คีโม (ยาเคมีบำบัด) หนึ่งในทางเลือกของการรักษาโรคมะเร็ง
หลาย ๆ คน เมื่อนึกถึงโรคมะเร็ง ก็จะนึกถึงคำว่า “คีโม” เป็นคำต่อมา แล้วก็เพียงว่า คีโม คือ การรักษารูปแบบหนึ่งของโรคมะเร็ง แต่คีโมมีลักษณะเป็นอย่างไร ต้องใช้อุปกรณ์ใดบ้าง มีกระบวนการในการรักษาอย่างไร น้อยคนนักที่จะทราบและเข้าใจ โดยบทความนี้ จะพาทุกคนไปรู้จักว่า คีโม คืออะไร มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร จะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานหรือไม่ เพื่อให้เรารู้และเข้าใจการทำคีโมกันมากขึ้น
คีโม คืออะไร ช่วยได้อย่างไร
ยาเคมีบำบัด หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า คีโมเทอราปี (Chemotherapy) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “คีโม” โดยคีโม คือ สารเคมีหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในระยะต่าง ๆ โดยตรง และอาจจะส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติของร่างกายได้ด้วย
การให้คี โมหรือยาเคมีบำบัดนี้ สามารถแบ่งออกเป็นได้หลายชนิด ได้แก่
- ยาชนิดรับประทาน (Oral Chemotherapy) เป็นลักษณะของยาเม็ด แคปซูล และยาน้ำ
- การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous : IV)
- การฉีดยาเข้าหลอดเลือดแดง (Intra-arterial : IA) เป็นการให้ยาโดยผ่านหลอดเลือดแดง
- การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) บริเวณสะโพก หรือต้นแขน
- การฉีดยาเข้าทางช่องท้อง (Intraperitoneal : IP)
- การฉีดยาเข้าทางไขสันหลัง (Intrathecal) โดยการฉีดยาเข้าสู่บริเวณช่องว่างระหว่างชั้นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมสมอง และเส้นประสาทไขสันหลัง
- ยาทาที่ผิวหนัง (Topical) เป็นลักษณะรูปแบบครีม
ซึ่งยาเคมีบำบัด หรือ คีโมนี้ นำมาใช้ในการรักษามะเร็ง เพื่อขัดขวางขบวนการเจริญเติบโตของวงจรชีวิตเซลล์ ทำให้เซลล์มะเร็งตาย โดยผู้ป่วยบางคนก็สามารถรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว แต่บางรายก็อาจจะต้องรับการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย
สาเหตุที่ต้องทำคีโม
การให้คี โม คือ หนึ่งในแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง เพราะโรคมะเร็งนั้น มีความหลากหลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดโลหิต มะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งลูกอัณฑะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด เป็นต้น ดังนั้น มะเร็งในแต่ละส่วนจึงต้องมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน โดยมะเร็งบางประเภทสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโมเพียงอย่างเดียว เช่น มะเร็งลูกอัณฑะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดโลหิต เป็นต้น
แต่สำหรับโรคมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ปอด และมะเร็งอื่น ๆ ที่มีการผ่าตัด ก็อาจจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยคีโมเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสให้หายขาด อีกทั้งยังเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเล็ดลอดจากการผ่าตัดอีกด้วย หรือแม้แต่ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ ก็อาจจะมีการให้คี โมก่อนการผ่าตัด เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งลงก่อน จนสามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
แต่ทั้งนี้ โรคมะเร็งบางประเภทก็จะใช้การฉายรังสีเป็นหลัก เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งโพรงหลังจมูก เป็นต้น แต่อาจจะให้คีโมเสริมเข้าไปด้วย เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปมากแล้ว จะมีการให้คี โมเพื่อควบคุมไม่ให้โรคลุกลาม ให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น อาการจากโรคลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขั้นตอนการรักษาด้วยการทำคีโม
สำหรับวิธีการให้คีโมหรือขั้นตอนการให้คีโมของแต่ละคน จะเริ่มจาก
- แพทย์จะทำการสอบถามประวัติผู้ป่วย โดยมีการตรวจปัสสาวะ การทำงานของตับ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง โดยยาเคมีบางชนิดจำเป็นต้องตรวจการทำงานของหัวใจก่อนให้ยาด้วยเช่นกัน รวมถึงการตรวจภาพรังสี เพื่อดูระยะของโรคมะเร็งก่อนให้ยา เพื่อใช้ประเมินผลการรักษาก่อน-หลังให้ยาคีโม
- แพทย์จะแจ้งผลการตรวจและร่วมวางแผนการรักษากับผู้ป่วย รวมถึงแจ้งผลดี ผลเสีย และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยมีการตัดสินใจในการเลือกใช้คีโมร่วมกัน แต่ในส่วนของปริมาณการใช้ยา วิธีการให้ยา ความถี่ในการให้ยา และระยะเวลาในการให้คี โมจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
การปฏิบัติตัวเมื่อทำคีโม
แนวทางในการปฏิบัติตัว เมื่อทำคีโมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราควรจะต้องดูแลตัวเองให้ดี โดยปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- เฝ้าสังเกตอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น แล้วแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนวันนัดทำคีโม
- คอยสังเกตผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา ว่า มีความรู้สึกปวด บวม แดง หรือสงสัยมียารั่วซึมออกนอกหลอดเลือด จะต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยขับสารเคมีที่อาจตกค้างในร่างกายออกทางปัสสาวะ
- ควรพักผ่อนร่างกายให้มีเวลาพักฟื้น ก่อนที่จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
กินอย่างไรเมื่ออยู่ระหว่างการทำคีโม
ในระหว่างที่ทำคีโม เราควรจะต้องระมัดระวังในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและอาจจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารที่มีแอลกอฮอล์ผสมในช่วงที่ให้คีโม เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปาก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ตามความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายรับสารอาหารได้มากกว่าปกติ เพื่อนำไปซ่อมแซมเซลล์ปกติ และทำให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมรับการรักษาต่อไป
- ภายหลังการให้คี โมอาจจะทำร่างกายเกิดภาวะภูมิต้านทานต่ำและเสี่ยงต่อการติดเชื้อชั่วคราว ควรเน้นรับประทานอาหารสุก สะอาด
- เน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ตับ ผักใบเขียว อาหารที่มีโปรตีน และวิตามินสูง
- หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อช่วยลดภาวะการติดเชื้อ
ระยะเวลาในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
ระยะเวลาในการรักษาด้วยคีโมขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ได้แก่
- ชนิดของโรคมะเร็ง
- ระยะของโรคมะเร็ง
- ปริมาณยาคีโม
- ความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย
- การตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
การรักษาคีโมจะมีลักษณะเป็นรอบ หรือเป็นชุดตามช่วงระยะ เช่น การให้คี โม ประมาณ 1 - 5 วัน คือ 1 ชุด แต่ละชุดห่างกัน 3 - 4 สัปดาห์ โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับคีโมเฉลี่ยที่ 6 - 8 ชุด ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของแพทย์และปัจจัยต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไป โดยผู้ป่วยควรมารับยาตามนัดทุกครั้ง เพื่อผลการรักษาที่ดี
ยาเคมีบำบัด (คีโม) มีผลข้างเคียงไหม
ยาเคมีบำบัดหรือคีโมนั้น มีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ตามชนิดของสูตรยาเคมีบำบัด ขนาดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ วิธีการให้ยาเคมีบำบัด การใช้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน ยาเคมีบำบัดที่ได้รับ สภาพร่างกายของผู้ป่วย และความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งในปัจจุบัน มีการผลิตคีโมที่ทำให้มีผลข้างเคียงบางอย่างลดน้อยลง โดยปกติแล้ว คีโมจะมีผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้
- อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย จึงควรดื่มน้ำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างกำลัง และซ่อมแซมเซลล์ปกติของร่างกาย และที่สำคัญคือ พักผ่อนให้เพียงพอ
- อาการคลื่นไส้ และอาเจียน เป็นอาการที่พบได้มากที่สุด แต่ในปัจจุบันมียาป้องกันคลื่นไส้อาเจียนที่มีประสิทธิภาพสูงหลายชนิด โดยให้รับประทานก่อนการให้คี โม ประมาณ 30 นาที
- มีไข้หลังจากที่ได้รับยาเคมีบำบัด อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ เพราะร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ
- ภาวะผมร่วง จะเกิดขึ้นหลังจากรับยา ประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ แต่เมื่อรับยาครบแล้ว ก็จะกลับมามีเส้นผมอีกครั้ง หรืออาจจะซื้อวิกผมมาใส่ช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- ปวดศีรษะรุนแรง สูญเสียการทรงตัว
- มีผื่น หรืออาการแพ้ หรือตุ่มขึ้นตามร่างกาย
- เบื่ออาหาร ควรจะรับประทานอาหารทีละน้อย ๆ แต่แบ่งออกเป็นหลาย ๆ มื้อ เพื่อให้ร่างกายสามารถรับสารอาหารได้อย่างครบถ้วน หรือออกกำลังกายเบา ๆ ก่อนมื้ออาหาร 5 - 10 นาที
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะซีด เกิดเลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกทางไรฟัน
- เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
- ปากอักเสบ หรือมีแผลที่เยื่อบุภายในช่องปากจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง จึงควรรักษาความสะอาดในช่องปาก ด้วยการใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ๆ บ้วนปากด้วยน้ำหรือน้ำเกลือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารร้อนจัด รสจัด และงดบุหรี่/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ท้องเสีย หรือถ่ายเหลว จึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไปจากอาการถ่ายเหลว ร่วมกับรับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น กล้วย ฝรั่ง มะม่วงสุก เป็นต้น พร้อมทั้งงดอาหารประเภทหมักดอง หรือรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ไม่มีกาก
- ท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น ออกกำลังกายให้เพียงพอและสม่ำเสมอ หรืออาจจะใช้ยาถ่าย หรือ ยาระบาย ตามคำสั่งแพทย์
- ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
- อารมณ์แปรปรวน ด้วยความกังวลต่อโรคที่เป็นอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น ครอบครัวจึงต้องมีส่วนร่วมในการให้กำลังใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจและคลายความวิตกกังวล
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงดังกล่าว เกิดจากการทำคีโมเพียงชั่วคราว หรือในบางรายก็อาจจะไม่เกิดผลข้างเคียงเลยก็เป็นได้ แล้วเมื่อหมดฤทธิ์ยา อาการต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยผลข้างเคียงดังกล่าว เป็นผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ และมีโอกาสเกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่ก็มีผลข้างเคียงอีกบางประการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็พบได้น้อยมาก คือ
- ความเสียหายของไต
- ปัญหาหัวใจ
- เสียหายของเส้นประสาท
- ปัญหาการได้ยิน
- ปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ เช่น อาจทำให้เป็นหมันได้ในเพศชาย
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : คีโม (ยาเคมีบำบัด) หนึ่งในทางเลือกของการรักษาโรคมะเร็ง