เดินทางสะพายกล้อง

ผู้เขียน : เดินทางสะพายกล้อง

อัพเดท: 17 มิ.ย. 2007 01.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 18606 ครั้ง

ไฟป่า ฝุ่นควัน หมอกควัน ปัญหาที่จัดการได้โดยชุมชน


แนวกันไฟป่าชุมชน



“
ไฟป่าที่ไหม้ทุกครั้ง สร้างความเสียหายให้กับผืนป่าชุมชนเรามาก พวกเราไม่ปฏิเสธถึงประโยชน์ของไฟป่าที่สร้างความสมดุลของระบบนิเวศป่า แต่ความรุนแรงที่ทวีคูณขึ้นของไฟป่าในภาวะวิกฤติโลกร้อนปัจจุบันทำลายป่าต้นน้ำของเรามากขึ้น กระทบถึงวิถีชีวิตของคนเคียงป่า และทรัพยากรป่าอย่างยิ่ง  พวกเราจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันไฟป่าด้วยตนเองมากขึ้น”



         
ลุง พัฒน์ ขันสลี ประธานเครือข่ายป่าชุมชน อ.ปัว จ.น่าน ได้กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง และเล่าย้อนอดีตให้เราฟังว่า  ในหมู่บ้านนาคำ ต.ศิลาเพรช อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ลุงอาศัยอยู่ทั้งชีวิต เมื่อ 50 ปีที่แล้วในป่าบริเวณหมู่บ้านเคยมีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กินกับป่าอันสืบทอดมานาน โดยการทำไร่แต่ละปีมีการเผาป่าทุกครั้ง จนกระทั้งเมื่อปีพ.2520 ได้มีการพูดคุยกันในชุมชนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำในหมู่บ้าน เนื่องจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย จึงได้เลิกเผาป่าทำไร่หมุนเวียนมาทำนาในที่ลุ่มน้ำแทน และได้มีการฟื้นฟูป่าร่วมกัน โดยมีการกำหนดเขตป่าชุมชนภายในหมู่บ้าน มีกฏระเบียบร่วมกันในการดูแลรักษาป่า  และตั้งคณะกรรมการรักษาป่าชุมชนขึ้น 



    นอกจากนี้ชาวบ้านบ้านนาคำยังมีการจัดการไฟป่าร่วมกัน โดยตั้งแต่ปี
2541 เป็นต้นมาได้มี การทำแนวกันไฟร่วมกันภายในป่าชุมชนเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร กว้าง 8 เมตร  ครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านกว่า  9,000 ไร่เป็นประจำทุกปี

“เดิมทีเดียวชาวบ้านมีการทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟป่าลุกลามเข้าเขตบ้านอยู่แล้ว โดยแต่ละบ้านก็จะทำแนวกันไฟของใครของมัน แต่พอช่วงหลังพวกเราได้รวมตัวกันทำแนวกันไฟครอบคลุมทั้งป่าร่วมกัน  โดยมีหน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยจัดการต้นน้ำ เข้ามาช่วยเหลือจัดหาอุปกรณ์และร่วมกับชาวบ้านทำแนวกันไฟร่วมกัน”


             การทำแนวกันไฟเป็นภูมิปัญญาการจัดการไฟป่าดั้งเดิมของคนเคียงป่า วิธีการทำแนวกันไฟคือการสาง หรือทำความสะอาดพื้นที่ให้โล่งเตียนเป็นแนวยาวเพื่อกำจัดเชื้อเพลิง แนวกันไฟจะสกัดไม่ให้ไฟที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ด้านหนึ่งลุกลามเข้าไปอีกฟากหนึ่ง ซึ่งสามารถลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งในระหว่างการกวาดใบไม้อาจมีการจุดไฟเผาหญ้าแห้งเป็นระยะๆเพื่อกำจัดวัชพืชไปด้วย  การทำแนวกันไฟมักจะทำช่วงต้นฤดูแล้ว ประมาณเดือนกุมภาพันธ์
– มีนาคม หรือบางแห่งทำซ้ำอีกในช่วงเดือนเมษายนหากปีนั้นมีความแห้งแล้งมาก

 “ บ้านนาคำ มี 189 ครัวเรือน หลากหลายชาติพันธุ์ทมีทั้ง ไทลื้อ คนลั๊วะ ปะกายอ คนพื้นเมือง ซึ่งทุกคนล้วนใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากป่าทั้งนั้น ทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่าของตนเองร่วมกัน เพราะป่าเป็นของทุกคนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น  เราอยู่กับป่ามาตั้งแต่เกิด หากินหาอยู่กับป่ามาตลอด ผูกพันกันมาก ถ้าไม่มีป่าซึ่งเป็นต้นน้ำ ก็ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตเรา ดังนั้นพวกเราจึงต้องกลับมาดูแลรักษาป่าเพราะป่าให้ชีวิตกับพวกเรา  ”   






  
              การตรวจป่าก็เป็นภารกิจหนึ่งของชาวบ้านบ้านนาคำที่ทำร่วมกัน โดยชาวบ้านจะแบ่งเวรยามในการเฝ้าระวังไฟป่าภายในป่าชุมชน และผู้บุกรุกที่มาลักลอบตัดต้นไม้ในป่า หามีการแจ้งว่ามีไฟป่าเกิดขึ้น ก็จะมีการระดมอาสาสมัครเข้าไปควบคุมไฟป่าและดับไฟป่าไม่ให้ลุกลามรุนแรง โดยชาวบ้านในหมู่บ้านจะระดมเงินกันบ้านละ 100 บาทเพื่อเป็นกองทุนค่าใช้จ่ายในการจัดการป่าชุมชนของหมู่บ้าน เช่น ค่าอาหารในการเข้าไปทำแนวกันไฟซึ่งต้องใช้เวลาทั้งวัน และค่าอุปกรณ์ในการดำเนินการ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในหมู่บ้านในการดูแลรักษาป่าของชุมชนร่วมกัน

ลุงพัฒน์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ใน ปัจจุบันป่าในเขตพื้นที่ ต.ศิลาเพรช ซึ่งมีอาณาเขตหลายหมื่นไร่ มีหมู่บ้านกว่า 8 หมู่บ้านที่ทำแนวกันไฟและทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน สามารถทำแนวกันไฟได้กว่าหลายร้อยกิโลเมตร สามารถลดและควบคุมความรุนแรงของไฟป่าได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งนับว่าเป็นการจัดการไฟป่าร่วมกันโดยชุมชนอย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบและจัดการในเรื่องนี้โดยตรง  แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณและบุคลากร จึงทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง วิธีการจัดการที่ดีและยั่งยืนที่สุด คือการให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านี้โดยตรง และได้มีส่วนร่วมและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมที่เป็นพื้นฐานอันสำคัญที่ชุมชนนำมาประยุกต์ใช้จัดการป่าได้อย่างชาญฉลาดและเคารพธรรมชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนวิธีการจัดการของชุมชน ก็จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อการจัดการป่าร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที