การบริหารความขัดแย้ง
สมิต สัชฌุกร
1. แนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง
ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมหรือการที่ต้องทำงานเป็นกลุ่ม นอกจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลแล้วยังจะมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มด้วย หากสมาชิกกลุ่มมีความแตกต่างกันมากในหลายๆ ด้าน ความขัดแย้งก็จะเกิดมากขึ้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการยากที่คนเราจะทำงานร่วมกันในหน่วยงานโดยปราศจากความขัดแย้ง จนมีคำกล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในชีวิตแต่ปัญหาไม่จำเป็นต้องมี เพราะความขัดแย้งที่คงอยู่ในระดับหนึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหา แม้กระนั้นนักบริหารก็จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องของความขัดแย้ง และเข้าเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ความหมายของความขัดแย้ง
ความรู้สึกของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่มีความคิดเห็นหรือความเข้าใจว่าเป้าหมายหรือผลประโยชน์ของตนเองนั้นถูกขัดขวาง, สกัดกั้น หรือไม่ลงรอย (Incompatible Goal) กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น
นักบริหารและนักวิชาการต่างให้ความหมายไปในมุมมองของตนและความสนใจที่แตกต่างกันออกไปหลายคำจำกัดความ
3. ลักษณะของความขัดแย้ง
1. ต้องมีสองฝ่ายขึ้นไป (เพราะความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีคู่กรณีอีกฝ่าย)
2. เป้าหมายหรือผลประโยชน์ไม่ตรงกัน (Incompatible Goal) ไม่เห็นพ้องต้องกันหรือตกลงกันไม่ได้
3. คู่กรณีในความขัดแย้งต้องมีความเกี่ยวข้องกัน
4. ประโยชน์ของความขัดแย้ง
โดยทั่วไปเราจะนึกถึงด้านผลเสียของความขัดแย้งแต่หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าความขัดแย้งก็มีด้านผลดีเป็นประโยชน์ในหลายกรณี ดังนี้
1. ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทำงานให้บรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
2. ช่วยให้สมาชิกของกลุ่มอยากรวมกลุ่มกันทำงานมากขึ้น
3. ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และ จุดยืน และค่านิยมที่ตนยึดถือ
4. กลุ่มใดที่ขัดแย้งกัน สมาชิกในแต่ละกลุ่มจะเกาะกลุ่มเหนียวแน่นขึ้น
5. ประเภทของความขัดแย้ง
1. ความขัดแย้งในตัวบุคคล (Personal Conflict) อาจเป็นความขัดแย้งในด้านบุคลิกภาพ ทั้งทางร่างกายหรือทางจิตใจและอารมณ์ซึ่งไม่ลงรอยกัน
2. ความขัดแย้งระหว่างบุคคลทางความคิด (Conflict of Idea) อาจเป็นความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติ ค่านิยม หรือรสนิยมที่แตกต่างกัน บางกรณีเกิดจากความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน หรือมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
3. ความขัดแย้งระหว่างบุคคลในผลประโยชน์ (Conflict of Interest) อาจเป็นความขัดแย้งในเรื่องความต้องการที่แตกต่างกัน หรือเพราะทรัพยากรมีจำกัด หรือเพราะมีการชิงดีชิงเด่นกัน
6. เหตุผลและความจำเป็นในการบริหารความขัดแย้ง
การบริหารความขัดแย้ง คือ ความสามารถที่จะหาวิธีการที่จะเปลี่ยนจากการทำลายที่เกิดจากความขัดแย้ง (Destructive Conflict) ให้กลายมาเป็นการสร้างสรรค์ (Constructive Conflict) ในที่สุด ความขัดแย้งจึงไม่จำเป็นที่จะต้องส่งผลในทางลบเสมอไป ในขณะเดียวกันเราสามารถเรียนรู้วิธีการบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้เกิดผลในทางบวกเป็นไปในด้านการสร้างสรรค์
เหตุผลที่เราจะต้องบริหารความขัดแย้งเพราะโดยทั่วไปแล้ว ความขัดแย้งจะนำมาซึ่งความยุ่งยากและความสับสนในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดผลดีตามมาในภายหลัง หรือความขัดแย้งที่เป็นผลเสียก็ตาม เราจะปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินไปโดยตัวของมันเอง และหมดสิ้นไปเองตามเวลาย่อมไม่ได้
ความจำเป็นในการบริหารความขัดแย้ง เกิดจากความรับผิดชอบที่จะต้องทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้บรรลุผล เราจึงต้องจัดการกับความขัดแย้งให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์และส่งผลในทางที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ถูกต้องดีงาม สิ่งที่คู่กรณีควรมุ่งหวังจากการบริหารความขัดแย้ง ได้แก่การสนองความต้องการและจุดมุ่งหมายของตน รวมทั้งผลสำเร็จของการทำงานร่วมกัน
พบกันใหม่ ทัศนะต่อปัญหาความขัดแย้ง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที