“ลิ้นหัวใจ” เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของหัวใจทำหน้าที่คล้ายประตูเปิด-ปิด กั้นอยู่ระหว่างห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง เพื่อควบคุมการไหลเวียนของเลือด ในแต่ละห้อง ป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ นับว่าเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของทุกคน ดังนั้นหากลิ้นหัวใจเกิดความผิดปกติ จึงมีความจำเป็นต้องรักษาหรือว่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่ โดยวันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ พร้อมแนะนำวิธีการดูแลตนเอง หากต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เพื่อให้คุณได้นำไปใช้ดูแลตนเอง และคนที่คุณรักอย่างถูกต้องต่อไป
โรคลิ้นหัวใจผิดปกติคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาการลิ้นหัวใจผิดปกติ สามารถเกิดได้ 3 ลักษณะ คือ ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว และลิ้นหัวใจทั้งตีบและรั่วร่วมกัน โดยอาการลิ้นหัวใจผิดปกตินั้น เกิดได้จาก 3 สาเหตุ คือ
เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
เกิดจากการติดเชื้อ
เกิดจากผลแทรกซ้อนของไข้รูห์มาติค ซึ่งทำให้ลิ้นหัวใจมีอาการอักเสบ และหนาตัวขึ้น รวมถึงมีหินปูนมาเกาะ ส่งผลให้การเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจไม่ดี
การรักษาโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
การรักษาโรคลิ้นหัวใจผิดปกติมีด้วยกัน 3 วิธี คือ
การรักษาโดยการรับประทานยา
การรักษาโดยขยายลิ้นหัวใจตีบด้วยบอลลูน
การรักษาโดยการผ่าตัดซ่อมแซม หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
หลังผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยไม่ควรลืมกินยาเกิน 12 ชั่วโมง และไม่ควรลดหรือหยุดยาด้วยตนเอง และที่สำคัญคือไม่ควรซื้อยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดมารับประทานเอง
ควรระวังในการรับประทานอาหารเสริมบางชนิด เพราะอาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น ผักสกัดอัดเม็ด คลอโรฟิลล์อัดเม็ด น้ำผลไม้สกัด รวมไปถึงยาสมุนไพร ยาต้ม ยาลูกกลอน และยาหม้อต่าง ๆ รวมไปถึงแปะก๊วย โสม น้ำมันปลา วิตามินอี วิตามินเค เป็นต้น
ควรรับประทานอาหารรสจืด หรืออาหารที่มีการจำกัดโซเดียม และไม่ควรเติมเครื่องปรุงรสเค็มเพิ่มเวลาทานอาหาร แต่สามารถเติมรสหวานและเผ็ดเพิ่มได้เล็กน้อย
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของสารกันบูด ผงกรอบ อาหารหมักดอง ผงฟู เพราะมีส่วนประกอบของโซเดียมอยู่มาก
ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ห้ามดื่มน้ำน้อยจนเกินไป เพราะยาอาจเป็นอันตรายต่อไตได้
ควรดูแลช่องปากและฟันให้สะอาด โดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพราะการติดเชื้อในช่องปากอาจลุกลามไปยังลิ้นหัวใจได้
ออกกำลังกายด้วยการเดินช้า ๆ บนพื้นราบ แล้วค่อย ๆ เพิ่มความเร็วและระยะทางไปเรื่อย ๆ
หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที