วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 09 ก.ค. 2007 20.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7352 ครั้ง

"โลกจะแตก" จะเป็นไปได้หรือแล้วเมื่อไร คำถามนี้เป็นไปได้หากสังคมโลก โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่มีคุณธรรมสองประการต่อไปนี้ ซึ่งเรียกว่า "ธรรมคุ้มครองโลก" เพราะปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุค "กลียุค"


รัฐธรรมณูญกับจริยธรรม

รัฐธรรมณูญกับจริยธรรม

 

วิกูล  โพธิ์นาง

pd_wikulp@hotmail.com

   กรกฎาคม   ๒๕๕๐

 

            ร่างรัฐธรรมณูญฉบับพุทธศักราช  ๒๕๕๐  ที่จะมีการทำประชามติเพื่อรับหรือไม่รับ  ในวันที่  ๑๙  สิงหาคม  ๒๕๕๐  นี้  ในหมวด  ๑๓  ว่าด้วยเรื่อง  “จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

                นับเป็นนิมิตหมายอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังสนใจธรรมคำสั่งสอนทางศาสนา  จึงได้นำมาเขียนไว้ในกฎหมายสูงสุดของชาติ

                นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐมีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทยที่จะสร้างสุขสร้างทุกข์ให้กับสังคมโดยรวม  บางคนก็เป็นคนดีบางคนก็ประพฤติปฏิบัติตนเป็นที่รังเกียจของราษฏรทั่วไป  แต่ก็ไม่มีใครมาแก้ไขให้เขาเหล่านั้นกลับตัวกลับใจยังความเดือดเนื้อร้อนใจไปสู่มวลชนอยู่เนืองๆ

                หากดูรัฐธรรมณูญในสาระของหมวดที่ ๑๓  ฉบับร่าง  ๒๕๕๐ ไม่มีการชี้ในรายละเอียดของคุณธรรมจริยธรรมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีคุณสมบัติตามเจตนารมณ์แห่งร่างรัฐธรรมณูญ  นั่นก็เพราะเป็นลักษณะของรัฐธรรมณูญที่จะเขียนเพียงแนวทางปฏิบัติกว้างๆไม่ลงไปในรายละเอียด

            ที่ร่างรัฐธรรมณูญกำหนดไว้ดังนี้

                “…มาตรา๒๗๐ มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น...และ...มาตรา ๒๗๑ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมตามมาตรา ๒๗๐...”

                บางความคิดเห็นสงสัยว่าจะยึดอะไรเป็นหลักจริยธรรม  โดยยกตัวอย่างอ้างคำสอนในเรื่องการประพฤติปฏิบัติในสังคมเดียวกันแต่ทำไมคำสอนบางศาสนาไม่เหมือนกันแล้วอะไรคือจริยธรรมจะยึดข้อใดดี  อย่างไรเสียทุกศาสนาทุกคำสอนต่างให้คนทำดีละเว้นชั่วที่เกิดข้อสงสัยนั้นอาจมาจากที่ไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดปรัชญาที่แท้จริงก่อนก็ได้

                จึงขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ไว้  ถึงแม้ว่ารัฐธรรมณูญฉบับร่าง ๒๕๕๐  จะมีมติรับหรือไม่รับก็ตามที  สิ่งที่ยังคงมีอยู่และทุกคนต้องรับคือคุณธรรมและจริยธรรม  คงเคยได้ยินคำสอนคำเตือนนี้มาบ้างที่ท่านพุทธทาสพร่ำสอนว่า “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ”

            นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยยุคปัจจุบันนี้เข้ามาสู่ยุค “กลียุค” ยุคที่สามในสี่ส่วนของคนนั้นประกอบไปด้วยคนผิดศีลธรรมไม่สนใจคำสอนของศาสนา และหากในสามส่วนนั้นมีปริมาณของนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ด้วยแล้วโลกาจะวินาศไว้ขึ้น

                พุทธวิธี มีว่า “สิ่งใดเกิดแต่เหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไปเพราะเหตุ” เป็นใจความที่พุทธองค์ทรงสอนว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นย่อมมีมาจากเหตุหาเหตุให้พบแล้วทำลายเหตุนั้นเสียก็จะไม่เกิดเหตุ เมื่อโลกจะถึงคราวจะวินาศก็เพราะคนไม่มีความละอายไม่มีความเกรงกลัวต่อบาปต่อความชั่วนี้คือเหตุแห่งโลกาวินาศ

                ธรรมต่อไปนี้เป็นคุณธรรมที่จะรักษาโลกไว้เรียกว่า “ธรรมคุ้มครองโลก ๒ ประการ” ประกอบไปด้วย หิริ และ โอตตัปปะ

                หิริ และ โอตตัปปะ  คือ “ธรรมคุ้มครองโลก”

                เป็นธรรมที่จะทำให้โลกมีระเบียบสังคมมีระเบียบเรียบร้อยไม่เดือดร้อนสับสนวุ่นวาย  หากสงสัยจะใช้จริยธรรมใดเพื่อให้เป็นไปตามเจตนาแห่งรัฐธรรมณูญดี  ก็โปรดนำ หิริ และ โอตตัปปะ ไปพิจารณา

            หิริ  (อ่านว่า  หิ-ริ , หิ-หริ)  แปลว่า  ความละอาย,ละอายใจต่อการทำชั่ว

                โอตตัปปะ  (อ่านว่า  โอตตัปปะ)  แปลว่า  ความกลัวต่อบาป,เกรงกลัวต่อความชั่ว

                หิริ  ก่อนทำสิ่งใดๆหากสิ่งนั้นรู้อยู่ว่าเป็นความชั่ว  ผิดศีลธรรม  ผิดกฎหมายบ้านเมือง  ต้องรู้สึกละอายแก่ใจ  หรือละอายต่อสิ่งที่เป็นความชั่วหรือบาปนั้นๆ  รวมถึงอายต่อการกระทำที่จะละเว้นไม่ทำความดีอีกด้วย  ก่อนทำลงไปต้องคำนึงว่าเราเป็นผู้มีเกียรติ์  มีศักดิ์ศรีโดยเฉพาะนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของปวงชน  ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐต้องอายที่รับภาษีของประชาชนอย่าทำให้ประชาชนผิดหวังคำนึงไว้ว่า “กินภาษีเขามาทั้งปีทำความดีบ้างหรือยัง?”  คำนึงไว้เสมอว่าเรามีการศึกษา มีตระกูล  แม้นคิดละอายไว้เสมอก็จะไม่ลงมือทำชั่วนั้นๆ

            โอตตัปปะ  เป็นการปฏิบัติควบคู่กับหิริ  หากจะทำความชั่วก็ขอให้คิดถึงผลของการทำนั้นเป็นอย่างไร  นึกถึงนรกที่คนทำชั่วแล้วต้องรับกรรม  หากไกลเกินไปก็ดูที่ปัจจุบันคนทำผิดได้รับโทษอย่างไรบ้างบางรายโทษถึงประหารชีวิต

                แม้ผลของการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมณูญจะออกมาอย่างไรนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้มีสิทธิลงคะแนน  แต่หลายๆคนในโลกนี้รวมถึงในประเทศไทยโดยเฉพาะนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีความละอายและความเกรงกลัวหากจะไม่รับธรรมสำหรับคุ้มครองโลกคือ  หิริ และ โอตตัปปะ ทั้งสองนี้  หากปฏิเสธตัวท่านเองก็จะอยู่อย่างไร้ความสุขก็ทราบอยู่แล้วมิใช่หรือยุคนี้ “กลียุค”         

               

ผลิตผลรัฐศาสตร์ฯ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที