‘ไข้เลือดออก’ เป็นโรคระบาดที่อยู่คู่ประเทศไทยและหลายประเทศในเขตร้อนชื้นมาช้านาน เพราะยังไม่มียาต้านไวรัสโดยเฉพาะ ทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ทำให้ทุกปี ยังมีคนที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออกและภาวะแทรกซ้อนจำนวนมาก วันนี้เราจะมาย้อนดูสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย รวมทั้งแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกสำหรับคุณและคนที่คุณรักอย่างถูกต้องกัน
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก
ก่อนจะไปดูสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย เราต้องมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันก่อน โดยไข้เลือดออกหรือ Dengue Hemorrhagic Fever เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าไวรัสเดงกี (Dengue) มียุงลายเป็นพาหะหลักในการนำโรคมาสู่คน จึงพบมากในประเทศเขตร้อนและระบาดมากในฤดูฝนของทุกปี แม้จะมีอาการไม่รุนแรงมาก คล้ายกับการเป็นไข้ทั่วไป แต่หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีความเสี่ยงที่อาการของโรคจะรุนแรงถึงชีวิตได้เช่นกัน
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น วินิจฉัยโดยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก อาการเบื้องต้นคือมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียสนาน 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก พบจ้ำเลือดหรือจุดแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง มีเลือดออกบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน หรือมีเลือดปนในอุจจาระและปัสสาวะ หากอาการรุนแรงจะพบภาวะช็อกจากการไหลเวียนเลือดล้มเหลวร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ย้อนดูสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยนั้น พบผู้ป่วยครั้งแรกในปีพ.ศ.2492 และมีการระบาดครั้งแรกในปีพ.ศ.2501 ส่วนการระบาดครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2530 ซึ่งพบผู้ป่วยกว่า 170,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 ราย โดยปัจจุบันมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน และมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม และมีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยลงเนื่องจากเทคโนโลยีการรักษาที่ถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างถูกต้อง
แม้ว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในไทยจะไม่มีการระบาดรุนแรงอย่างในอดีต แต่การป้องกันไว้ก่อนย่อมปลอดภัยกว่า ซึ่งเราสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างถูกวิธีด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีการเหล่านี้
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในครัวเรือน เช่น บริเวณที่มีน้ำขัง ที่ทิ้งขยะมูลฝอย เพื่อลดการแพร่พันธุ์ยุงลาย
ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด
หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
อย่าชะล่าใจ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างถูกวิธีก่อนสายไป ช่วยคุณและคนที่คุณรักปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกได้แน่นอน
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที