แม่น้องมุก

ผู้เขียน : แม่น้องมุก

อัพเดท: 13 มี.ค. 2008 12.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 140954 ครั้ง

Compliance Rules กฎเกณฑ์ตัวใหม่ที่บริษัทนำมาชี้แจงแถลงไขให้พนักงานรับทราบ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น


ความหมายของ Compliance Rules

          หากจะแปลตามตัวอักษร Compliance แปลว่า การยอมรับ Rules แปลว่า กฎเกณฑ์ หรือ แปลง่าย ๆ ก็คือ กฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับ หรือ การยอมรับกฎเกณฑ์ นั่นเอง ซึ่งจากข้อมูลที่ทางฝ่าย HR ของบริษัทได้จัดสัมมนาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Compliance Ruales ของบริษัท จะสรุปได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ
1. การยอมรับปฏิบัติตามกฎของบริษัทในหนังสือกฎระเบียบที่ออกโดยบริษัท (ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ทุกคนก็จะต้องปฏิบัติเช่นนั้นอยู่แล้ว)
2. การยอมรับปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ
          มุมมองเกี่ยวกับ Compliance Rules ก็คือ การปฏิบัติตามกฎหมายและการรักษากฎระเบียบของบริษัท ซึ่งผู้บริหารและพนักงานทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของทางราชการ รวมทั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัทด้วย และจะต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนร่วม เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การใช้พนักงานหรือทรัพย์สินของบริษัทเพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมายจึงเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ สิ่งที่แน่นอนที่อยู่ในกฎระเบียบของบริษัทก็คือ การไม่ขัดต่อกฎหมายทั้งหมดที่บัญญัติใช้ในประเทศ เพียงแต่กฎระเบียบของบริษัท ไม่อาจครอบคลุมเงื่อนไข และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

          ดังนั้น Compliance Rules จึงเปรียบเสมือน การตอกย้ำ หรือจุดเชื่อมระหว่างกฎระเบียบบริษัท กับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ของประเทศ ที่พนักงานทุกคนควรปฏิบัติ เป็นเสมือนการอุดรูรั่วช่องว่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากกฎระเบียบบริษัท ไม่อาจครอบคลุมไปถึง ซึ่งหลายหน่วยงานนอกเหนือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เริ่มให้ความสำคัญกับการทำ Compliance Rules ซึ่งหากจะเปรียบเทียบ Compliance Rules ก็คงจะไม่แตกต่างจากหลักการของ Good Governance ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีนโยบายให้บริษัทที่จดทะเบียนในบริษัทหลักทรัพย์ใช้นั่นเอง
          สิ่งที่บริษัทจะแสดงออกถึงความใส่ใจใน Compliance Rules ก็คือ การแต่งตั้งพนักงานเป็น Compliance Officer หรือ ตั้งเป็นแผนก Compliance เพื่อศึกษาทั้งกฎระเบียบทั้งของบริษัทและกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ของประเทศ เพราะ Compliance Rules นั้น ผู้ปฏิบัติมิใช่เพียงแต่พนักงานเท่านั้น แต่หากบริษัท หรือผู้ประกอบการนั่นเอง ก็ต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กฎหมาย ต่าง ๆ ด้วย อย่างเช่น กรณีที่บริษัทจะทำการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในร้านสาขา หรือโรงงาน หรือสถานประกอบการ จำเป็นจะต้องทราบว่าจะต้องติดต่อขออนุญาตต่อหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใด จะไม่ทราบไม่ได้ ซึ่งหากไม่มีการขออนุญาตติดตั้งเครื่องจักรนั้นจากหน่วยราชการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทได้ ซึ่งจำเป็นที่พนักงาน Compliance Officer จะต้องรู้ซึ้งทั้งกฎระเบียบบริษัท กฎหมายต่าง ๆ ของประเทศ และสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้อง และนอกจากนี้ตัวพนักงาน Compliance Officer ยังต้องเป็นผู้มีหน้าที่รักษาความลับของผู้ที่ต้องการแจ้งกรณีมีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัท และดำเนินการศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อดูแลรักษาบริษัทให้ปราศจากการทุจริตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตเชิงนโยบาย

ตอนต่อไปจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับ Compliance Rules


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที