ภาวะนอนไม่หลับ คืออะไร? ทำความเข้าใจอาการและวิธีรักษา
ภาวะนอนไม่หลับ หรือที่รู้จักกันในภาษาทางการแพทย์ว่า “โรคนอนไม่หลับ” (Insomnia) คือภาวะที่ผู้ป่วยนอนหลับยาก ต้องใช้เวลาในการนอนหลับนานผิดปกติ, ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้เป็นระยะเวลานาน หลับๆ ตื่นๆ กลางดึกบ่อยๆ หรือผู้ป่วยที่ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่นนอน
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่จากการวิจัยจะพบว่าผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนอนไม่หลับส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิต ทั้งสมาธิในการทำงาน การเรียน อ่อนเพลียระหว่างวัน ทำให้รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา เกิดความกังวลจนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ ทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น การเป็นซึมเศร้า
บทความนี้จึงพาเพื่อนๆ มารู้จัก อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) เพื่อตรวจสอบตนเองและป้องกันเบื้องต้น แต่หากเพื่อนๆ คนไหนที่มีอาการที่รุนแรง การเลือกเข้าพบแพทย์เป็นทางออกที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับการบำบัดรักษา
ทำความเข้าใจอาการนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือบุคคลที่มีความผิดปกติในวงจรการนอนหลับ เช่น นอนหลับไม่เป็นเวลา ใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับ นอนหลับเร็วแต่ตื่นเร็ว หรือสะดุ้งตื่นกลางดึกและไม่สามารถนอนหลับต่อได้ ทำให้ตื่นมารู้สึกง่วงนอนตลอดเวลาไม่สดชื่นเหมือนไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอต่อร่างกาย ไม่มีพลังงานในการใช้ชีวิต ส่งผลกระทบให้อารมณ์อ่อนไหวและหงุดหงิดง่าย อีกทั้งยังส่งผลต่อสมาธิในการทำงาน การเรียน สุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน
ทางการแพทย์ได้แบ่งโรคนอนไม่หลับออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะของช่วงเวลา
-
อาการนอนหลับยาก (Initial Insomnia) ภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้เวลาเข้านอนนานผิดปกติ มากกว่า 20 นาทีขึ้นไป อาจเป็นเพราะความวิตกกังวล ความเครียด ความไม่สบายใจก่อนที่จะเข้านอน
-
อาการหลับไม่ทน (Maintenance Insomnia) ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้เป็นระยะเวลานาน สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆ รู้สึกเหมือนไม่ได้นอนหลับทั้งคืน อาจมีผลกระทบมาจากปัญหาสุขภาพทางกาย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ผู้ป่วยไม่หายใจเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่รู้ตัว หรืออาการกรดไหลย้อน
-
อาการหลับไม่ยาว (Terminal Insomnia) ภาวะที่ผู้ป่วยตื่นเร็วกว่าเวลาปกติ เช่นตื่นระหว่างเช้ามืด และไม่สามารถนอนหลับต่อได้ พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะอาการซึมเศร้า หรือไบโพล่าร์
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
-
สภาพแวดล้อมในการนอนไม่เหมาะสม เช่น อาชีพตำรวจ พยาบาล แพทย์ ที่ต้องทำงานเป็นกะ ทำให้วงจรการนอนหลับเกิดความผิดปกติ ความเครียดสะสมจากการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน อุปนิสัยการนอน เช่น การเล่นมือถือก่อนนอนเป็นเวลานาน การออกกำลังกายก่อนนอน หรือที่นอน หมอน ผ้าห่มไม่สะอาด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองระหว่างนอน อุณหภูมิห้องนอนที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการนอนไม่สบาย
-
ภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ร่างกายอ่อนหล้า กรดไหล่ย้อน อาการเจ็บป่วย มีไข้ มีอาการไอ หรือโรคประจำตัว เช่น ภาวะทางด้านหัวใจ ต่อมไทรอยด์ ระบบทางเดินหายใจ ฮอร์โมนผิดปกติ
-
ภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพล่าร์ ภาวะวิตกกังวล
-
การใช้ยาหรือสารบางอย่างในการรักษาโรคที่เป็นอยู่ประจำ ส่วนผสมยาบางชนิดอาจกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของสารบางอย่างภายในร่างกายที่ควรถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ในการนอนหลับ
-
บริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน, นิโคติน, แอลกอฮอล์
อาการนอนไม่หลับแบบไหนที่ควรเข้าพบแพทย์
ความรุนแรงของโรคนอนไม่หลับ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
-
อาการนอนไม่หลับระยะชั่วคราว (Transient Insomnia) ส่วนใหญ่จะพบในกรณีที่เปลี่ยนสถานที่นอนหลับ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนหรือไม่เหมาะสม ส่งผลให้นอนหลับไม่สบายและอาจวิตกกังวล หรืออาการเจ็ทแลค เนื่องจากการเดินทางข้ามประเทศหรือข้ามช่วงแบ่งเวลาโลก (Time Zone)
-
อาการนอนไม่หลับระยะสั้น (Short-term Insomnia) ระยะเวลาจะประมาณ 2 - 3 วันถึง 3 สัปดาห์ เกิดจากความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความเครียด
-
อาการนอนไม่หลับระยะเรื้อรัง (Long-term or Chronic Insomnia) เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานโดยประมาณ 3 เดือนติดต่อกันหรืออาจเป็นปี เกิดจากการใช้ยารักษาหรือสภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ไม่สมบูรณ์
หากผู้ป่วยมีสภาวะนอนไม่หลับติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือนติดต่อกันและเกิดขึ้น 3 คืนต่อสัปดาห์ หรือหากอาการของโรคนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพ มีอารมณ์อ่อนไหว หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ ไม่รู้สึกสดชื่นหลังตื่นนอน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและบำบัด
ผลกระทบของอาการนอนไม่หลับต่อร่างกาย
ภาวะนอนไม่หลับ ไม่ได้เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเวลาเข้านอนที่ไม่เป็นเวลา แต่ยังส่งผลกระทบถึงร่างกายที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำเนื่องจากการนอนไม่เพียงพอ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อจิตใจเพราะความกังวลในการนอนอีกด้วย
ผลกระทบที่ตามมาได้แก่
-
อาการอ่อนเพลีย
-
ไม่มีสมาธิ
-
ประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนลดลง
-
อารมณ์อ่อนไหว หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย
-
ง่วงนอนตลอดเวลาในช่วงระหว่างวัน
-
ขาดพลังงานในการทำกิจวัตรประจำวัน
-
ปฏิกิริยาการตอบสนองเชื่องช้า เพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ
-
มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการนอน
-
ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ
-
เกิดโรคแทรกซ้อนหรืออาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
-
น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลงในปริมาณมากจนผิดสังเกต
วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับ
รักษาโรคนอนไม่หลับโดยไม่ใช้ยา
-
การจัดการกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ความสะอาดของที่นอน การถ่ายเทของอากาศ เสียงรบกวน ปริมาณแสง อุณหภูมิที่เหมาะสม
-
การคลายเครียดก่อนนอน อาจทำกิจกรรมเล็กๆ ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเกิดความตื่นตัวมากเกินไป
-
ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบจำพวกคาเฟอีน, นิโคติน, แอลกอฮอล์
-
หากไม่สามารถนอนหลับได้ในเวลา 20 นาที ควรลุกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนจะกลับไปนอนใหม่อีกครั้ง ควรใช้เตียงเมื่อถึงเวลานอนเท่านั้น
-
ทำกิจกรรมเบาๆ ก่อนนอน เช่น การนั่งสมาธิ
-
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-
สร้างวงจรการนอนหลับให้เป็นเวลา
-
หลีกเลี่ยงการงีบหลับในตอนกลางวัน-ตอนเย็น
-
หลีกเลี่ยงการกดดันให้ตัวเองนอนหลับเพราะจะทำให้เกิดภาวะความเครียดสะสมหรือความวิตกกังวล
-
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ช่วยในการที่ทำให้สามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น
-
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน อาจส่งผลให้มีอาการท้องอืด อึดอัดท้อง และนอนหลับไม่สบาย
-
หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ
-
นอนในท่านอนที่เหมาะสม
รักษาโรคนอนไม่หลับโดยใช้ยา
การใช้ยาเพื่อรักษาภาวะนอนไม่หลับนั้น จำเป็นต้องได้รับยาที่สั่งโดยแพทย์ เช่น ยาจำพวกที่ใช้เพิ่มระดับฮอร์โมนเมลานิน หรือยารักษาอาการทางจิตที่จะช่วยผ่อนคลายและลดอาการวิตกกังวล ปรับอารมณ์ ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นและหลับสนิท
การใช้ยาที่ช่วยในการนอนรับระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้มึนศรีษะระหว่างวัน หรือผู้ป่วยมีอาการติดยาทำให้ต้องใช้ยาสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการนอนหลับ
วิธีการดูแลตนเองให้ห่างจากโรคนอนไม่หลับ
-
การสร้างอุปนิสัยการนอนที่ดีให้กับตนเอง กำหนดระยะเวลาเข้านอน-ตื่นนอนเพื่อให้ร่างกายสร้างวงจรการนอนหลับ
-
ขยับ เคลื่อนไหว ออกกำลังกายในช่วงกลางวัน-เย็น เพื่อให้ร่างกายรู้สึกต้องการการพักผ่อน
-
ไม่ใช้ยาหรือเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ
-
สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการนอนหลับ รู้สึกสงบและผ่อนคลาย
-
การสร้างวินัยให้ตนเอง กำหนดกิจวัตรประจำวันก่อนนอนที่ช่วยบรรเทาความเครียดสะสม
สรุปอาการนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือภาวะที่บุคคลมีการนอนผิดปกติ การนอนไม่เป็นเวลา การใช้เวลานานมากกว่า 20 นาทีเพื่อนอนหลับ การนอนหลับเร็วแต่ตื่นเร็ว หรือสะดุ้งตื่นกลางดึกและไม่สามารถนอนต่อได้ แม้จะดูเหมือนภาวะทั่วไปที่สามารถพบเจอได้ แต่หากเป็นประจำมากขึ้นหรือ 3 ครั้ง/สัปดาห์ติดต่อเป็นเวลาหลายเดือน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เป็นจุดเริ่มต้นโรคภัยต่างๆ ได้
ผู้ป่วยไม่ควรมองข้ามภาวะนอนไม่หลับที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน สร้างความอ่อนล้า อ่อนเพลียให้แก่ร่างกาย ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน อีกทั้งยังส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ ดังนั้นการเข้ารับการรักษาให้ถูกต้อง ถูกวิธีจึงเป็นวิธีการแก้ไขเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : ภาวะนอนไม่หลับ คืออะไร? ทำความเข้าใจอาการและวิธีรักษา