power  toon

ผู้เขียน : power toon

อัพเดท: 18 ธ.ค. 2007 16.43 น. บทความนี้มีผู้ชม: 20226 ครั้ง

" หากว่ายังมีความรัก เราก็ยังมีความหวัง "
เป็นคำพูดของ "หญิง" ตัวละครในหนังเรื่องนี้ ซึ่งคิดว่าคุณอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว
จากเพลง หรือ mv ประกอบภาพยนต์เรื่องนี้
แว้บแรกที่เห็น อาจคิดว่าใครหลายๆคน อาจคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังรักวัยรุ่นธรรมดา อย่าง Season Change ลองอ่านบทความนี้แล้วคุณ
จะรู้ว่ามันแตกต่าง


รักแห่งสยาม

" หากว่ายังมีความรัก เราก็ยังมีความหวัง "
เป็นคำพูดของ "หญิง" ตัวละครในหนังเรื่องนี้ ซึ่งคิดว่าคุณอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว
จากเพลง หรือ mv ประกอบภาพยนต์เรื่องนี้
แว้บแรกที่เห็น อาจคิดว่าใครหลายๆคน อาจคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังรักวัยรุ่นธรรมดา อย่าง Season Change เพื่อนสนิท หรือ แฟนฉัน แต่ในกรณี "รักแห่งสยาม" ถือว่าเป็นหนังเกี่ยวกับความรัก ในรูปแบบต่างๆ รักแบบครอบครัว รักแบบชายหญิง รักเขาข้างเดียว และรักร่วมเพศ ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า หนังเรื่องนี้ โปรโมทได้ "กวน" มากๆเพราะถ้า
16698_1.jpg
โปรโมทว่าเป็นหนังรักร่วมเพศ คิดว่าคนจะไม่ไปดูกัน (แต่คิดว่าโปรโมทแบบนี้เจ๋ง แรกๆรู้สึกเหมือนโดนตบหน้า แต่พอได้ชมหนังจนจบเรื่อง ยอมรับว่า หนังดีมากๆ)
เรื่องราวในหนังก็เป็นหนังเกี่ยวกับ ครอบครัวของ "โต้ง" แสดงโดย มาริโอ เมาเร่อ และ "มิว" แสดงโดย พิช ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก จนวันนึงโต้งได้ย้ายบ้านออกมา หลังจากที่เกิดปัญหามากมายในครอบครัว เช่น พี่สาวของโต้งหายสาบสูญไปจนเวลาผ่านไปกว่า 5 ปี เด็กทั้งสองก็โตเป็นหนุ่มเต็มวัย โดย มิว เป็นนักร้อง ให้กับวงที่มีชื่อว่า " August " ซึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองพบกันคือตอนที่โต้ง ไปหาซื้อ CD ของวง August ที่ สยาม เซ็นเตอร์ (center point) ในแว้บแรกที่ทั้งสองได้พบกันหลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานาน ทั้งคู่กับจำหน้ากันได้ และทักกันตามภาษาเพื่อนเก่า และความสัมพันธ์ก็เริ่มผูกพัน กันมากขึ้น โดยรวมว่ากันว่าหนังเน้นการสื่ออารมณ์ เป็นอันดับแรก ซึ่งใครได้ไปดูต้องให้อารมณ์เพื่อคล้อยตามไปตามตัวละคร ได้เห็นความรักของครอบครัว ของเพื่อน และ มิตรภาพในด้านต่างๆมากมาย  ส่วนเรื่องตัวละครที่แสดง ไม่ว่าจะเป็น สินจัย หงษ์ไทย ซึ่งแสดงเป็น สุนีย์ / พลอย เฌอมาลย์ - แตง และ จูน / และ พิช พิชพิสิทธ์ ที่แสดงเป็น "มิว" โดย 3 คนนี้แสดงได้ดีมากๆ โดยเฉพาะตัว พระเอก (หรือนางเอกดีเรียกไม่ถูก) แสดงได้จนแทบคิดว่าเขาเป็นจริงๆป่ะเนี่ย
16698_2.jpg16698_3.jpg
16698_4.jpg

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ดูแล้วคุณจะเข้าใจความรัก

 

บทความข้างล่างนี้ ทำให้คุณได้เห็นสิ่งที่ คุณยังไม่เห็นมาก่อน
ขอ ให้ อ่าน เพราะ ทุกอย่างที่ เรา ลง จะเป็น ความสำคัญ ที่ ได้ ตี ความ ออก มา แล้วดูหนังไม่ใช่ดูแค่ผ่านๆ แต่มันก็มีอะไรลึกๆ ให้เราได้วิเคราะห์เหมือนกัน
credit :
บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ โดยคุณโตมร ศุขปรีชา
คุณเคยสงสัยไหมว่า เพราะอะไร ตัวละครใน ‘รักแห่งสยาม’ ถึงต้องเป็นคาทอลิกและเป็นเกย์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หลายปีก่อน เมื่อไปไอร์แลนด์ ผมเคยถามคุณป้าคนหนึ่งหลังแก้วเหล้าว่า ไอร์แลนด์ซึ่งเป็นดินแดนแห่งคาทอลิกนั้นมีเกย์ไหม และมีการรวมตัวกันของกลุ่มเกย์คาทอลิกเหมือนที่ออสเตรเลียบ้างไหม คุณป้าแทบจะทำหน้าผีหลอกใส่ผม แล้วบอกผมว่า คำสองคำนี้เอารวมกันไม่ได้ เพราะมันไม่ ‘เมคเซนส์’ เอาเสียเลย เกย์กับคาทอลิก มันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ถ้าคุณเลือกที่จะเป็นเกย์ คุณก็ต้องไม่เป็นคาทอลิก แต่ถ้าคุณจะเป็นคาทอลิก คุณก็ต้องไม่เป็นเกย์ผมพลันนึกขึ้นได้ ณ บัดดลว่า ถ้าคุณเป็นคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ที่เดียวที่ผู้ชายจะหลั่งน้ำอสุจิใส่ได้ก็คือในช่องคลอดของภรรยาที่ ‘รับศีลสมรส’ หรือผ่านการแต่งงานกันมาอย่างถูกต้องตามพิธีต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าแล้วเท่านั้น แม้แต่การทำอัตกามกิริยาหรือใส่ถุงยางยังถือว่าผิดเลย สำมะหาอะไรกับการหลั่งน้ำอสุจิใส่ปากหรือทวารหนักของผู้ชายด้วยกัน ซึ่งแม้โดยมาตรฐานของสังคมรักต่างเพศทั่วไปก็ยังเห็นว่าเป็น Bad Sex
ด้วยเหตุนี้ สำหรับผม การที่ตัวละครใน ‘รักแห่งสยาม’ เป็นคาทอลิก และเป็นเกย์คาทอลิกด้วย จึงเป็นประเด็นที่ท้าทาย ตื่นเต้น และน่าพูดถึงมากที่สุด

เพราะนี่คือหนังไทยเรื่องแรกที่วิพากษ์ความเป็นคาทอลิกที่มีการควบคุมทางเพศอย่างเคร่งครัด เป็นประเด็นที่ไม่มีใครพูดถึง แต่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของหนัง

16698_5.jpg
16698_6.jpg
16698_7.jpg
16698_8.jpg
16698_9.jpg
1.คริสต์มาสและซานตาคลอส

ทำไมเรื่องคาทอลิกถึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดหรือครับ คำตอบง่ายๆ อยู่ที่ผู้กำกับ ‘จงใจ’ จะทำประเด็นนี้ให้ ‘ดูเหมือน’ เป็นเรื่องที่ ‘พลาด’ ที่สุด และตอนแรกผมก็เกือบจะงับกับดักนี้เข้าให้แล้ว เพราะถ้าดูเผินๆ เราสามารถ ‘ตัด’ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคาทอลิกออกไปได้ทั้งหมด เด็กสองคนไม่จำเป็นต้องมาเจอกันในโรงเรียนก็ได้เพราะบ้านอยู่ใกล้กันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเกิดเรื่องใหญ่ตอนคริสต์มาส ไม่จำเป็นต้องมีฉากเล่นละครตอนพระกุมารประสูติ ไม่จำเป็นที่จะต้องสวดก่อนอาหาร และยิ่งไม่จำเป็นเลยที่ต้องให้มิวไปร้องเพลงในคอนเสิร์ตวันคริสต์มาส การใส่ฉากเหล่านี้เข้ามาแทบจะทำให้หนังมีกลิ่นอายเมโลดราม่าของซีรีส์ฝรั่งดาษดื่นที่ทำกันทุกปลายปีไม่มีผิดเพี้ยนแต่แล้ว ด้วยความละเอียดในแง่มุมอื่นๆ ของผู้กำกับ (เช่น เรื่องการใช้สี การใช้สัญลักษณ์ผ่านตุ๊กตา ความพิถีพิถันในการแสดง ฯลฯ) ก็ได้ทำให้ผมรู้สึกว่า ยิ่งผู้กำกับใส่เรื่องที่ดู ‘ไม่จำเป็น’ เข้าไปมากเท่าไร กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ มากเท่านั้นการใส่ประเด็นคาทอลิกลงไปในหนังโดยดูเหมือนไม่จำเป็นตอกย้ำให้คนดูรู้ว่า นี่คือหนังที่ผู้กำกับจงใจจะวิพากษ์ความเป็นคริสต์ และเน้นย้ำลึกลงไปถึงคริสต์แบบคาทอลิกโดยเฉพาะ! ตอนเด็กๆ ผมเชื่อว่ามิวกับโต้งเรียนอยู่ในโรงเรียนคาทอลิก อาม่าของมิวนั้นอาจไม่ใช่คาทอลิก แต่เป็นคนจีนที่มีฐานะร่ำรวยและได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นลวดลายวอลล์เปเปอร์ในบ้านหรือการเล่นเปียโน เผลอๆ อากงหรือสามีของอาม่าอาจจะเป็นคาทอลิกก็ได้ แต่หนังไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจน เพียงแต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ทว่าทั้งหมดคือการปูพื้นฐานให้เห็นเหตุผลที่มิวเข้าไปเรียนในโรงเรียนคาทอลิก โดยอาจจะเป็นหรือไม่เป็นคาทอลิกก็ได้

16698_10.jpg
16698_11.jpg
ส่วนโต้งนั้น การอยู่ในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัดทำให้ที่บ้านต้องส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกอยู่แล้วคล้ายเป็นไฟลต์บังคับ ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าครอบครัวของโต้งเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด คำตอบอยู่ที่การสวดก่อนอาหาร ซึ่งปัจจุบันคาทอลิกส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติ ยกเว้นในครอบครัวที่เคร่งจริงๆ เท่านั้นความงามของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ตรงนี้
อยู่ตรงที่ผู้กำกับสร้างปม ‘ความขัดแย้ง’ ที่รุนแรงมากขึ้นมา แต่กลบเกลื่อนให้เหลืออยู่เพียงจางๆ อย่างแนบเนียน แฝงอยู่เฉพาะในบรรยากาศโดยไม่มีใครเอ่ยปากขึ้นมาตรงๆ ซึ่งนั่นทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสกับหัวใจของคนดูได้โดยไม่รู้ตัวโรงเรียนที่เด็กทั้งสองเข้าเรียน มีชื่อว่าเซนต์นิโคลัส ซึ่งชื่อก็บอกเต็มตัวอยู่แล้วว่าเป็นโรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนเซนต์นิโคลัสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ผมเข้าใจว่าไม่น่าจะมีโรงเรียนชื่อนี้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือถ้ามีก็ไม่น่าจะอยู่แถวๆ สยามสแควร์แน่ๆ โรงเรียนนี้จึงเป็นสถานที่สมมติที่ซ้อนอยู่กับสถานที่จริงอย่างสยามสแควร์ และเป็นความจงใจที่ใส่เข้ามาเพื่อให้ผู้ชมสะดุดอย่างชัดเจน
ทำไมต้องเป็นเซนต์นิโคลัส ?
เซนต์นิโคลัสนั้น ที่จริงแล้วเป็นชื่อจริงของ ‘ซานตาคลอส’ ยังไงล่ะครับ
สำหรับคนไทย ซานตาคลอสคือสัญลักษณ์ของคริสต์มาส ขณะที่คริสต์มาสเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์! ครอบครัวของโต้งส่งโต้งเข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์นิโคลัส ก็แปลว่าเขาต้องการให้ลูกได้รับการอบรมกล่อมเกลาในแบบคาทอลิกแท้ๆ ที่ต้องมีการเรียนคำสอนทุกวันมาตั้งแต่เด็ก นั่นขยายความให้ลึกขึ้นได้ว่า โต้งเองก็ต้องมี ‘ราก’ แบบคาทอลิก ที่จะมากจะน้อยก็เชื่อในพระเจ้าและมี ‘ความกลัว’ บางแบบฝังอยู่ในหัวใจเหมือนที่ชาวยิวกลัวพระเจ้าจะลงโทษถ้าทำผิด และนั่นส่งผลสะเทือนมาถึงตอนจบของเรื่อง-ตอนจบที่คนดูบอกว่าเศร้าเหลือเกินนั่นแหละครับ
16698_12.jpg
16698_13.jpg
อย่างไรก็ดี การหายตัวไปของแตง-พี่สาวของโต้ง ทำให้ครอบครัวของโต้งเจ็บปวดจนต้องย้ายที่อยู่ เขาจึงถูกพรากไป ไม่ใช่พรากไปจากมิว แต่พรากไปจากโรงเรียนเซนต์นิโคลัส ซึ่งก็คือการพรากไปจากความเชื่อมั่นศรัทธาในแบบคริสตชน เรื่องนี้จะเห็นได้จากการที่ครอบครัวของโต้งไม่สวดก่อนอาหารอีกต่อไป การหายตัวไปของแตงทำให้ทั้งพ่อและแม่ (โดยเฉพาะพ่อ) ไม่เหลือศรัทธาในพระเจ้าและศาสนจักรอีกเมื่อเราได้พบกับโต้งอีกครั้งในตอนโต เขาจึงเรียนอยู่ในโรงเรียนอะไรสักอย่างที่ผมเชื่อว่าไม่ใช่โรงเรียนคาทอลิก โดยดูจากชุดนักเรียนกางเกงสีดำ (ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล) สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาในศาสนาที่ครอบครัวนี้สูญเสียไปซ้ำอีกครั้ง โต้งจึงสามารถเรียนโรงเรียนอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนคาทอลิกแต่มิว (ซึ่งไม่น่าจะใช่คาทอลิก) ยังเรียนอยู่ที่เซนต์นิโคลัส ปลูกฝังและเติบโตขึ้นมากับดนตรีที่เขารักและได้รับการถ่ายทอดมาจากอาม่า โดยสัญลักษณ์แล้ว เขาจึงยังอยู่กับความเป็นคาทอลิก ไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือไม่ก็ตาม
..................................
2.
ความรักและคาทอลิก
เมื่อความรักถือกำเนิดขึ้น เด็กชายทั้งคู่เลือกเดินตามมันไปสำหรับชาวคริสต์ แก่นสำคัญของศาสนาก็คือความรัก ดังนั้น เมื่อเด็กผู้ชายทั้งสองรักกัน จึงไม่น่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรค
แต่ที่จริง ความเป็นคาทอลิกเองกลับกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญในความรักของคนทั้งสอง แน่นอนว่าย่อม มีความจริงอยู่ในความรักตั้งมากมาย แต่กรอบใหญ่ของชีวิตบางกรอบก็พยายามขีดเส้นกั้นให้ความจริงบางอย่างเหนือกว่าบางอย่าง ความรักจึงมักถูกตีวงให้ต้องจำกัดตัวเองตามไปด้วย สำหรับโต้ง ครั้งหนึ่งคริสต์มาสเคยหมายถึงการสิ้นสุด เขาเล่นละครเป็นลูกแกะอยู่บนเวที แต่แล้วเขาก็ต้องถูกบังคับให้พรากจากนายชุมพาบาลของตัวเองไป เขาต้องจากโรงเรียน จากเซนต์นิโคลัส จากเพื่อน และจากแม้กระทั่งความรักความอบอุ่นของครอบครัวตัวเองไปในวันคริสต์มาสนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่โต้งจะไม่ตื่นเต้นยินดีอะไรนักกับการจัดต้นคริสต์มาสของแม่ แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยังพกเอาความเป็นคาทอลิกเอาไว้ในตัวเต็มเปี่ยมเหมือนต้นไม้ที่ฝังรากลึกอยู่ในดินและแล้ว คริสต์มาสอีกครั้งหนึ่งก็ได้ทำให้เขาต้องตัดสินใจ คริสต์มาสที่พกเอาความเป็นคาทอลิกไว้ในตัวเต็มเปี่ยมไม่เพียงเคยทำให้ใครบางคนหล่นหายไปจากชีวิตของเขา แต่ความเป็นคาทอลิกยังรั้งเขาไว้ไม่ให้ย้อนกลับไปสานสัมพันธ์กับคนคนนั้นต่ออีกด้วยหลายคนคาใจว่า เหตุใดเมื่อแม่ของโต้งอนุญาตกลายๆ แล้วว่าให้เขาเลือกสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด เขาจึงยังไม่เลือกที่จะคบกับมิวในฐานะแฟนอีก ผมคิดว่าประโยคสั้นๆ ที่โต้งบอกมิวในตอนท้ายว่า-เขาไม่อาจคบมิวในฐานะแฟนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักมิว-นั้น เป็นประโยคที่สรุปความเป็นเกย์คาทอลิกเอาไว้ได้ชัดเจนหมดจดที่สุดความเป็นคาทอลิกได้เอื้อมมือที่มองไม่เห็นเข้ามาเหนี่ยวรั้งความรักแบบเกย์ของโต้งเอาไว้ เขาจึงไม่อาจเดินต่อไปบนหนทางของความรักแบบนี้ได้ การเป็น ‘แฟน’ ของผู้ชายกับผู้ชายถือเป็นเรื่องผิดสำหรับคาทอลิก แต่โต้งก็ฉลาดพอที่จะบอกมิวว่า ถึงจะมีเงื่อนไขนี้ค้ำคออยู่ แต่เขาก็ยังสามารถ ‘รัก’ มิวได้มันเป็นการลดเลี้ยวเพื่อหลีกหนีออกจากกรอบกั้นที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเด็กผู้ชายคาทอลิกที่รักกับเด็กผู้ชายอีกคนหนึ่ง สิ่งที่หนังได้ทำลงไป จึงเป็นการวิพากษ์ความขัดแย้งในการตีความเรื่องความรักของศาสนจักรคาทอลิกอย่างแนบเนียนและแยบยลมิวไม่ใช่คาทอลิก แต่มิวคือตัวแทนของ ‘ซานตาคลอส’ ผ่านการเป็นนักเรียนโรงเรียนเซนต์นิโคลัส (เฮ้ย! ได้ข่าวว่า[ท่านที่เคารพ]ไปคบกับเด็กโรงเรียนเซนต์นิโคลัสเหรอวะ-เพื่อนของโต้งเคยถามอย่างนั้น) ด้วยเหตุนี้ มิวจึงเป็น
16698_14.jpg

ซานตาคลอสของโต้งมาโดยตลอด แม้มิวจะรับตุ๊กตาไม้ตัวนั้นมาจากโต้ง แต่มิวกลับคือผู้ให้ เป็นส่วนเติมเต็มของโต้ง เป็นความชื่นชมยินดีที่เหลืออยู่เพียงสิ่งเดียวในชีวิตของโต้งถ้าคุณมองดูบ้านของโต้ง คุณจะพบบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้น มันคือบ้านที่แลดูรกร้างว่างเปล่าไม่ผิดอะไรกับจิตวิญญาณที่ว่างเปล่าของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง บ้านของโต้งดูมีฐานะร่ำรวย แต่ไม่เหลือความอบอุ่นอะไรอีกแล้ว ขณะที่มิวอยู่คนเดียว แต่บ้านของมิวกลับแลดูอบอุ่นอย่างประหลาด ผ้าปูที่นอนสีเขียวดูมีชีวิต เช่นเดียวกับคีย์บอร์ดและเสียงเพลง รวมถึงรูปถ่ายที่เป็นร่องรอยความอบอุ่นในอดีต เขายังได้สวัสดีอาม่าก่อนไปเรียน แม้อาม่าจะเหลือเพียงภาพถ่ายก็ตาม แต่โต้งไม่มีสิ่งเหล่านี้ มันหายไปพร้อมกับแตง
คำถามก็คือ ระหว่างมิวกับโต้ง ใครเป็น ‘คาทอลิก’ มากกว่ากัน? ถ้าดูจาก ‘ฟอร์ม’ หรือรูปแบบภายนอก แน่นอน-โต้งย่อมเป็นคาทอลิกมากกว่า แม้เขาจะเรียนโรงเรียนรัฐบาล แต่ที่บ้านก็เป็นคาทอลิกแน่ๆแต่ถ้าดูจาก ‘สาระ’ ของชีวิตเล่า แม้มิวจะบอกว่าเหงา แต่ผมไม่รู้สึกเลยว่าเขาเหงา เขามีเพื่อน มีจิตวิญญาณของผู้ชราที่ล่วงลับล่องลอยเป็น ‘เพื่อน’ (เหมือนที่อาม่าเรียกเขา) อยู่เสมอ ชีวิตของมิวจึงอบอวลด้วยความรักและความรักก็คือสาระที่แท้ของการเป็นคาทอลิกจึงเหมาะสมแล้ว ที่มิวจะใส่เสื้อนักเรียนที่ปักอักษรย่อว่า ซ.น.ค.
เพราะเขาคือซานตาคลอสของโต้ง
............................
3.
กรอบที่กักขัง
ในฉากโต้งกลับบ้านมานอน และสินจัยเปิดประตูห้องนอนของโต้งเข้ามาหลังตามหาลูกชายมาทั้งคืน เราจะเห็นโปสเตอร์บนหัวนอนของโต้งเป็นรูปไม้กางเขน มีถ้อยคำเขียนว่า I Believe ซึ่งแปลว่า ฉันเชื่อ หรือฉันศรัทธา สีพื้นของโปสเตอร์นั้นมีสีเขียว ซึ่งในหนังให้เป็นสีของมิว โดยนัยนี้ มิวและความเป็นคาทอลิก จึงหลอมรวมเข้าหากันและกัน และวางตัวอยู่ใกล้ชิดกับโต้งมากกว่าที่ใครๆ คิดผู้กำกับใส่สัญลักษณ์ต่างๆ เข้ามาอย่างอ่อนโยน เมื่อมองในด้านกลับ ผมเลยอดคิดไม่ได้ว่าการโปรโมทหนังแบบจงใจลวงโดยไม่ใส่เรื่องเกย์เข้ามาเลยนั้น น่าจะเป็นเสมือนการร้องขอความเข้าใจที่นุ่มนวลจากสังคมโฮโมโฟเบียมากกว่าการจงใจหลอก เช่นกันกับการทำให้มิวมีความเป็นคาทอลิกอยู่ในตัวมากกว่าโต้ง ก็คือการสลับสาระกับรูปแบบ และการ ‘สลับ’ นี้ ก็ปรากฏอยู่ในเรื่องให้เห็นเป็นระยะ เช่น หน้าตาของมิวและโต้งในวัยเด็กกับวัยรุ่น คนที่อยู่กับโต้งตอนที่โต้งจะซื้อจมูกตุ๊กตาให้มิว (คือโดนัทกับหญิง) การสลับ ‘คุณค่า’ กับ ‘ราคา’ ที่แพงขึ้นผ่านกาลเวลาของตุ๊กตาตัวนั้น การสลับบทบาทในครอบครัวของสินจัยและทรงสิทธิ์ การที่มิวลุกขึ้นร้องเพลงบนเวทีทั้งที่บอกว่าร้องไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การสอดใส่ ‘จมูก’ ของตุ๊กตาของเล่นที่ไม่พอดีในตอนจบ และแม้แต่การทำให้ต้นคริสต์มาสในบ้านของโต้งมองดูสูงชะลูดคล้ายเป็น phallic symbol ทั้งยังดูหดหู่ผิดจากต้
คริสต์มาสทั่วไป
การสลับสิ่งเหล่านี้ แง่หนึ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง บางครั้งเกือบจะฉูดฉาด ทว่าผู้กำกับควบคุมไว้ได้ให้มันนวลเนียน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมรู้สึกคล้ายกับว่าหนังต้องการให้เรามองโลกใบเดิม (เช่น ‘สยาม’ ซึ่งสุดแสนจะ Cliché ไม่ว่าจะหมายถึงสยามสแควร์หรือสยามประเทศ) เสียใหม่ ด้วยการหยิบคุณค่าความหมายใหม่ๆ ใส่เข้ามา หรือถ้าหาคุณค่าความหมายใหม่ไม่ได้ในโลกใบที่ทุกอย่างซับซ้อนสับสนและไม่มีใครค้นพบอะไรใหม่ ก็อาจทำเพียงมองมันสลับที่กันบ้างเท่านั้นเอง เพียงเท่านั้น-บางครั้งก็อาจทำให้ชีวิตน่าอยู่มากขึ้น ไม่เปล่าดายจนเกินไป และอาจมีความเหงาในหัวใจน้อยลงบางทีเราก็ไม่อาจต่อกรกับกรอบใหญ่ๆ ในชีวิตได้ทั้งหมด มือที่มองไม่เห็นมักยื่นเข้ามาควบคุมเราอยู่เสมอ การสลับที่ของบทบาทและความหมายเหล่านี้ จึงเป็นการปฏิวัติเงียบต่อโครงสร้างใหญ่ที่กดทับเราอยู่ สำหรับผม หนังเรื่องนี้คือการตะโกนใส่หน้าศาสนจักรคาทอลิกว่าฉันจะรัก เพราะความรักคือเนื้อแท้ของมนุษย์ และเป็นเนื้อแท้ของความเป็นคาทอลิกด้วยใครที่บอกว่า วัยรุ่นสมัยใหม่สนใจแต่ตัวเอง ลองคิดดูอีกทีหนึ่งนะครับ เพราะแม้ในหนังเรื่องนี้ที่มีท่าที ‘พูดถึงตัวเอง’ เต็มที่ ก็ยังแอบแฝงการวิพากษ์โครงสร้างใหญ่ชนิดที่คนรุ่นก่อนไม่เคยกล้าทำเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่งหนังเรื่องนี้คือการประกาศว่ามีเกย์คาทอลิกอยู่ในโลกนี้จริงๆ และพวกเขาคือเกย์คาทอลิก
ไม่ว่าจะพลิกดูจากความหมายไหน !
.................................
หมายเหตุ: (นอกจากจะเป็นบรรณาธิการหนุ่มไฟแรงแห่งนิตยสาร GM แล้ว โตมร ศุขปรีชา ยังเป็นนักเขียน-นักแปลและคนทำงานด้านความคิดที่มีมุมมองทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกด้วย บทวิจารณ์หนังเรื่อง 'รักแห่งสยาม' ในครั้งนี้ คงเป็นหลักฐานมัดตัวผู้เขียนจากถ้อยคำนี้ได้เป็นอย่างดี - นันทขว้าง สิรสุนทร)

โตมร ศุขปรีชา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.online-station.net/forum/viewtopic.php?id=39731






















บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที