Autonomous Maintenance เขาทำกันอย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่า Autonomous Maintenance เป็นเสาหลักที่สำคัญของการดำเนินการกิจกรรม TPM หรือ Total Productive Maintenance แต่การดำเนินการกิจกรรม Autonomous Maintenance ขอเรียกว่า AM ให้ดีนั้นเขาทำกันอย่างไร และวัตถุประสงค์จริงๆนั้นคืออะไร
การดำเนินการ AM นั้นคือการให้พนักงานเดินเครื่องเป็นผู้ที่ดูแลรักษาเครื่องจักรด้วยตนเอง หรือการให้พนักงานเดินเครื่องบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ในเบื้องต้น โดยขั้นตอนแรกคือการ ทำความสะอาด
การทำความสะอาดในความหมายของการดำเนินการ AM นั้นไม่ใช่แค่การนำผ้าไปเช็ดๆ ถูๆ เท่านั้น แต่เป็นการทำความสะอาดอย่างที่มีความหมายแฝงอยู่ นั่นคือการทำความสะอาดคือการตรวจสอบหาสิ่งผิดปรกติที่ซ้อนเร้นอยู่ แต่ก่อนที่จะทำได้นั้นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน การที่เราจะปล่อยให้พนักงานเดินเครื่องเข้าไปทำความสะอาดเครื่องจักรโดยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่นั้นหากโชคร้ายเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็จะทำให้การดำเนินการกิจกรรมนี้หยุดชงักได้ทันที ลองนึกดูถ้าพนักงานไปทำความสะอาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วเกิดเครื่องจักรที่เข้าไปทำนั้นทำงานขึ้นมาทับนิ้วของพนักงานขาดจนทำให้เขาพิการ การดำเนินการ AM ต่อไปในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น พนักงานที่โชคดีเขาจะคิดว่า การทำความสะอาดเป็นเรื่องที่อันตราย เป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัยควรที่จะหลีกเลี่ยง และไม่ควรที่จะทำความสะอาดอีกแล้ว ดังนั้นก่อนที่จะทำความสะอาดเครื่องจักรสิ่งที่ต้องทำคือการจัดเตรียมการหยุดเครื่องจักรให้เรียบร้อย และเริ่มปลูกฝังเรื่องของความปลอดภัยเป็นเรื่องแรกก่อนการดำเนินการใดๆ
หลังจากที่เราได้เตรียมการเรื่องความปลอดภัยแล้ว สิ่งที่จะต้องจัดเตรียมต่อก็คือ เรื่องจุดหรือบริเวณที่ต้องการให้พนักงานเดินเครื่องเข้าไปทำความสะอาด ทำไมจึงต้องเตรียมการณ์ด้วย
การที่เรากำหนดบริเวณให้พนักงานเข้าไปทำความสะอาดนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่าพนักงานเดินเครื่องนั้นไม่รู้จักเครื่องจักรทั้งหมด เครื่องจักรนั้นบางจุดเป็นจุดที่ละเอียดอ่อนหรือมีความรายละเอียดสูง เช่นแม่พิมพ์ โมลต่างๆ หรือวงจรอิเลคโทรนิค ต่างๆ ซึ่งต้องการการดูแลที่มากการจุดอื่น และเป็นจุดที่มีความเสียหายได้ง่ายซึ่งช่างต้องเป็นผู้ที่ดูแล อีกประการหนึ่งคือเรื่องของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาที่จัดให้เข้าไปทำความสะอาด เครื่องมือต่างๆ อุปกรณ์ในการทำความสะอาด ซึ่งต้องมีให้พร้อมก็มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นจึงต้องกำหนดบริเวณที่จะให้เข้าไปทำความสะอาด เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรสูงสุด ไม่ใช่ว่ามีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง แต่ไปรื้อทั้งเครื่องทำให้เสียเวลามากกว่าที่กำหนด
ต่อมาเรื่องของช่างที่จะเข้าไปดูแลในระหว่างการทำความสะอาด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นเรื่องที่บางครั้งก็ละเลยกันไป ไม่ได้จัดเตรียมช่างเข้าไปช่วยในระหว่างที่พนักงานเดินเครื่องเข้าไปทำความสะอาด เนื่องจากช่างที่เข้าไปช่วยนั้นไม่ได้เข้าไปช่วยทำความสะอาดเพียงอย่างเดียว ช่างต้องเข้าไปให้คำแนะนำกับพนักงานเดินเครื่องในระหว่างการทำความสะอาดด้วย เข้าไปแนะนำอะไร??
หลายท่านคงจำตอนที่ท่านหัดขับรถยนต์ได้ ครูฝึกจะนั่งรถไปกับท่านด้วยตลอดเวลาที่ท่านหัดขับก็เพื่อที่จะคอยให้คำแนะนำกับท่านในระหว่างที่ท่านเรียนรู้วิธีการขับรถ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน การทำความสะอาดนั้นต้องทำด้วยวิธีการใด ทำไมจึงต้องใช้วิธีการนั้น อย่างลืมว่าการทำความสะอาดคือการตรวจสอบหาสิ่งผิดปรกติที่ซ่อนอยู่ แล้วพนักงานเดินเครื่องจะทราบหรือไม่ว่าอะไรคือความปรกติอะไรคือผิดปรกติ หากช่างไม่คอยให้คำแนะนำอยู่ตลอดเวลา
จะเห็นได้ว่านี่แค่เตรียมการณ์ในการทำความสะอาดเท่านั้น ยังไม่ได้ลงมือทำความสะอาดเลยก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากแล้ว แต่หากท่านได้ลงมือทำจริงท่านจะพบความสนุกจากากรทำความสะอาดมากกว่าที่คิดแล้วพบกันตอนหน้าครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที