วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 21 ก.ค. 2007 19.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4995 ครั้ง

ในทุกองค์กรควรต้องมีความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งนั้นต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ กำจัดความขัดแย้งเชิงทำลาย อย่ายินดีกับความสงบนิ่งขององค์กร เพราะนั่นคือความผิดปกติที่เป็นสิ่งบอกเหตุว่าสถานที่แห่งนั้นไม่ได้มีการพัฒนาเลย


ความขัดแย้งควรกำจัดหรือจัดให้มี

ความขัดแย้งควรกำจัดหรือจัดให้มี

 

วิกูล  โพธิ์นาง

pd_wikulp@hotmail.com

๑๘  กรกฎาคม  ๒๕๕๐

                ในหน่วยงานใดหากผู้ใต้บังคับบัญชาว่านอนสอนง่าย  หัวหน้าว่าอย่างไรก็ไปตามนั้นไม่เคยขัด  จะลงประชามติเรื่องใดๆเสียงเป็นเอกฉันตามทิศทางที่หัวหน้าต้องการเสมอไม่ว่าการนำเที่ยวกินเลี้ยง  หรือการปรับเปลี่ยนวิธีขั้นตอนการทำงานการลดของเสียเพิ่มประสิทธิภาพ ประชุมสรุปหรือชี้แจงเกือบทุกเรื่องผู้ใต้บังคับบัญชานั่งนิ่งไร้ซึ่งคำถามแม้บางครั้งผู้อยู่ในฐานะผู้นำจะรู้อยู่ในๆแล้วก็ตามว่าเรื่องนั้นไม่ถูกใจผู้น้อยแน่แต่ก็ยังไม่มีเสียงขัดค้าน  สภาพแบบนี้ถือเป็นความสงบนิ่งที่น่ากลัวมากๆ ถ้าเคยเดินเข้าป่าช้ายามค่ำคืนเดือนมืดคนเดียวหนาวๆก็อารมนั้นเลย  เรื่องแบบที่ว่ามาผู้บังคับบัญชาบางท่านบอกว่าดีไม่ต้องเหนื่อยมาอธิบายสุขใจดีแท้ แต่บางท่านบอกสภาพแบบนี้น่ากลัว

                สภาพดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นที่องค์กรใดเรียกว่าองค์กรนั้นไม่มีความขัดแย้ง  เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งในองค์กรอดีตนานมากๆจะพอใจกับสภาพแบบนั้นคือให้สภาพอยู่ในความสงบและยังต่อต้านความขัดแย้ง สมัยต่อมาเริ่มมีการทำใจว่าความขัดแย้งในองค์กรการทำงานนั้นเป็นธรรมดารับได้เพราะถือว่านานาจิตตังต่างจิตต่างใจธรรมดาของมนุษย์แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรอีกเหมือนเดิมยิ่งสงบลงได้ไวเท่าไรยิ่งดี จนท้ายสุดเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งและหันมาให้การสนับสนุนให้เกิดความขัดแย้ง แม้กระทั้งองค์กรใดไม่มีความขัดแย้งก็หาวิธีทำให้ความขัดแย้งเกิดคล้ายการฉีดวัคซีนอย่างนั้น

                จากการศึกษาวิเคราะห์เป็นที่ยอมรับแล้วว่าองค์กรที่มีแต่ความสงบนิ่งไม่มีความขัดแย้งเลยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นน่ากลัวเกินไป หรือลักษณะของการยอมให้มีความขัดแย้งแต่มิได้นำความขัดแย้งมาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งนั้นๆก็จะทำให้เกิดความสูญเสียต่อองค์กร

                ความขัดแย้งกับการสูญเสียขององค์กรเกี่ยวกันอย่างไร  เกี่ยวกันก็ที่ว่าสถานที่ใดไม่มีความขัดแย้งแสดงว่าองค์กรนั้นมีผู้เป็นผู้นำเอาตนเป็นใหญ่หรือเผด็จการ สมาชิกไม่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ไปวันๆไม่มีส่วนร่วมกับหน่วยงานหรือไม่มีความภักดีต่อองค์กรเลยประเภทช่างเขาเถอะ  หรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วก็ไม่สังเคราะห์มาใช้ประโยชน์ดังที่ว่ามาปล่อยวางนิ่งเฉยอาจเป็นชนวนนำไปสู่ข้อพิพาทใหญ่โตได้

                ความขัดแย้งมี ๒ ลักษณะคือ ๑ ความขัดแย้งทางทำลาย และ ๒ ความขัดแย้งทางสร้างสรรค์ ความขัดแย้งทางทำลายทำให้เสียงานเสียความรักความสามัคคีควรกำจัดอย่าให้มี  ความขัดแย้งทางสร้างสรรค์ต้องร่วมกันให้เกิดมีขึ้นเพราะทำให้เกิดความคิดหลากหลายนำไปสู่การพัฒนาองค์กรได้เป็นอย่างดี

                จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรที่ต้องบริหารอย่าให้องค์กรเงียบเกินไป เมื่อเกิดความขัดแย้งทางทำลายต้องรีบกำจัดออกไป แต่หากเกิดความขัดแย้งแบบสร้างสรรค์ต้องรักษาส่งเสริม แต่หากไม่มีทั้งสร้างสรรค์หรือทำลายก็ต้องบ่มเพาะให้เกิดมาในลักษณะสร้างสรรค์ให้ได้ให้พอดีพองาม  จะเกิดปรากฏการณ์แบบสร้างสรรค์ได้ก็ต้องอาศัยระบบแบบประชาธิปไตยเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมนั่นเอง.

 

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<O>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที