ธนัยวงศ์

ผู้เขียน : ธนัยวงศ์

อัพเดท: 30 ส.ค. 2007 05.01 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8602 ครั้ง

สำหรับยุคที่การศึกษาต่อในระดับ MBA กำลังเฟื่องฟูนี้ การตัดสินใจศึกษาต่อเพื่ออนาคตที่ดีต้องมีหลักเกณฑ์ในการเลือก


MBA การลงทุนสำหรับชีวิต!

โดย ดร. ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์

            คำว่า "การลงทุน (Investment)" นั้น หมายถึง การที่เรายอมที่จะไม่บริโภคในปัจจุบัน แต่เลือกที่จะนำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนทำให้มีมูลค่างอกเงยในระยะยาว เพื่อสำหรับใช้บริโภคในอนาคต สำหรับการศึกษา (Education) นั้นก็เปรียบเสมือนกับการลงทุนระยะยาวชนิดหนึ่ง ซึ่งเราต้องเลือกที่จะนำเงินที่มีอยู่มาลงทะเบียนศึกษา แทนที่จะนำไปใช้สำหรับการอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ติดตัวสำหรับการทำงาน และการดำรงชีวิตในอนาคต

16707_0511-0703-2214-5912.jpg


           
ในยุคที่การศึกษาต่อในระดับ
MBA กำลังเฟื่องฟูนี้ การเลือกเข้าศึกษาต่อเพื่ออนาคตที่ดีกว่านั้น ต้องมีหลักในการเลือกศึกษา ไม่ใช่สะเปะสะปะ ไร้หางเสือ ทั้งนี้เพราะหากเลือกศึกษาแล้วไม่ตรงกับที่เราต้องการ ก็จะเป็นการเสียเวลา และเงินทองโดยใช่เหตุ หากจะเปรียบก็เช่นเดียวกันกับการลงทุน หากไม่มีหลักในการลงทุน ก็อาจส่งผลให้นักลงทุนกลายเป็นแมงเม่ากันได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าดูกันจริงๆ แล้วหลักการลงทุนกับหลักการเลือกศึกษาต่อในระดับ MBA ก็ไม่แตกต่างกันมากมายนัก ที่นี้ก็ลองมาพิจารณาดูกันนะครับ

·       เริ่มจากต้องรู้จักตนเองก่อน (Know Yourself) โดยก่อนที่จะเริ่มลงทุน เราต้องสำรวจตัวเราเองก่อนว่า ต้องการอะไรจากการลงทุน มีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง เป็นการลงทุนเพื่อปกป้องเงินทุน หรือเพื่อเพิ่มค่าของเงินทุน ถามตนเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน มีประสบการณ์การลงทุนมาก่อนหรือไม่ และเข้าใจเรื่องการลงทุนดีมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ก็เพราะการลงทุนโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากๆ ดังเช่นที่เราเคยได้ยินว่า “การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” นั่นเอง และท้ายสุดต้องสำรวจดูว่า เรามีงบประมาณสำหรับใช้ลงทุนมากน้อยเท่าไร  ถ้ามีงบประมาณน้อยก็ควรเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ราคาถูก แต่ถ้ามีงบประมาณมาก ก็สามารถที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีราคาแพงได้ เช่นเดียวกับการเลือกศึกษาต่อ MBA เราต้องพิจารณาตัวเองก่อนว่า ต้องการศึกษาต่อเพื่ออะไร เพื่อยกระดับของตนในสายอาชีพ หรือเพื่อนำไปใช้สำหรับประกอบธุรกิจให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ต้องถามตนเองว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน อีกทั้งมีความตั้งใจ และความพร้อมที่จะศึกษาต่อหรือไม่ มีความรู้ความเข้าใจในสาขาที่ตนเลือกศึกษามากน้อยเพียงใด มีงบประมาณสำหรับการศึกษาต่อเท่าไร ถ้ามีไม่พอ จะหาเงินทุนเพิ่มเติมได้จากที่ไหน และท้ายสุดถ้าหากผ่านการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาจะสามารถจัดสรรเวลาสำหรับการเข้าเรียน ทบทวนหัวข้อที่เรียน รวมถึงการทำรายงานที่รับมอบหมายได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็เพราะ การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทไม่ว่าในสาขาใดก็ตาม วิธีการเรียนการสอนจะแตกต่างกับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีอย่างสิ้นเชิง ผู้เรียนจึงต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ความคิด รวมถึงทุนทรัพย์ค่อนข้างมาก เพื่อที่จะสำเร็จการศึกษาให้ได้

·       ศึกษาสภาพแวดล้อม (Know the Environment) นักลงทุนที่ชาญฉลาดจะสำรวจสภาพแวดล้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองก่อนที่จะลงทุนในหลักทรัพย์เสมอ โดยจะไม่ลงทุนอย่างบุ่มบ่ามตามข่าวลือ หรือตามกระแสแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะ สภาพแวดล้อมที่กล่าวข้างต้นล้วนมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ทั้งสิ้น สำหรับการเลือกศึกษาต่อ MBA ก็เช่นกัน ผู้เรียนต้องศึกษาสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่จะไปเรียนต่อว่า ตั้งอยู่ที่ใด สะดวกในการเดินทางหรือไม่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนหรือไม่ มีห้องสมุด ห้องปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องสำหรับศึกษาค้นคว้า และห้องอาหาร รวมถึงมีที่จอดรถเพียงพอหรือไม่ สำหรับผู้เรียนที่ขัดสนเรื่องเงินทุนก็ต้องศึกษาดูว่า มีกองทุนสำหรับการกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือไม่ หรือมีทุนการศึกษาจากที่ใดบ้าง เกณฑ์ในการให้ทุนการศึกษาเป็นอย่างไร และทุนการศึกษาที่ให้นั้นตรงกับสาขาวิชาที่ตนเองต้องการศึกษาต่อหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงกฎระเบียบ ชื่อเสียง และความสำเร็จในปัจจุบันของสถานศึกษาที่สนใจนั้นๆ ด้วยครับ

·       ทำความรู้จักกับสิ่งที่สนใจ (Know the Product) เมื่อสำรวจตนเอง และตรวจดูสภาพแวดล้อมแล้ว คราวนี้ก็มาดูว่ามีหลักทรัพย์ประเภทใดในตลาดที่สามารถจะลงทุนได้ ซึ่งนักลงทุนก็จะต้องทำการศึกษาว่า หลักทรัพย์ประเภทใดที่ตรงกับวัตถุประสงค์ซึ่งตนได้กำหนดไว้ ทำการพิจารณาว่าหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนในลักษณะใด และมีความเสี่ยงเหมาะสมกับภูมิต้านทานความเสี่ยงของตนหรือไม่ สำหรับการศึกษาต่อ MBA นั้น นอกจากที่ผู้เรียนต้องพิจารณาถึงหลักสูตรว่าตรงกับความต้องการของตนเองหรือไม่ ยังต้องพิจารณาถึงเนื้อหาของหลักสูตรสาขาวิชาที่ตนต้องการ รายละเอียดของวิชาต่างๆที่ต้องเรียน รวมถึงการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ จำนวนหน่วยกิต ระยะเวลาการศึกษา กระบวนการวัดผล อัตราค่าเล่าเรียน รวมทั้งค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงชื่อเสียง คุณวุฒิ ประสบการณ์การสอน และวิธีการสอนของคณาจารย์ผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ให้วิชาความรู้แก่เราอีกด้วย

ถึงตรงนี้ก็คงเห็นกันแล้วนะครับว่า หลักการลงทุน และการเลือกเรียนต่อ MBA มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก โดยเริ่มจากการสำรวจทั้งตนเอง และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาหลักทรัพย์ที่ต้องการลงทุน หรือหลักสูตร MBA ที่เราต้องการศึกษาต่อ ซึ่งตรงกับคำพูดยอดนิยมของซุนวู ปราชญ์ชาวจีนที่ได้กล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ยังไงละครับ ทั้งนี้สำหรับการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อนั้น เราถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาวประเภทหนึ่ง โดยเป็นการลงทุนสำหรับชีวิตที่ให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปของความรู้ซึ่งจะอยู่ติดกับตัวเราตลอดไปนั่นเอง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที