เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
ระดับหัวหน้างาน
วิกูล โพธิ์นาง
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐
หลังจากอบรมผ่านได้เป็น จป.หัวหน้างาน เครื่องแบบพนักงานเฉพาะที่ทำงานอยู่จะมีเครื่องหมายที่ไหลขวาเป็นวงกลมภายในมีกากบาทสีเขียว วงรอบด้านบนเป็นภาษาอังกฤษสีแดง SAFETY SUPERVISOR รอบวงด้านล่างเป็นชื่อบริษัทฯ สถานประกอบการอื่นๆอาจแตกต่างกันออกไป เมื่อได้ใส่เครื่องแบบรู้สึกภูมิใจมากกับเครื่องหมายที่ว่านั้น อาจารย์ผู้สอนก็มาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง วุฒิบัตรยังเก็บไว้ที่บ้านสง่างามมากเลยมีหลายครั้งคนเดินมาถามพี่ๆทำงานที่โรงพยาบาลไหนหรือครับ? ตอบกลับไปเปล่าครับผมเป็น จป. หัวหน้างาน
อบรมเสร็จใหม่ๆไฟแรงน่าดู เดินไปแห่งใดในหน่วยงานพกไขควงวัดไฟไปด้วยเรียกว่าครบในฐานะ จป.หัวหน้างานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทั้ง ๙ ข้อ ปัจจุบันลืมไปเลยว่าเป็น จป.หัวหน้างานมาระลึกได้อีกครั้งก็ตอนที่เห็นเครื่องหมายที่ไหลขวาของแขนเสื้อ
จึงเป็นที่สังเกตและประเมินได้เบื้องต้นว่า ยังมีหลายภาคส่วนของสังคมหรือแม้แต่ในสถานประกอบการที่มี จป.หัวหน้างานอยู่พนักงานหรือตัว จป.เองนานเข้าอาจลืมบทบาทตนเองไปจึงได้นำมาเสนอเพื่อประกาศให้ได้รู้จัก จป.หัวหน้างานเพิ่มขึ้น
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน อาศัยกฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้จัดทำหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน ระยะเวลาของหลักสูตร ๑๒ ชั่วโมง ก็ประมาณ ๒ วัน
หัวหน้าที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวแล้วก็จะเป็น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวข้างต้นมีหน้าที่โดยสรุป ๙ ประการ คือ
๑. ควบคุมดูแลให้พนักงานที่รับผิดชอบปฏิบัติงานตามกฎระเบียบความปลอดภัย
๒. วิเคราะห์เพื่อหาความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ
๓. สอนวิธีการทำงานที่ถูกต้องให้พนักงานที่ดูแลให้ปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย
๔. ตรวจสอบสภาพดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
๕. กำกับดุแลให้พนักงานในส่วนที่รับผิดชอบสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล
๖. รายงานผลการเกิดอุบัติเหตุ
๗. ตรวจหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
๘. ส่งเสริมกิจกรรมความปลอดภัย
๙. ปฏิบัติตามที่ จป.ระดับบริหารมอบหมาย
สถานประกอบกิจการมีอยู่ ๑๔ ประเภทที่ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างาน โดยสรุปแล้วแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ
v สถานประกอบกิจการทางด้านการผลิต
v สถานประกอบกิจการทางด้านบริการ
สถานประกอบกิจการทางด้านการผลิต เช่น เหมืองแร่ โรงงาน การผลิต จำหน่ายน้ำมัน ประเภทนี้หากมีลูกจ้างตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปต้องจัดให้มี จป. ระดับหัวหน้างาน
สถานประกอบกิจการทางด้านบริการ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล การกีฬา ประเภทนี้หากมีลูกจ้างตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไปต้องจัดให้มี จป. ระดับหัวหน้างาน
จากสภาพเป็นจริงในปัจจุบันนี้ ยังมีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและไม่มีการควบคุมให้สถานประกอบกิจการบางแห่งเหล่านั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือแม้แต่บางสถานประกอบกิจการที่อบรมแล้วจัดให้มี จป.หัวหน้างานแล้ว อบรมแล้วก็แล้วกันไปประหนึ่งไฟไหม้ฟาง
จป.หัวหน้างานที่ผ่านหลักสูตร ไม่ได้ทำหน้าที่ทั้ง ๙ ข้อไม่นำหลักวิชาไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่อง ซึ่งอาจมาจากสิ่งแวดล้อมและการบริหารขององค์กรไม่เอื้ออำนวย โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ จป.วิชาชีพโดยลำพัง
หาก จป.หัวหน้างานที่ผ่านการอบรมแล้วนั้น รวมผู้ที่เกี่ยวข้องมีการติดตามประเมินผลจัดการบริหารให้ดีจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแล้วก็จะมีกำลังในการดูแลพิทักษ์ความปลอดภัยในองค์กรได้อย่างแข็งขัน
ถ้าสภาพยังเป็นปัญหาดังข้างต้นนี้ แม้มีการจัดการฝึกอบรม จป.หลายครั้งเท่าใดเพียงเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแต่มิได้ปฏิบัติในรายละเอียดตามกฎหมาย ได้วิทยากรดีๆ คู่มือหลักสูตรสวย สถานที่อบรมหลูๆ ก็จะกลายเป็นน้ำพลิกละลายแม่น้ำเปล่าๆไม่ได้อะไรอันเป็นคุณประโยชน์เลย
สิ่งที่จะได้ก็คงเป็นเพียงเรื่องเล่าความหวาดเสียวภาพสยดสยองของการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงขึ้นทุกวันให้วิทยากรผู้สอนได้นำมาเล่าถ่ายทอดด้วยความสลดหดหู่ใจต่อไปอีกนาน.
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<O>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที