อยู่อย่างพระหรือฆารวาส
วิกูล โพธิ์นาง
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐
ประชาชนทั่วไปที่อยู่บ้านเราเรียกว่าฆาราวาส หรือหมายถึงผู้ครองเรือน ส่วนพระภิกษุสามเณรนั้นเรียกบรรพชิต หรือนักบวชที่อยู่อาศัยคือวัด ในหมู่บ้านหนึ่งๆมีวัดอยู่ประมาณ ๑ วัด หากหมู่บ้านใหญ่อยู่ห่างไกลกันมากเดินไปมาหาสู่กันลำบากก็จะมีวัดอาจเป็น ๒ หรือ ๓ วัด ก็แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้เกิดความสะดวกในการไปทำบุญติดต่อประสานงานดำเนินการทางด้านศาสนาพิธีด้วย
ในวัดนั้นๆผู้ที่ไปอยู่เป็นพระภิกษุสามเณร ที่มาจากฆารวาสในถิ่นนั้นเป็นส่วนใหญ่ และถือเป็นผู้เสียสละหากวัดใดไม่มีพระอยู่ก็จะกลายเป็นวัดล้างวิถีชุมชนก็เกิดความยากลำบากทางศาสนาขึ้นมาทันที หากไม่มีใครในหมู่บ้านมาบวชก็อาจไปเชิญหรือนิมนต์มาจากถิ่นอื่นหรือท่านมาเองก็เป็นไปได้ การจะมาบวชหรือไม่บวชไม่มีใครบังคับรวมถึงการลาสิกขาเช่นกัน
เพื่อให้ผู้ออกบวชแตกต่างไปจากฆารวาส บัญญัติทางศาสนาได้บัญญัติสรุปว่าผู้ที่ออกบวชต้องไม่ทำตนเป็นผู้ ยาก ต้องทำตนให้ ง่าย โดยรวมก็คืออย่าให้เป็นภาระของฆารวาส ดังนั้นต้องอยู่อย่างในลักษณะนี้คือ กินอย่างหมู อยู่อย่างหมา ไปมาอย่างนก หรือทำตนเป็นผู้เลี้ยงง่าย อยู่อย่างสันโดษ และต้องไม่ติดถิ่นพร้อมเดินทางไปที่ต่างๆเพื่อเผยแพร่ธรรมคำสั่งสอนและปฏิบัติศาสนกิจได้ทุกเมื่อ การเป็นอยู่ทุกอย่างต้องไม่หรูหราฟุ่มเฟือย เพราะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะมาละกิเลศเพื่อให้ตัดห่างจากโลกีย์วิสัย
ออกบวชไปอยู่วัดแล้วจึงต้องมีการเป็นอยู่ด้วยปัจจัยเพียง ๔ อย่าง ตามพระธรรมวินัยบัญญัติเรียกว่า เครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เมื่อครั้งพุทธกาล สรุปได้ดังนี้คือ
๑. ต้องออกบิณฑบาตรเพื่อนำอาหารมาแต่พอยังชีพวันหนึ่งๆเท่านั้น
๒. เครื่องนุ่งหุ่มต้องใช้เพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้นไม่หรูหราราคาแพง
๓. ยากรักษาโรคให้ใช้เฉพาะที่จำเป็นต่อการรักษาโรคเท่านั้น
๔. ที่อยู่อาศัยต้องมีเพื่อบังแดดบังฝนลม พอนอนเฉพาะตนเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ประสงค์ จะให้ผู้ออกบวชสละแล้วซึ่งทางโลกไม่สนใจ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ใช้เวลาและการเป็นอยู่อย่างประหยัด ได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยประพฤติปฏิบัติตนให้หลุดพ้น นำธรรมคำสั่งสอนไปเผยแพร่ต่อฆารวาสที่เขาไม่มีเวลาเพราะต้องทำมาหากินทั้งยังต้องนำบางส่วนมาเกื้อกูลต่อบรรพชิตอีกทางด้วย
การเป็นอยู่ของพระหรือบรรพชิตทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมายังเป็นการวัดระดับของพระได้อีกด้วยว่าท่านใด คือศิษย์ตถาคต แท้จริงมากน้อยเพียงใด
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที