ศาสตราจารย์นักประดิษฐ์แห่งแดนปลาดิบ
ในฐานะที่ไม่ได้ถือพาสปอร์ตญี่ปุ่น ก็ไม่แปลกถ้าคุณอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อ ดอกเตอร์โยชิโร่ นากามัตสึ ศาสตราจารย์นักประดิษฐ์แห่งแดนปลาดิบ แต่นั่นก็ไม่เป็นไรหรอก คุณยังมีเวลาอีกทั้งชีวิตที่จะติดตามความอัจฉริยะ (และความมันส์) อันไม่จบสิ้นของชายคนนี้
ดร.นากามัตสึเคยถูกยกให้เป็นหนึ่งในห้านักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เทียบชั้นกับแมรี่ คูรี่ และอาคีเมเดสนั่นเลย คำถามคือเขาสร้างอะไรที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์โลกขั้นนั้นเรอะ
อืมม์ จะว่ายังงั้นก็คงได้ วันนี้เราจะแนะนำให้คุณรู้จักกับผู้ให้กำเนิดฟลอปปี้ดิสก์แผ่นแรกของโลก
พูดถึงปูมหลังของเขาสักเล็กน้อย
ดร. โยชิโร่ นากามัตสึ อายุ 77 ปี ถึงวันนี้มีสิ่งประดิษฐ์จากห้องทดลองของเขาได้รับการจดสิทธิบัตรทางปัญญาแล้วกว่า 3,200 ชิ้น เป็นสถิติสูงสุดของโลก ณ ปัจจุบัน ทิ้งห่างโทมัส เอดิสัน (ผู้รั้งอันดับ 2) ราวๆ สามเท่าตัว
ถ้าจะถามว่าอะไรหรือคือสิ่งสำคัญที่นักประดิษฐ์เจ๋งๆต้องมีในตัว บางคนว่า ต้องรอบรู้บางคนว่า ต้องมีวิธีคิดที่แตกต่าง บางคนก็ว่า คุณต้องอยากรวยเป็นพื้นฐาน (ว่าไปนั่น) แต่ถ้าถาม ดร.นากามัตสึ แล้ว ชายคนนี้บอกเราว่า ความรัก ต่างหาก ที่เป็นบ่อเกิดของ สิ่งประดิษฐ์ทั้วมวล
นี่คือหนึ่งในเรื่องรักของเขา
กาลครั้งหนึ่งในฤดูหนาวของญี่ปุ่น ครั้งเมื่อเด็กชายนากามัตสึมีอายุได้14 ปี เขาได้ประดิษฐ์ที่สูบน้ำมือถือขึ้นเป็นครั้งแรก สิ่งเดียวที่นำเขามาสู่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้คือ ความรักแม่
นากามัตสึนั่งมองแม่ของตนค่อยๆรินซีอิ๊วขาวจากขวดใหญ่ลงในขวดเล็กๆ แขนของแม่สั่นจากอากาศหนาว ทำให้ต้องบรรจงรินอย่างช้าที่สุดเพื่อไม่ให้มันหกเลอะ
ณ วินาทีนั้น เด็กชายรู้สึกว่าเขาอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้แม่มีชีวิตที่ง่ายขึ้น
นั่นแหละครับคือจุดเริ่มต้น ความรักคือจิตวิญญาณของสิ่งประดิษฐ์ ดร.นากามัตสึกล่าวชัดเจน
เมื่อความรักที่เป็นพื้นฐานผนวกเข้ากับวิธีการทดลองที่แหวกกฎ ดร.นากามัตสึสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์มากมายให้กับชาวโลก ไม่เพียงแต่ฟลอปปี้ดิสก์ ดร.สติเฟื่องคนนี้คือผู้คิดค้นเครื่องส่งแฟ็กซ์, นาฬิกาดิจิตอล, ตั๋วรถไฟกระดาษชนิดที่มีแถบแม่เหล็ก และอีกมากมาย รวมทั้งเขียนหนังสืออีกกว่า 80 เล่ม และเมื่อปี ค.ศ. 2005 เขาเพิ่งได้รับรางวัล IG Nobel Prize ในสาขาการวิจัยด้านโภชนาการ (เขาใช้เวลา 35 ปีในการบันทึกภาพมื้ออาหารที่เขารับประทานในแต่ละวัน เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าอะไรที่ส่งผลดีและผลเสียต่อภาวะการทำงานของร่างกายและสมองของมนุษย์)
ฟังดูคล้ายนักวิทยาศาสตร์สมองบวมในการ์ตูนญี่ปุ่น ชายคนนี้ใช้เวลานอนแต่ละวันเพียง 4 ชั่วโมง (ระหว่างตีสี่ถึงแปดโมงเช้า) และกินข้าววันละมื้อเท่านั้น (แต่ละมื้อถูกคำนวณไว้ที่ 700 แคลอรี่เท่ากันทุกวันเพื่อการวิจัยข้างต้น) นอกจากนี้ในทุกๆวัน เขาจะใช้เวลาประมาณ 4 5 นาทีนั่งบนเก้าอี้ซีรีเบร็กซ์ สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นของตน เพื่อเรียกความสดใสกระปรี้กระเปร่าในระหว่างวัน โดยทางทฤษฎีแล้ว เก้าอี้ตัวนี้จะปล่อยคลื่นความถี่พิเศษบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิตและการทำงานของสมอง พูดง่ายๆก็คือ ถ้าเรานั่งเก้าอี้นี้สักหนึ่งชั่วโมง สมองของเราจะรู้สึกเหมือนว่าได้นอนพักมา 8 ชั่วโมง ยังไงยังงั้น
เอาล่ะ ถึงตอนนี้เราพอทราบแล้วว่า ความรัก คือชนวนแห่งการสร้างสรรค์ของศาสตราจารย์แดนปลาดิบคนนี้ แต่สิ่งที่เราอยากรู้มากกว่านั้นก็คือ นอกเหนือจากความรักแล้ว นักประดิษฐ์เก่งๆเขาต้องมีอะไรอีกบ้างในตัว การสร้างงานดีๆขึ้นมางานหนึ่ง มันคงต้องมีอะไรมากกว่าความรักหรือแรงบันดาลใจน่า (หรือคุณว่าไง)
มองให้ไกลและกล้าที่จะก้าวก่อนคนอื่น
สิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งที่เพิ่งจะได้รับการจดสิทธิบัตรของ ดร.นากามัตสึ คือ สเปรย์กระตุ้นความต้องการทางเพศที่มีชื่อน่ารักว่า NakaMats Love Jet เจ้าเจลใสบรรจุขวดเล็กๆนี้จะทำให้คุณเพิ่มความหฤหรรษ์ทางกามรสถึง 3 เท่า พอออกวางจำหน่าย มันได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากผู้ใช้ก็จริง แต่ก็ได้รับเสียงวิจารณ์หนักเอาการจากสาธารณชน (ผู้ที่ไม่ได้ใช้) ก็แหม
เรื่องเซ็กซ์ในสังคมเอเชียเรานี่ มันเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบที่สุดอยู่แล้ว หลายคนตั้งคำถามกับเขาในทำนองว่า อายุก็ใกล้จะ 80เต็มที ยังใช่เวลาที่ควรจะหมกมุ่นเรื่องพรรค์นี้อยู่หรือ
ทางดร.นากามัตสึดูจะปลงๆกับผู้คนที่ใจ(และวิสัยทัศน์)แคบเหล่านี้ เขาว่าคนส่วนมากมองไม่เห็นความตั้งใจที่แท้จริงของเขาหรอก เพราะมันไกลเกินไป อันที่จริงแล้วเขาประดิษฐ์สเปรย์นี้ขึ้นเพราะเป็นห่วงอนาคตของชาติต่างหาก
ผมต้องการเร่งอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรของญี่ปุ่น เพราะทุกวันนี้คนญี่ปุ่นมีลูกน้อยลงมาก อัตราการมีบุตรอยู่ที่ 1.53 คนต่อคู่สมรสเท่านั้น ในเชิงประชากรศาสตร์มันเข้าข่ายอันตรายแล้ว เขายังระบุว่า หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ในอีก 800 ปีข้างหน้า จะไม่เหลือชาวญี่ปุ่นบนโลกอีกต่อไป
ความที่เป็นคนค่อนข้างบ้าบิ่น ทำอะไรไม่อายใครอยู่แล้ว นักประดิษฐ์ผู้นี้ยินดีโปรโมทสิ่งประดิษฐ์ของเขาทุกวิถีทาง บ่อยครั้งที่เขาปรากฏตัวในโทรทัศน์เพื่อสาธิตการใช้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เช่น รองเท้าเด้งดึ๋ง, ไม้กอล์ฟไม่รู้พลาด หรือ สเปรย์ฉีดผิวเป็นเด็กตลอดกาล ดร.นากามัตสึมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้มีโอกาสถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ในอนาคต เขาอยากจะเห็นทฤษฎีรองเท้าเด้งดึ๋งถูกพัฒนาในแวดวงกีฬาระดับสากล อยากเห็นนักวิ่งโอลิมปิกวิ่งได้เร็วขึ้นแต่มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุน้อยลง เหมือนทฤษฎีที่สูบน้ำมือถือในอดีต ที่ปัจจุบันถูกพัฒนาไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม และกลายเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย
ความคิดก้าวล้ำเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก ผมเหมือนคนนั่งเครื่องย้อนเวลาที่มองอะไรไกลกว่าชาวบ้านเขาอยู่ 10 20 ปี ดร.นากามัตสึพูดเสมอว่า เขาคิดและทำในสิ่งที่เป็นเรื่องของอนาคต การจะให้คนทั่วไปเข้าใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอดทน อาจต้องรอกันอีกหลายปี แต่ด้วยความกล้าที่จะเดินอยู่นอกกรอบค่านิยมทางสังคมบวกกับการค้นคว้าทดลองอย่างจริงจัง ดร.นากามัตสึได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า อิสระทางความคิดและแรงบันดาลใจที่แน่วแน่ชัดเจนนั้นเป็นพื้นฐานของการเป็นนักประดิษฐ์ที่จะประสบความสำเร็จได้
จากไอเดียสู่สิ่งประดิษฐ์
มีเพียงนักประดิษฐ์ที่แท้จริงเท่านั้นถึงจะสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกได้ ให้สังเกตว่า ณ จุดหนึ่งในระหว่างการคิดค้นทดลอง นักประดิษฐ์ที่แท้จริงจะเผชิญกับภาวะหนึ่งที่เรียกว่า Pika พูดง่ายๆ ก็เหมือนการยิงปืน เปรี้ยงเดียวนี่แหละที่ทำให้นักประดิษฐ์ก้าวข้ามอุปสรรคจำนวนมากได้ บุคคลนั้นจะพบกับจุดเปลี่ยนทางความคิดที่ชัดเจนและแรงพอ เขาจะมองเห็นแก่นแท้และสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นสำเร็จ
สิ่งนี้เป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิด ไม่ใช่สิ่งที่สอนกันได้ดร.นากามัตสึว่าไว้อย่างนั้น
คงจะจริงที่เขามีพรสวรรค์ของการเป็นนักประดิษฐ์สูงส่งกว่ามนุษย์ทั่วไป แต่เมื่อถึงเวลาต้องนำมันมาใช้งานจริงๆนี่สิ เขาเริ่มต้นอย่างไรหรือ เมื่อไอเดียมันมาแล้วมันไปต่อยังไง แรงบันดาลใจนี่ถูกนำมาใช้ยังไงบ้าง
สำหรับผมแล้ว ภาวะขาดอากาศเป็นสิ่งสำคัญครับ
ในสระว่ายน้ำ ผมจะจมตัวอยู่ใต้ผิวน้ำจนถึงจุดที่กำลังจะสูญเสียออกซิเจนสุดท้าย ในเวลาแค่0.5 วินาทีก่อนจะเริ่มสูดน้ำเข้าปอดนี่แหละ สิ่งที่ผมเรียกว่า Pika มันจะเกิดขึ้น ฟังดูค่อนข้างอันตรายและอาจใช้ไม่ได้สำหรับทุกคน
ทว่าสำหรับ ดร.นากามัตสึ ไอเดียเก๋อย่างเดียวไม่ได้พาใครไปไกลนัก
ไอเดียใหม่ยังไม่ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่นะ มันคนละเรื่องเลย บางคนคิดได้ไม่รู้จบแต่ไม่ศึกษามันต่อ ในขณะที่บางคนทำก็ทำการวิจัยไปโดยไม่มีไอเดีย แต่ถ้าคุณต้องการจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ชั้นเลิศล่ะก็ คุณต้องทำทั้ง 2 อย่างให้ได้ดี
อันที่จริงแล้วผู้ชายคนนี้อยากจะเรียกตนเองว่า นักวิทยาศาสตร์ มากกว่า นักประดิษฐ์ ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ไอเดีย สิ่งเร้า หรือ แรงบันดาลใจ เท่านั้นน่ะสิ พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่อง ทฤษฎี อย่างที่สุดด้วย ถ้าไม่ใช่เพราะ ทฤษฎี พวกนี้ สิ่งประดิษฐ์ของดร.นากามัตสึก็คงไม่ต่างจากของเล่นบนท้องถนนทั่วไป
พูดถึงเรื่องไอเดียหรือแรงบันดาลใจนี่ ดร.นากามัตสึให้ข้อคิดที่น่าสนใจอยู่อย่าง ที่ว่าไอเดียมันมีหลายระดับ แบบที่มาปรู๊ดปร๊าดนี่ถือเป็นระดับล่าง ไม่ใช่อะไรที่ยั่งยืน สำหรับนักประดิษฐ์ที่ดี นอกจากไอเดียที่เป็นแก่นสารแล้ว คุณต้องมีความสามารถที่จะทำมันขึ้นมาได้ด้วย นักประดิษฐ์ต้องพัฒนาไอเดียบนองค์ความรู้ที่เหมาะสม และทำให้สิ่งประดิษฐ์นั้นสร้างประโยชน์ได้จริงสำหรับคนทั่วไป
ดร.นากามัตสึเผยถึงหลักการ 3 ข้อที่เขาสร้างและปฏิบัติตามโดยตลอด เขาเรียกมันว่า Ikispiration ประกอบไปด้วย
1) ทฤษฎี รวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง 2) ไอเดีย / แรงบันดาลใจสำคัญ 3) การผลิต ศึกษาตลาดและความเป็นไปได้ ต้องให้แน่ใจว่ามันมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปไม่สูญเปล่า
ถ้าคุณสอบผ่านทั้ง 3 ข้อนี้ได้แล้ว นั่นคือคุณมีโอกาสที่จะสร้างงานอันสมบูรณ์แบบได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เขาใช้เวลาว่างสบายๆอยู่กับ The Fifth Symphony ของบีโธเฟน มันเป็นเพลงสุดโปรดที่เขาฟังอยู่บ่อยๆ แต่แล้วในวันนั้น เสียงเพลงอันไพเราะกลับฟังแปร่งๆไป อาจเป็นเพราะรอยขีดข่วนบนแผ่นหรือไม่ก็เข็มหัวอ่านของเครื่องเล่นที่สึกหรอจากการใช้งาน
ตอนนั้นผมอารมณ์เสียมาก เขาเล่า ผมอยากจะฟังเพลงแบบใสกริ๊ง ไม่ใช่เวอร์ชั่นที่มีเสียงรบกวนตลอดเวลา วินาทีนั้นทำให้ผมคิดถึงการฟังเพลงแบบไม่ต้องอาศัยเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียง อีกอย่างผมก็อยากจะพัฒนาตัวแผ่นเสียงเองด้วย อยากจะทำให้ขนาดมันเล็กลง บางลง ดูแลง่าย และทนทานกว่าเดิม นั่นจะทำให้ชีวิตสุนทรีย์เป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะครับ
ในตอนนั้น การจะบันทึก The Fifth Symphony ของบีโธเฟนลงบนแผ่นเสียงแผ่นหนึ่ง เราต้องการแผ่นที่หนาถึง 2 นิ้ว ซึ่งมีโอกาสแตกหักง่ายมาก
เราจะสังเกตุได้ว่า นักประดิษฐ์ผู้นี้ไม่ได้คิดถึงแต่การพัฒนาวิทยาการของการบันทึกเสียงที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เขานึกไปถึงความสะดวกและความง่ายต่อการใช้งานจริงด้วย เขาศึกษาทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้องและลงมือพัฒนาอุปกรณ์การบันทึกเสียงในระบบใหม่ ผลลัพธ์คือ เขาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เอาชนะข้อจำกัดทุกอย่างของแผ่นเสียงได้สำเร็จ ซึ่งมันก็คือเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของแผ่นฟลอปปี้ดิสก์นั่นเอง
อิสระภาพ ความมีวินัย และการฝึกตน
ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) คือส่วนผสมที่พอดีของคำสองคำ คือ อิสระ และ กฏเกณฑ์ สมองของมนุษย์เราจะถูกพัฒนาให้เปิดรับความท้าทายได้อย่างสร้างสรรค์ก็ต่อเมื่อเรารู้จักใช้ทั้งทักษะการจดจำและการคิดแบบไร้ขีดจำกัดควบคู่กันไป ด้วยสองอย่างนี้ คนเราจะจัดการกับปัญหาที่พบได้ในหลายลักษณะ
ดร.นากามัตสึให้ข้อสังเกตว่า ความอัจฉริยะของมนุษย์คนหนึ่งนั้นเกิดจากการที่เขาค้นพบพรสวรรค์ส่วนตัวที่จะคิดได้อย่างอิสระ และพรสวรรค์ข้อนี้ต้องถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ หาไม่แล้ว มนุษย์คนนั้นจะไม่มีทางสร้างสรรค์อะไรที่ล้ำเลิศได้เลย นอกจากนั้น โดยมากแล้วนักประดิษฐ์เก่งๆจะเป็นคนที่เปิดกว้าง สนใจในศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆอีกมาก ไม่ค่อยมีนักหรอกที่จะรู้ลึกรู้ดีอยู่แค่เรื่องตรงหน้าอย่างเดียว
แม้ว่า ดร.นากามัตสึจะเชื่อนักหนาในเรื่องพรสวรรค์ของนักประดิษฐ์ แต่เขาก็ยังมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองให้มีความคิดเชิงสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นได้ และใครก็ตามที่พยายามทำเช่นนั้น คุณภาพชีวิตของเขาก็จะพัฒนาขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว ครั้งหนึ่งนักประดิษฐ์ผู้นี้เคยกล่าวไว้ว่า ประเทศใดก็ตามที่สนับสนุนและส่งเสริมประชาชนของตนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งด้านการงานและความเป็นอยู่ส่วนบุคคล ประเทศนั้นจะต้องแข็งแรงและร่ำรวยอย่างแน่นอนในอนาคต เริ่มจากไอเดีย พัฒนาต่อไปเป็นผลิตภัณฑ์ วันหนึ่งข้างหน้ามันอาจกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศเลยก็ได้
ทุกวันนี้ ดร.นากามัตสึยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่เดินเข้าออกห้องทดลอง ชายชราคนนี้ไม่เคยนอนรอให้แรงบันดาลใจหล่นลงมาจากฟ้า เขาทำงานด้วยวินัยสม่ำเสมอและเป็นระบบระเบียบ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ทุกวันนี้ เขาสร้างงานจากห้องทดลองได้มากขึ้น ผ่านอุปสรรคต่างๆได้เร็วกว่าสมัยยังหนุ่มด้วยซ้ำ
ดร.นากามัตสึหวังไว้ว่าเขาจะจดสิทธิบัตรให้ได้ถึง 7,000 ฉบับก่อนที่ความตายจะมาเยือนในอีก 67 ปีข้างหน้า (นับอายุรวมได้ 144 ปี)
ท่าทางดูไม่ได้ล้อเล่นกับการกล่าวอ้างตัวเลขดังกล่าวเสียด้วย
ขอขอบคุณข้อมูล tcdcconnect.com
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที