Inside ชีวิต : \"ชม ก่อน สอน\"
Inside ชีวิต : "ชม ก่อน สอน"
มีผู้ทุกข์มาปรึกษาเรื่องผิดหวังและเครียดมาก เมื่อจับได้ว่าลูกน้องหรือคนใกล้ตัวทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่เคยไว้ใจและเคยดีๆ กันมาก่อน เช่น มาทำงานสายบ่อยๆ ขโมยเวลาทำงานทำเรื่องส่วนตัว ใช้ความคุ้นเคยเอาเปรียบในแง่ธุรกิจหรือการขายสินค้าส่วนตัว หรือมีข้อบกพร่องในการทำงานอื่นๆ เขาเคยจับได้ เคยตำหนิว่ากล่าวอย่างแรง เพราะผิดหวังมาก เข้าข่ายรักมาก แค้นมาก ไม่น่าจะทำกันได้ ผลออกมาปรากฏว่าลูกน้องลาออกหมด คนที่เคยเป็นมิตรคุ้นเคยก็หลีกหายจากไป และหาทางนินทาลับหลังให้เจ็บปวดยิ่งขึ้น เขาบอกว่า เขาทนไม่ได้ที่จะถูกหลอก หรือถูกเอาเปรียบจากคนใกล้ตัวหรือคนสนิท ถ้าไม่สนิทกันจะไม่คิดอะไรมากนัก แต่ถ้าเป็นคนสนิทกัน แล้วมาทำอย่างนี้ รู้สึกเหมือนตัวเองโง่ ไม่มีค่า ควบคุมคนใกล้ตัวไม่ได้ คนที่น่าไว้ใจก็ทรยศ ไม่เป็นพวก ทำให้รู้สึกตัวเองต่ำต้อย และทำให้มองคนอื่นต่ำต้อยมากขึ้นด้วย โดยทั่วไปคนที่รู้ตัวว่าถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบมักจะโกรธ เพราะเขารู้ว่าเขาถูกเอาเปรียบเหมือนตัวเองเป็นคนโง่ ทำให้ความนับถือตัวเองลดลง อีโก้ถูกทำลายด้วยความไม่เต็มใจ เขาจึงใช้กลไกปกป้องตัวเอง โดยไปลดอีโก้ของคนอื่นลง โดยเฉพาะคนที่ทำให้เขาโกรธ เขาจึงดุด่า ว่ากล่าวหรือต่อว่ามากเกินกว่าเหตุ ยิ่งเป็นคนใกล้ตัวที่เคยไว้ใจ ยิ่งเจ็บใจมาก จะต่อว่ามากเป็นพิเศษ คนที่ถูกต่อว่ามาก ก็จะรู้สึกว่าเขาถูกทำร้ายตัวตนหรืออีโก้ของเขา จึงพยายามปกป้องโดยการนินทาหรือจับผิดกันต่อไป เพื่อให้รู้สึกตัวเองไม่ผิด ถ้าเราลองคุมอารมณ์หรือมีสติสักนิด อย่าเพิ่งไปทำร้ายอีโก้ของเขา แต่หาทางเลี้ยงดูอีโก้ของเขาให้อิ่มเสียก่อน แล้งจึงค่อยพูดถึงเรื่องปัญหา จะทำให้บรรยากาศดีขึ้น การยอมรับความผิดและอยากพัฒนาก็จะเกิดได้ง่ายกว่า มิตรภาพก็ไม่เสีย เช่น เรียกเขาเข้ามาพูดกันตามลำพัง พูดถึงความดีของเขาที่เคยทำมาแล้ว ที่เราประทับใจให้ชมเขาด้วยความจริงใจสัก 2-3 เรื่อง และบอกว่าเขาเป็นคนมีอนาคต เราก็ชอบเขา ตอนนั้นเขาจะรู้สึกเป็นบุญคุณที่เราชอบเขา เกิดความเป็นพวก รู้สึกชุ่มชื่นใจ อีโก้พองตัว แล้วจึงค่อยบอกเขาไปว่า แต่มีบางอย่างที่เขาทำไม่เหมาะสม ให้ยกตัวอย่างเหล่านั้นไปด้วย ถ้าเขาปรับปรุงแก้ไขได้ เขาจะกลายเป็นคนดีมากขึ้น และเราจะรักเขามากขึ้น เขาจะยอมรับผิดและอยากแก้ไขข้อบกพร่องได้ง่าย พร้อมจะพัฒนาตัวเอง โดยเราอาจจะสร้างเงื่อนไขว่าถ้าเขาทำไม่ได้หรือทำผิดอีก จะให้เราลงโทษอย่างไรเป็นขั้นตอนไป อาจให้เขียนไว้เป็นหลักฐานก็ได้ (ในกรณีเป็นลูกน้อง) เท่ากับเขามีส่วนพิจารณาการลงโทษของเขาด้วยตัวของเขาเองด้วย มนุษย์มีความต้องการหลายๆ อย่าง รวมทั้งความต้องการเป็นคนสำคัญ และอยากพัฒนาตัวเองด้วย มนุษย์จึงต้องการการชมเชย และต้องการการชี้แนะและถูกลงโทษอย่างเหมาะสม โดยตัวของเขามีส่วนพิจารณาความผิดนั้นด้วย เขาจะกลายเป็นพวก เป็นมิตร และจะมีกำลังใจทำความดี พร้อมจะอยู่ใกล้ชิดเราต่อไป ถ้าเขาทำผิดอีกซ้ำๆ ก็ให้พิจารณาเป็นรายๆ ไปตามเหมาะสม เลิกกันเสียทีเถิด ที่เวลาใครทำผิดแล้วเราชอบตำหนิ จับผิด แล้วก็สอนสั่งซ้ำๆ เพราะเขาไม่ชอบ จะยิ่งแก้ตัวและทำผิดซ้ำๆ อีก และจะหันมาจับผิดเราด้วย ลองมาใช้วิธีจับถูก โดยชมเขาเสียก่อน แล้งจึงสอนเขาดังกล่าวมาแล้ว จะได้ผลดีกว่า การชมก่อนสอนนี้ ใช้ได้กับลูกน้อง ลูก คนใกล้ตัว แฟน คนรัก มิตรสหาย รวมทั้งกับตัวของเราเองด้วย จะเกิดพลังของการอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพราะทุกคนรักตัวเอง อยากได้น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตจากคำชม เกิดความหวังว่าจะทำสิ่งดีๆ ได้อีก พร้อมทั้งอยากได้แนวทางแก้ไขพัฒนาชีวิตต่อไป เพื่อตัวเองจะได้ดีขึ้นกันทั้งนั้น รวมทั้งตัวเราเองด้วย! |
|
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที