วัตพล

ผู้เขียน : วัตพล

อัพเดท: 14 เม.ย. 2024 14.52 น. บทความนี้มีผู้ชม: 331174 ครั้ง

การศึกษา เรียนรู้เพิ่มเติม การสอบเข้า


ตำรวจสายตรวจคนเข้าเมือง มีหน้าที่อะไร อยากเป็นตำรวจ ตม ต้องสอบอะไรบ้าง

ใครบางคนอาจจะมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นตำรวจมาตั้งแต่ยังเด็ก แล้วทุกคนรู้หรือยังว่าการจะเป็นตำรวจนั้นไม่ได้มีเพียงหน้าที่เดียว โดยอาชีพตำรวจจะมีการแบ่งออกเป็นหลายสายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจอำนวยการ ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจปราบปราม หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตำรวจแต่ละสายนั้นก็จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงวิชาที่จะต้องสอบเพื่อเป็นตำรวจสายนั้น ๆ ก็แตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน 
 

และในบทความนี้เราจะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ว่ามีหน้าที่ความรับผิดชอบใดบ้าง ต้องสอบวิชาอะไร มีความน่าสนใจแค่ไหน รวมไปถึงฐานเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะได้รับ ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลอย่างละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

 
ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อาชีพนี้ ดีอย่างไร

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นผู้ที่คอยสอดส่องดูแลและบริการให้กับประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้าหรือออกจากประเทศ รวมไปถึงการข้ามเขตแดนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ที่คอยตรวจตราชาวต่างด้าวที่มีการลักลอบเข้าประเทศมาแบบผิดกฎหมายอีกด้วย
 

ซึ่งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็เปรียบได้ว่าเป็นผู้ที่ต้องคอยเฝ้ารักษาประตูทางเข้าออกของประเทศเลยทีเดียว โดยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้นจะอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
 

โดยจุดดีที่ทำให้ผู้คนสนใจเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการต่าง ๆ ความมั่นคงในอาชีพ รวมไปถึงเงินบำนาญที่จะได้ในอนาคตอีกด้วย

 
ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อาชีพนี้ดีอย่างไร

หน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ในส่วนของหน้าที่ความรับผิดชอบที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะต้องปฏิบัติในการทำงานนั้นจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกองบังคับการ ซึ่งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะมีการแบ่งออกเป็น 6 กองบังคับการด้วยกัน แล้วในแต่ละกองบังคับการมีหน้าที่อะไรกันบ้าง เรามาอ่านไปพร้อมกันเลย!
 

บก.ตม.1

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกองบังคับการที่ 1 จะมีหน้าที่คอยให้บริการหรือดำเนินการในกรณีที่คนต่างด้าวต้องการประกอบกิจการหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมไปถึงการรับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง
 

โดยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง รวมถึงกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกองบังคับการนี้จะต้องรับผิดชอบภายในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร หรือสถานที่ที่ได้มีการกำหนดไว้
 

บก.ตม.2

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกองบังคับการที่ 2 จะมีหน้าที่ตรวจบุคคลและยานพาหนะที่มีการเข้าหรือออกนอกประเทศผ่านทางอากาศ รวมไปถึงการตรวจอนุญาตเพื่อกลับเข้าประเทศหรือออกไปยังนอกประเทศ ซึ่งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกองบังคับการนี้จะต้องรับผิดชอบอยู่ในสนามบินนานาชาติ
 

บก.ตม.3 , บก.ตม.4 , บก.ตม.5 และ บก.ตม.6

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกองบังคับการที่ 3 ถึงกองบังคับการที่ 6 จะมีหน้าที่หลักคือการให้บริการแก่ประชาชน และตรวจสอบผู้ที่เดินทางเข้าหรือออกนอกประเทศที่มาจากแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีงานเกี่ยวกับเอกสาร งานบริการคนต่างด้าว งานอำนวยการ งานตรวจบุคคลและยานพาหนะ รวมไปถึงงานสืบสวนปราบปรามและส่งกลับประเทศ


หน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

การสอบตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 รอบ

ในการสอบตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้นจะมีการสอบแบ่งออกเป็น 2 รอบด้วยกัน ดังนี้

สอบรอบที่ 1

ในการสอบรอบที่ 1 นี้จะเป็นการสอบด้านภาษา โดยจะเป็นการสอบผ่านภาษาอังกฤษ ตม. หรือเป็นการยื่นคะแนนภาษาที่มีอยู่ ซึ่งคะแนนภาษาที่สามารถยื่นได้มีดังนี้TOEIC 495 คะแนน

  • TOEFL IBT 60 คะแนน
  • CU-TEP 60 คะแนน
  • IELTS 4.5 คะแนน
  • ภาษาจีน HSK 
  • ภาษาเกาหลี หรือภาษาญี่ปุ่น 

เกณฑ์ของคะแนนจะต้องไม่ต่ำกว่าระดับ 3 


ส่วนในกรณีที่ต้องการสอบภาษาอังกฤษ ตม. จะต้องมีคะแนนผ่านเกณฑ์อยู่ที่ 60% โดยทางศูนย์สอบจะมีการจัดทดสอบให้ ซึ่งจะเป็นข้อสอบแบบปรนัย จำนวน 100 ข้อ

สอบรอบที่ 2

ในการสอบรอบที่ 2 จะเป็นการสอบด้านวิชาการ ซึ่งผู้ที่สอบไม่ผ่านในรอบที่ 1 ก็สามารถที่จะมาสอบรอบที่ 2 ได้ โดยการสอบด้านวิชาการจะต้องได้คะแนนผ่านเกณฑ์อยู่ที่ 60% เป็นข้อสอบแบบปรนัย จำนวน 150 ข้อ ที่จะมีการแบ่งออกเป็น 8 วิชาดังนี้

  • วิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 15 ข้อ
  • วิชาภาษาไทย จำนวน 15 ข้อ
  • วิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 15 ข้อ
  • สังคม วัฒนธรรม จริยธรรม และประชาคมอาเซียน จำนวน 20 ข้อ
  • คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 10 ข้อ
  • พรบ.คนเข้าเมือง จำนวน 50 ข้อ
  • พรบ.ตำรวจแห่งชาติ จำนวน 10 ข้อ
  • ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีงานสารบรรณ จำนวน 15 ข้อ

ในการสอบตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้นแม้จะดูค่อนข้างยากกว่าตำรวจสายอื่น ๆ และมีวิชาที่ต้องสอบเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าหากเราตั้งใจและหมั่นเพียรอ่านแนวข้อสอบต่าง ๆ เราก็สามารถทำได้อย่างแน่นอน ทาง GovEntPolice จะคอยเป็นกำลังใจให้ทุกคน แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่ค่อยมั่นใจสำหรับการเตรียมตัวสอบของตัวเอง ทางเราก็มีบริการติวสอบตำรวจเพื่อเพิ่มความพร้อมและเพิ่มความมั่นใจในการสอบให้กับทุกคนเช่นกัน

 
การสอบตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ข้อควรรู้ก่อนเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

หากใครที่กำลังสนใจตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอยู่ ก็ควรที่จะรู้รายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน เพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษาที่จำเป็นต้องใช้ ฐานเงินเดือนที่จะได้ รวมไปถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะได้รับเมื่อเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในหัวข้อนี้เราจะมารู้ไปพร้อม ๆ กัน

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องใช้วุฒิอะไร

วุฒิการศึกษาที่สามารถนำมาสมัครสอบตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้มีดังนี้

  • วุฒิระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 
  • วุฒิการศึกษา ปวช. หรือเทียบเท่า
  • วุฒิการศึกษา กศน.

เงินเดือนตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดีไหม

ฐานเงินเดือนที่จะได้นั้นจะแบ่งออกตามวุฒิการศึกษาที่ได้สมัครสอบเข้ามา กรณีที่สมัครสอบด้วยวุฒิระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ป.1 ขั้น 13.5 เงินเดือนที่ได้รับจะอยู่ที่ 8,610 บาท ส่วนกรณีที่สมัครสอบด้วยวุฒิการศึกษา ปวช. กศน. หรือเทียบเท่า ป.1 ขั้น 15.5 เงินเดือนที่ได้รับจะอยู่ที่ 9,330 บาท


และนอกจากเงินเดือนที่จะได้รับแล้ว ยังจะได้รับเงินเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น ค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท ค่าโอที รวมไปถึงเงินค่าปรับ อีกทั้งถ้าหากมีผลการปฏิบัติดี หรือผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร ก็อาจมีการเลื่อนขั้นเงินด้วยอีกด้วย

 
เงินเดือนตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดีไหม

เป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีสวัสดิการอะไรบ้าง

หนึ่งในจุดดึงดูดที่ทำให้หลาย ๆ คนสนใจหรือต้องการที่จะเป็นตำรวจก็คือสวัสดิการนั่นเอง เนื่องจากสวัสดิการที่จะได้จากการเป็นตำรวจนั้นมีมากมายทีเดียว ได้แก่
 

  • บ้านพักของราชการ
  • เบิกค่าเล่าเรียนของบุตรได้ 3 คน จนถึงอายุ 25 ปี
  • ค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ และบุคคลในครอบครัว
  • ค่าตัดเครื่องแบบปีละ 2,000 บาท
  • เงินเบี้ยเลี้ยงเมื่อมีการเดินทางไปราชการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • เงินพิเศษตามตำแหน่งงาน ค่าโอที และอื่น ๆ 
  • พิจารณาการขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง
  • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  • เงินบำเหน็จบำนาญ
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  • เงินช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่
  • สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ
  • สวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย
  • สวัสดิการเงินกู้กองกลางตำรวจ
  • ลาพักร้อน 30 วัน
  • ลากิจส่วนตัว 45 วัน
  • ลาคลอดบุตร 90 วัน
  • ลาอุปสมบท 120 วัน
  • ลาศึกษาต่อ 4 ปี
  • ลาประกอบพิธีของศาสนา

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที