hmong2x

ผู้เขียน : hmong2x

อัพเดท: 18 ก.ย. 2009 16.19 น. บทความนี้มีผู้ชม: 74656 ครั้ง

ทุกเรื่องราวที่ข้าพเจ้า ทั้งบังเอิญพาลพบ ประสบเหตุ หรือสะดุดได้เห็น หรือฝันประหลาด เก็บตกได้ คนให้มา ปลาโลมามาบอก อันเป็นประโยชน์ ผมสัญญาด้วยเกียรติของลูกเสือว่า จะรีบนำมาให้ท่าน ๆได้อ่านแน่นอนครับ


ถ้าเน็ตไม่เร็วจริง ยื่นฟ้องตาม กม.คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กล่าวว่า หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า ได้สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) แบบเหมาจ่ายรายเดือน จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แต่กลับไม่สามารถใช้งานได้เร็วตามที่บริษัทฯ โฆษณาไว้ อีกทั้งยังพบปัญหาสายหลุดบ่อย และยังเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนแบบเหมาจ่ายอยู่ทุกเดือน กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า"ผู้ให้บริการต้องให้บริการโทรคมนาคมเป็นไปตามมาตรฐาน และ คุณภาพที่โฆษณาไว้"

ผู้อำนวยการ สบท.กล่าวต่อว่า หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี ไม่สามารถให้บริการได้ตามที่โฆษณาไว้ ผู้ให้บริการต้องรับภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงของผู้บริโภค และดำเนินการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งกรณีเกิดเหตุขัดข้องจนส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้บริการได้ตามปกติ ผู้ให้บริการต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการในช่วงเวลาที่เกิดเหตุขัดข้องกับผู้บริโภค

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีผู้ร้องที่สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กับบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) แล้วประสบปัญหาดังกล่าว ทางบริษัทฯ ก็ได้ดำเนินการแก้ไข โดยเปลี่ยนคู่สายเคเบิลต้นทาง เคเบิลปลายทาง พร้อมทั้งได้ตรวจสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต จนสามารถใช้บริการได้ความเร็วตามปกติ พร้อมทั้งได้ลดค่าบริการให้เป็นเวลา 2 เดือนในระยะเวลาที่เกิดเหตุขัดข้อง ขณะนี้ มีบริษัทไอเอสพีในประเทศไทยอยู่อีกหลายราย เช่น ทีทีแอนที ทรูอินเทอร์เน็ต ซีเอสล็อกซอินโฟ เคเอสซี สามารถ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ คือ เมื่อซื้อสินค้าผู้บริโภคจะต้องเก็บหลักฐานคือ ใบเสร็จ และแผ่นพับโฆษณาไว้ทุกครั้ง หากเกิดปัญหาก็สามารถดำเนินการร้องเรียน เพื่อให้เกิดการเยียวยาแก้ไขได้

ผู้อำนวยการ สบท.กล่าวถึงกรณีที่บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายราย ได้ออกไปตั้งโต๊ะเคลื่อนที่ตามจุดต่างๆในกรุงเทพมหานคร เช่น บริเวณสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าว่า สบท.รู้สึกห่วงใยในเรื่องดังกล่าวเนื่องจาก การแจกซิมการ์ดฟรี ขณะนี้ เป็นการแจกในลักษณะของการจ่ายแบบรายเดือน ที่ผู้บริโภคจะต้องเซ็นสัญญา และ แนบเอกสารบัตรประชาชน ที่จากการสำรวจของ สบท.พบว่า ประชาชนสนใจเข้ารับแจกซิมการ์ดฟรีกันจำนวนมาก และ ยินยอมเซ็นสัญญาอย่างรวดเร็วโดยมิได้พิจารณาในรายละเอียด

นายประวิทย์ กล่าวถึงการเซ็นสัญญาแบบดังกล่าวว่า สัญญานั้นถือเป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย ที่ผู้ประชาชนต้องพิจารณาทั้งเรื่องของเงื่อนไขในสัญญา เงื่อนไขการให้บริการ และ ควรขอเก็บเอกสารสัญญาส่วนหนึ่งไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้การโฆษณาในลักษณะดังกล่าว ยังเป็นการสร้างพฤติกรรมการเซ็นสัญญาอย่างไม่รู้เงื่อนไข ให้กับประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมา สบท.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ถึงกรณีการแจกซิมการ์ดฟรีว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการทั้งที่ไม่ได้เปิดใช้บริการ หรือ ได้ซิมการ์ดฟรี แต่ไม่ได้ใช้กลับต้องจ่ายรายเดือน หรือ กรณีทำซิมการ์ดฟรีหายจากนั้น 1 เดือนมีใบแจ้งหนี้มาเรียกเก็บเงินเป็นต้น

ผู้อำนวยการ สบท.กล่าวด้วยว่า การเซ็นสัญญาเป็นเรื่องสำคัญทางกฎหมาย ผู้บริโภคควรอ่านและทำความเข้าใจในเอกสารสัญญาก่อนเซ็น ควรสงสัยในคำอ้างของการโฆษณาให้มาก ควรใช้เวลาในการพิจารณาก่อนตัดสินใจ ควรปรึกษาผู้อื่น หรือสอบถามเพื่อหาข้อมูลอ้างอิง อย่าเซ็นอะไรจนกว่าจะเข้าใจ และ มั่นใจในสิ่งที่เซ็น อย่าตัดสินใจโดยปราศจากการเปรียบเทียบราคา

ข่าวจาก : ไทยรัฐ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที