและจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ตามระยะทางของพื้นที่ที่คลื่นเดินทางไปถึง นั่นหมายความว่ายิ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวมากเท่าไหร่ผลกระทบจากความเสียหายที่ได้รับยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

โดยผลกระทบแผ่นดินไหว ได้แก่ ไฟฟ้าดับ เกิดเพลิงไหม้ แก๊สรั่ว อาคารโยกสั่นจนถล่มลงมาในพื้นที่ที่แผ่นดินไหวสะเทือนแรง ระบบสาธารณสุขหยุดชะงักจากการคมนาคมติดขัดรวมถึงการสื่อสารที่ขัดข้อง ดินถล่ม น้ำท่วม คลื่นยักษ์ตามแนวชายฝั่ง นอกจากนี้แล้วถึงแม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวจะหยุดลงแต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายได้ต่อสุขพาร่างกายและสุขภาพจิต อย่างอาการวิงเวียนศีรษะ อาการติดสารพิษจากหินอาคารที่แตกร้าว หรือโรคกลัวแผ่นดินไหวได้


ภัยร้ายแผ่นดินไหว ตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

แผ่นดินไหวสามารถเคลื่อนที่เป็นระยะทางไกลได้มากกว่าพันกิโลเมตร ยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ในมหาสมุทรอินเดียที่ก่อให้เกิดสึนามิโถมเข้าสู่แถบชายฝั่งอันดามันของไทยเมื่อปี 2547 เป็นหายนะที่สร้างความเสียหายจนอาคารมากมายพังทลาย เสียหาย มีจำนวนผู้เสียชีวิตกับผู้บาดเจ็บนับหลายหมื่นคน และผู้สูญหายอีกจำนวนมาก

หรืออย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ล่าสุดในเมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อกโกในเดือนกันยายนปี 2566 ขนาด 6.8 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อที่พักอาศัย ระบบสาธารณสุขและระบบสาธารณูปโภค มีประชาชนเสียชีวิตเกือบสามพันคน รวมถึงผู้บาดเจ็บอีกมากกว่าสองพันคน


เฝ้าระวังแผ่นดินไหว วิธีการสังเกตก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

สัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวสามารถสังเกตได้จากสภาพพื้นดินว่ามีการยกตัวขึ้นมาผิดปกติหรือไม่ ค่าความเข้มของสนามแม่เหล็กและสภาพการนำไฟฟ้าของหินว่ามีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไร มีการเกิดแผ่นดินไหวเล็ก ๆ ขึ้นเป็นสัญญาณหรือปริมาณก๊าซเรดอนในบ่อน้ำสูงกว่าปกติหรือไม่ เกิดเมฆแผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วลอดจนเสียงสั่นสะเทือนจากใต้ดิน

นอกจากนี้แล้วสัญชาตญาณของสัตว์ยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถสังเกตได้เพราะสัตว์ป่ามีสัญชาตญาณในการเอาชีวิตรอด ตัวอย่างเช่นฝูงนกบินหนีจากที่อยู่ประจำหายไปเกิน 24 ชั่วโมง พฤติกรรมของปลาน้ำลึกที่ว่ายเข้ามาในเขตน้ำตื้นหรือหนีขึ้นชายฝั่ง รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างสุนัข แมว และหนูที่พบเห็นได้ง่ายว่ามีพฤติกรรมตื่นตระหนก ร้องกระวนกระวาย วิ่งพล่านไปมา หรือช้างที่พยายามวิ่งขึ้นที่สูง


ป้องกันภัยแผ่นดินไหว การเตรียมตัวรับมือต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว

หากมีการประกาศแจ้งเตือนเพื่อรับมือแผ่นดินไหวล่วงหน้าควรจัดเตรียมของที่จำเป็น ไฟฉาย อุปกรณ์สำหรับปฐมพยาบาล ยึดสิ่งของอย่างเช่นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในอาคารให้แน่นอยู่กับที่ จัดการเคลียร์สิ่งของที่มีน้ำหนักมากลงจากที่สูง เช็กตำแหน่งวาลว์ต่าง ๆ รวมถึงสะพานไฟฟ้าและหาข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่จำเป็น

ในกรณีที่ได้รับข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือประสบกับภาวะแผ่นดินไหวฉุกเฉินและรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่อันตราย หากอยู่ภายในห้องควรออกมาด้านนอกให้เร็วที่สุด แต่หากไม่สามารถทำได้ควรหลบอยู่ใต้โต๊ะที่มีสภาพแข็งแรงสามารถปกป้องร่างกายจากของที่หล่นลงมาได้ โดยควรอยู่ให้ห่างจากเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถล้มได้หรือมีแก้วเป็นส่วนประกอบอย่างเช่นหน้าต่าง แต่ถ้าหากอยู่นอกห้องหรือตัวอาคารไม่ควรหลบใต้เสาไฟหรือตามต้นไม้ ควรหยิบสัมภาระติดตัวประเภทกระเป๋าขึ้นมาบังศีรษะเพื่อป้องกันของตกกระทบ

หลังจากแผ่นดินไหวหยุดลงแล้ว ควรเช็กดูสถานการณ์โดยรอบให้แน่ใจว่าไม่มีอาฟเตอร์ช็อก สถานการณ์สงบกลับสู่สภาวะปกติแล้วจึงค่อยขยับตัว ควบคุมสติให้ใจเย็น ระมัดระวังสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ สำรวจตนเองกับคนรอบข้างว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่เพื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นพาตัวเองออกมานอกอาคารหรือเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัย ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด


ผู้รอดชีวิตแผ่นดินไหวในพื้นที่พักพิง หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าดูแล ตรวจสอบ เฝ้าระวังความเคลื่อนตัวของเปลือกโลกรวมถึงระดับน้ำทะเลผ่านเครื่องวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ คอยวิเคราะห์ติดตามเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ แจ้งเตือนข่าวสารภัยพิบัติตลอดจนให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวจากหน่วยงานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 192, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย 1784 และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669


รับบริจาคเงินแผ่นดินไหว ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายรุนแรงต่ออาคารบ้านเรือน โรงเรียน ถนน และผู้เสียชีวิตตลอดจนผู้บาดเจ็บที่อาจมากเกินกว่าโรงพยาบาลจะดูแลได้อย่างเพียงพอ กลุ่มเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจากหลายภาคส่วนจึงเดินทางเข้าถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเหตุการณ์ภัยพิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งเสบียง มอบชุดโภชนาการ น้ำสะอาด อุปกรณ์จำเป็นต่อการดำรงชีพต่าง ๆ  รวมถึงการสร้างที่พักพิงปลอดภัยฉุกเฉินในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงินแผ่นดินไหวผ่านบัญชีเพื่อสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ผ่านทางองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดังนี้

  • สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ The UN refugee Agency (UNHCR)
  • สภากาชาติไทย The Thai Red Cross Society
  • ยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand)

 


สรุปเกี่ยวกับแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวถือเป็นภัยพิบัติที่อยู่คู่กับโลกของเรามายาวนานและยังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกตามการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมไปถึงทางอ้อมจากการกระทำของมนุษย์ อย่างการระเบิด ทำเหมือง สร้างเขื่อนใกล้แนวรอยเลื่อนต่าง ๆ แผ่นดินไหวมีความรุนแรงหลายระดับแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้การเรียนรู้วิธีเฝ้าระวังภัยรวมถึงการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะช่วยบรรเทาความรุนแรงตลอดจนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที