metahealth

ผู้เขียน : metahealth

อัพเดท: 24 ธ.ค. 2023 23.04 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6590 ครั้ง

บทความแนะนำ แหล่งความรู้เกี่ยวความงามสำหรับผู้หญิง


รอยแผลเป็นมีกี่แบบ แต่ละแบบใช้วิธีการรักษาอย่างไรได้บ้าง?

เมื่อพูดถึงรอยแผลเป็น แน่นอนว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีรอยแผลเป็น อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุหรือความประมาท ที่เกิดขึ้นได้กับบริเวณผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แตกต่างกันที่รอยแผลเป็นจะเกิดขึ้นบริเวณใด หากเกิดขึ้นในร่มผ้าก็อาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่หากแผลเป็นเกิดขึ้นบริเวณนอกร่มผ้า ก็จะทำให้หลายคนวิตกกังวลเรื่องภาพลักษณ์ได้ วันนี้เราจึงมีข้อมูลรอยแผลเป็นและวิธีการรักษา เพื่อทำให้ทุกคนได้คลายความวิตกกังวลและกลับมามั่นใจมากขึ้น 
 

รอยแผลเป็นเกิดขึ้นได้อย่างไร?

รอยแผลเป็น (Scar) เป็นคำที่ใช้เรียกความผิดปกติของผิวหนังที่สมานตัวกัน จากกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของเซลล์ หลังการเกิดบาดแผล ทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวไม่เหมือนเดิม โดยสามารถอธิบายกระบวนการเกิดรอยแผลเป็นได้ดังนี้
 
 

รอยแผลเป็นมีกี่ประเภท?

รอยแผลเป็นที่พบในร่างกายของคนเรานั้น มีทั้งหมด  6 ประเภท และมีที่มาแต่ละแบบดังต่อไปนี้
 

รอยแผลเป็นทั่วไป (Common Scar)

รอยแผลเป็นประเภทนี้เกิดจากแผลถลอกหรือรอยขีดข่วนเล็กน้อย บริเวณหนังกำพร้าที่ไม่ลึกมาก ระยะแรกของบาดแผลจะมีเลือดซึมเพียงเล็กน้อย จากนั้นเลือดจะค่อยๆ แข็งตัวและดำคล้ำ เมื่อเวลาผ่านไปแผลจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หลุดล่อนออกไปเอง จากนั้นผิวหนังจะกลับมาเรียบเนียนและสีผิวเป็นปกติ หรืออาจกลายเป็นรอยแผลเป็นที่ไม่เด่นชัดมากนัก
 

รอยแผลเป็นลึก (Deep Scar)

รอยแผลเป็นประเภทนี้เกิดจากสิว ฝี หรืออีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย แล้วแต่กรณี จนเกิดการอักเสบของผิวหนัง ทำให้คอลลาเจนในชั้นผิวถูกทำลายไปด้วย นอกจากนี้ยังมีสิวหรือฝี ที่ก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและหายช้า ทำให้คอลลาเจนถูกทำลายเป็นวงกว้างและลึก ทำให้เกิดรอยแผลเป็นลึก อาทิเช่น สิวหรือฝีหัวช้าง สิวหัวหนอง ฝีฝักบัว เป็นต้น
 

รอยแผลเป็นนูน (Hypertrophic Scars)

รอยแผลเป็นประเภทนี้เกิดจากระบบซ่อมแซมของร่างกาย ถูกกระตุ้นให้แซ่มแซมบาดแผล ทำให้เซลล์ไฟโบรบลาสต์สร้างเส้นใยและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (คอลลาเจน) สะสมหนาแน่นอย่างรวดเร็ว ทำให้การเรียงตัวของคอลลาเจนไม่เป็นระเบียบ จนแผลเป็นนูนขึ้นมาเกินจากระดับผิวปกติ แต่ยังอยู่ในขอบเขตของบาดแผล
 

รอยแผลเป็นหดรั้ง (Contracture Scars)

รอยแผลเป็นประเภทนี้เกิดจากบาดแผลบริเวณขอพับเช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า ข้อมือ ข้อพับแขน ข้อพับหัวเข่า หรืออาจเกิดจากบาดแผลที่โดนไฟไหม้ เมื่อบาดแผลเหล่านี้หายไปจะเกิดรอยแผลเป็นที่มีลักษณะบีบรัดหรือรั้งคล้ายพังผืด กรณีที่มีการเคลื่อนไหมที่ต้องยืดผิวหนังบริเวณรอยแผลเป็น อาจทำให้เกิดเจ็บปวดหรือเกิดรอยแผลเป็นฉีกขาดขึ้นได้
 

แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid Scars)

รอยแผลเป็นประเภทนี้มีลักษณะการเกิดเช่นเดียวกับรอยแผลเป็นนูน แต่ต่างกันที่ลักษณะของรอยแผลเป็น โดยแผลเป็นคีลอยด์จะมีลักษณะนูน หนาและแข็ง จนล้นออกมานอกขอบเขตของบาดแผล บางครั้งอาจเกิดอาการคันหรือเจ็บปวดเมื่อไปสัมผัส สามารถเกิดขึ้นได้กับรอยแผลเป็นทุกประเภท และอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ จากประวัติผู้ที่มีแผลเป็นคีลอยด์ มักมี พ่อ แม่ หรือบรรพบุรุษที่มีรอยแผลเป็นคีลอยด์มาก่อน อันเกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
 

รอยแตกลาย (Stretch Marks/Striate)

รอยแตกลาย ถือเป็นรอยแผลเป็นชนิดหนึ่ง เกิดจากการตั้งครรภ์ การเจริญวัยอย่างรวดเร็วในเด็ก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว การได้รับสารสเตียรอยด์ (Steroid) เกินความจำเป็น หรือโรคอ้วน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้ผิวหนังถูกทำให้ยืดตัวหรือหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดรอยแยกของผิวหนัง ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณ ขา ก้น สะโพก หน้าท้อง ลำตัว หรือแขน เป็นต้น
 

การรักษารอยแผลเป็นมีกี่วิธี?

การรักษารอยแผล ปัจจุบันมีหลากหลายวิธี แต่ก่อนที่จะทราบว่าการรักษารอยแผลเป็นแต่ละวิธี เหมาะกับการรักษารอยแผลเป็นประเภทใด เราควรต้องเข้าใจหลักการการรักษาก่อน จึงจะเลือกวิธีได้อย่างถูกต้อง วันนี้เราจึงคัดสรรวิธีการรักษารอยแผลเป็นและหลักการของแต่ละวิธี เพื่อให้ทุกคนมีความเข้า ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 วิธี ดังต่อไปนี้
 

1. การทายา

ยาที่นำมาใช้ลดเลือนรอยแผลเป็น จัดอยู่ในกลุ่มของยาสเตียรอยด์, ยามิวโคโพลี แซคคาไรด์ 
โพลีซัลเฟต, เรตินอล, ยาที่มีวิตามิน E หรือวิตามิน A เป็นส่วนประกอบ กลุ่มยาเหล่านี้มีส่วนช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดดำใต้ผิวหนัง ลดการคั่งของเลือดใต้ผิวหนัง รอยแผลเป็นจางลง ช่วยการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ลดการอักเสบ ทำให้รอยแผลเป็นยุบและนุ่มลง ลดอาการบวมและลดอาการตึงบริเวณรอยแผลเป็น วิธีการนี้เหมาะสำหรับรอยแผลเป็นที่ไม่รุนแรงมานัก หรือใช้กับแผลเป็นทุกประเภทในระยะเริ่มแรกหลังแผลตกสะเก็ดจนบาดแผลหายดี
 

2. การใช้สารเติมเต็ม (Filler)

สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ เป็นกรดไฮยาลูรอน หรือ กรดไฮยาลูรอนิก โดยปกติร่างกายของคนเราจะผลิตกรดไฮยารูรอนิกอยู่แล้ว และสามารถพบได้ที่ผิวหนังและกระดูกอ่อน ส่วนฟิลเลอร์ที่นำมาใช้เป็นสารเติมเต็มจะถูกสกัดจากธรรมชาติและเหมือนกันกับที่ร่างกายมนุษย์ผลิตจึงมีความปลอดภัยสูง มีลักษณะเป็นเจลใส ใช้ฉีดบริเวณใต้ผิวหนังเพื่อให้ผิวหนังที่เป็นร้องลึกให้กลับมาอยู่ในระดับผิวปกติ
 

3. การใช้เลเซอร์ (Laser)

การใช้เลเซอร์รักษารอยแผลเป็น คือการส่งพลังงานความร้อนในรูปแบบของแสงที่มีความถี่สูง ภายในระยะเวลาสั้นๆ  โดยใช้คุณสมบัติช่วงความยาวคลื่นแสง (Wave Length) ที่แตกต่างกัน เข้าไปรักษารอยแผลเป็นแต่ละประเภท โดยอาศัยหลักการที่ว่าเม็ดสีในร่างกายแต่ละสี จะมีคุณสมบัติในการดูดซับสีของแสงที่แตกต่างกันตามช่วงความยาวคลื่นแสง ตัวอย่างเช่น ความยาวคลื่น 532 นาโนเมตร และ 1,064 นาโนเมตร มีผลต่อเม็ดสีเมลานิน (เม็ดสีดำ) หรือ ความยาวคลื่น 578 นาโนเมตร มีผลต่อเม็ดสีแดง เป็นต้น นอกจากนั้นเลเซอร์ยังใช้ในการทำลายผิวหนังส่วนเกินให้ฝ่อและหลุดออกไปได้อีกด้วย
 

4. การผ่าตัดรอยแผลเป็น

การผ่าตัดชิ้นเนื้อคือการตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนเกินของรอยแผลเป็นออกไปและต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น เหมาะสำหรับรอยแผลเป็นที่มีลักษณะนูนเด่นชัด จนดูผิดปกติ รอยแผลเป็นที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือมีอาการเจ็บปวดเมื่อสัมผัส การรักษาประเภทนี้มีข้อควรระวังคือการดูแลบาดแผลหลังการผ่าตัดเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และในผู้ป่วยบางรายหลังการผ่าตัดอาจเกิดรอยแผลเป็นคีลอยด์ได้ด้วย
 

5. การฉีดสเตียรอยด์

การฉีดสเตียรอยด์ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งถูกสังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายเราสามารถสร้างขึ้นเองได้ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของสเตียรอยด์ 
 
ที่นำมาใช้ในการรักษารอยแผลเป็น ในรูปแบบของการฉีดบริเวณรอยแผลเป็น เพื่อลดการอักเสบของบาดแผล ทำให้รอยแผลเป็นที่นูนแข็ง ลดขนาดลงและนิ่มขึ้น โดยจะเว้นระยะการฉีด 2-4 สัปดาห์ต่อครั้ง และฉีดจนกว่ารอยแผลเป็นจะยุบลงไป แต่มีข้อเสียคือผิวหนังจะบางลง จึงต้องทำโดยแพทย์และใช้ปริมาณสเตียรอยด์ที่เหมาะสม
 

6. การกรอรอยแผลเป็น

การกรอผิวหรือที่เรียกว่า ไมโครเดอร์มาเบรชัน (Microdermabrasion: MD) เป็นวิธีทางการแพทย์ประเภทหนึ่งที่ใช้เกล็ดอัญมณี จากผลึกอะลูมิเนียมออกไซด์ ขนาด 100 ไมครอน มาใช้ในการผลัดเซลล์ผิวเก่า และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ด้วยขนาดผลึกอะลูมิเนียมออกไซด์ที่เล็กมากจึงไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือแผลถลอก
 

7. การสักสีทับรอยแผลเป็น

 
วิธีการนี้จะทำเหมือนกับการสักทั่วไป แต่ต่างกันที่การสักทับรอยแผลเป็นจะต้องเลือกสีที่จะสักให้เหมือนกับสีผิวปกติรอบบริเวณรอยแผลเป็นของเรา โดยจะทำให้แผลเป็นของเราดูเนียน กลมกลืนไปกับสีผิวปกติมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับแผลเป็นที่ไม่นูน ที่เกิดจากแผลถลอก
 

แผลเป็นแต่ละประเภทควรใช้วิธีการรักษาอย่างไร?

การรักษารอยแผลเป็นแต่ละประเภท ควรใช้วิธีการรักษาตามประเภทรอยแผลเป็นดังต่อไปนี้
 

รอยแผลเป็นทั่วไป (Common Scar)

- การทายา
- การใช้เลเซอร์
- การกรอรอยแผลเป็น
- การสักสีทับรอยแผลเป็น
รอยแผลเป็นลึก (Deep Scar)
- การใช้สารเติมเต็ม
- การใช้เลเซอร์
- การกรอรอยแผลเป็น

รอยแผลเป็นนูน (Hypertrophic Scars)

- การทายา
- การใช้เลเซอร์
- การผ่าตัดรอยแผลเป็น
- การฉีดสเตียรอยด์
- การกรอรอยแผลเป็น

รอยแผลเป็นหดรั้ง (Contracture Scars)

- การทายา
- การใช้เลเซอร์
- การกรอรอยแผลเป็น
- การสักสีทับรอยแผลเป็น
 

แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid Scars)

- การใช้เลเซอร์
- การผ่าตัดรอยแผลเป็น
- การฉีดสเตียรอยด์

รอยแตกลาย (Stretch Marks/Striate)

- การทายา
- การใช้เลเซอร์
- การกรอรอยแผลเป็น
 
การรักษารอยแผลเป็น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน สำหรับคนที่มีบาดแผลขนาดใหญ่ ก็อาจไม่สามารถรักษาให้ผิวหนังกลับมาเป็นปกติได้อาจทำได้เพียงการลดขนาดรอยแผลเป็นลง แต่สำหรับบาดแผลที่ไม่ใหญ่มากหากดูแลบาดแผลเป็นอย่างดี ก็สามารถทำให้ผิวหนังกลับมาเป็นปกติได้ แต่การรักษารอยแผลยังไม่สำคัญเท่ากับการป้องกันร่างกายของเรา ในการทำกิจกรรมต่างในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้เกิดบาดแผล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.gangnamconsult.com/how-to-remove-scars/

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที