วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 08 มิ.ย. 2007 21.58 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5523 ครั้ง

หัวหน้าเมื่อมีอำนาจ ต้องมีความองอาจจึงจะใช้อำนาจได้อย่างสมบูรณ์ เรื่อง " หัวหน้า อำนาจ ความองอาจ" คืออีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างความองอาจให้หัวหน้าได้แน่นอน


หัวหน้า อำนาจ ความองอาจ


หัวหน้า  อำนาจ  ความองอาจ

 

วิกูล  โพธิ์นาง

pd_wikulp@hotmail.com

   มิถุนายน   ๒๕๕๐          

 

 

ถ้าอำนาจมีนิยามว่า “เป็นความสามารถในการกำหนดให้ผู้อื่นเป็นหรือกระทำตามความต้องการของตนเอง แม้ว่าผู้อื่นจะขัดขืนก็ตาม” ผู้ใดมีอำนาจและใช้อำนาจไปเพื่อสร้างสรรค์นั้นเป็นการใช้อำนาจในฝ่ายของกุศลธรรม แต่ถ้าใช้อำนาจไปเพื่อสนองต่อกิเลสของตนเองและพวกพ้องส่วนนี้เป็นการใช้อำนาจในทางอกุศลธรรม

                ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม  แห่งการใช้อำนาจนั้นเราสามารถรับรู้และเห็นได้ซึ่งๆหน้า  สิ่งที่รู้สิ่งที่เห็นย่อมมีทางแก้ไข รู้ว่าผู้ใดใช้อำนาจทางดีผู้ใดใช้อำนาจทางร้ายเมื่อรู้ก็หลีกเลี่ยงหรือเข้าหาได้ตามที่ประสงค์ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิหลังของแต่ละคนไป

                แต่ผู้มีอำนาจที่น่ากลัวคือ  มีอำนาจแต่ไม่ใช้อำนาจ  ทั้งที่เป็นสิทธิหน้าที่อยู่ภายในระเบียบกฎเกณฑ์แม้แต่กฎหมายยอมรับก็ไม่นำอำนาจมาใช้  โดยปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปตามแรงเฉื่อยของเรื่องที่เกิดขึ้นเอง  คงจะถือคติที่ว่า “พูดไปสองไผเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือ “ใช้ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว” เมื่อคิดอย่างนั้นขอเพิ่มให้อีก “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม” คงจะเข้ากันได้ดี

            มีอำนาจแต่ไม่ใช้ก็ไร้ค่า  เป็นเหตุให้องค์การเสียโอกาสพัฒนา  คนในองค์การขาดทุนชีวิตเพราะเสียโอกาสที่จะพัฒนาตนเช่นกัน  เมื่อนับเป็นปริมาณมากกว่าผู้มีอำนาจหลายเท่า    บรรยากาศแบบนั้นทุกคนจะอยู่อย่างอกสั่นขวัญแขวนขาดกำลังใจ  ก็ด้วยว่าไม่มีใครนำอำนาจมาพิจารณาสิ่งถูกสิ่งผิดให้คุณให้โทษตามควรแก่เหตุ

                หลายๆองค์การ  โดยเฉพาะผู้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าที่มีโอกาสใช้อำนาจแต่ไม่ใช้นั้นเป็นเพราะอะไร ก็เพราะมีแต่ไม่ใช้หรือไม่กล้าใช้นั่นเอง บ่อยครั้งที่ผู้เป็นลูกน้องกล่าวว่า “คุยกับหัวหน้าไม่เข้าใจ” จะเข้าใจได้อย่างไร เมื่อเป็นคนเคยเก่ง เก่งเมื่ออดีตจากนั้นก็ไม่ได้ค้นคว้าพัฒนาตนเองเลย “ไม่ฟัง ไม่คิด ไม่ถาม ไม่เขียน” หัวใจนักปราชญ์แหว่งเว้า

            โลกาภิวัฒน์เด็กรุ่นใหม่การศึกษาสูงขึ้น เรียนรู้มากขึ้นเข้ามาเป็นลูกน้องวัยวุฒิน้อยกว่า  แต่คุณวุฒิสูงกว่ามาเจอหัวหน้าอัตตาสูงละก็คลื่นภาษาไม่ตรงกันแน่  จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความอึดอัดขัดแย้งแล้วแยกทางกลายเป็นทางใครทางคุณ  เสียคนดีๆไปเยอะมาก

                ไม่รู้จึงไม่กล้าถึงกล้าก็กล้าๆกลัวๆ  เมื่อหัวหน้าไม่รู้ถูกหรือผิดไม่กล้าถามใครเพราะไม่รู้จะถามอย่างไร  อำนาจมีจึงนำประยุกต์ใช้ไม่ได้เลย  สุดท้ายกลายเป็นอำนาจที่ว่างเปล่าแบบนี้ก็เป็นความสูญเปล่าเช่นกัน

                ปัญหานี้แก้ไขได้ถ้าหัวหน้าแบบที่ว่าไม่มีอัตตา  โดยองค์การสอดส่องดูแล  ยาที่ดีคือให้การศึกษาอบรม  ปรับปรุงใหม่ดูซิว่าองค์การเราทำอะไร  มีงานอะไร  งานนั้นต้องใช้คนเท่าไร  คุณวุฒิวัยวุฒิอะไรแล้วจัดสรรให้ได้ตามนั้น  มีคนแล้วคนไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็เป็นหน้าที่ขององค์การแล้วที่จะเสริมเพิ่มให้ แต่ขอให้ใช้เส้นทางการฝึกอบรมที่เป็นวิชาการเหมาะแก่องค์การด้วย (Training Road Map) หัวหน้าเองก็ควรที่จะพัฒนาตนคู่ขนานไปด้วยอีกทาง “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คตินี้อย่าลืม

            หัวหน้าดังที่กล่าวเรียนมาข้างต้นถ้าปรับตัวได้น่ารักนะ  ที่ไม่น่ารักคือปรับตัวไม่ได้ประเภทนี้ต้องบอกว่าเป็นคนที่  “ผิดปกติ” หากความผิดปกติเกิดขึ้นที่ใดต่อให้หัวหน้างานสมบูรณ์แบบเก่งงาน เก่งคน ถ้าผิดปกติแล้วแก้คืนยากกว่าหัวหน้าที่ไม่กล้าเพราะไม่รู้อีกหลายเท่านักเพราะรู้ทุกอย่างแต่ผิดปกติ

            ในองค์การต้องมีปกติ  ( เช่น )

                                ปกติของผู้บริหาร                                  บริหารจัดการทันโลกทันเหตุการณ์

                                ปกติของหัวหน้า                                    รับนโยบายมาปฏิบัติ  มีคุณธรรมจริยธรรม

                                ปกติของผู้ใต้บังคับบัญชา                    ปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างรอบคอบ 

                ถ้าในองค์การผิดปกติ ( เช่น )

                                ผู้บริหาร                                                 ตามโลกไม่ทันจัดการไม่เป็น  เก่งแต่ธุรการงานเสมียน

                                หัวหน้างาน                                            ไม่รับรู้นโยบาย  อคติลำเอียง   ทุจริตต่อองค์การ                                               ผู้ใต้บังคับบัญชา                                    ไม่รับคำสั่ง  ไม่ศรัทธาหัวหน้า   ระเบียบวินัยไม่สนใจ

               

            หัวหน้าที่ปกติย่อมองอาจกล้าที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรม  หากเป็นหัวหน้าที่ไม่ปกติแม้จะเก่งสรรพวิชาย่อมปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเกรงกลัวไปวันๆนำมาซึ่งความไม่องอาจ  ศรัทธาของมวลสมาชิกก็หดหายประสิทธิภาพประสิทธิผลของงานนั้นก็ต่ำลง  ด้วยเคยทำผิดปกปิดเอาไว้เป็นวัวสันหลังหวะหรือปากว่าตาขยิบนั่นเอง

            สูตรสำเร็จแห่งความองอาจคือศีล  เพราะศีลหมายถึงปกติและความปกติของทุกคนทุกตำแหน่งงานคือ “ศีล ”

                ศีลห้ามีด้วยกัน ๕ ข้อ ดังนี้

๑.         เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวง

๒.        เว้นจากการลักทรัพย์ เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

๓.        เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

๔.        เว้นจากการพูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด

๕.        เว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

 

หากผู้ใดมีครบรับรอง  ว่าจะยืนเดินนั่งนอนหลับสบาย ไม่เกรงภัยใดๆทั้งสิ้นงานที่ทำก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ใช้อำนาจได้เต็มที่  องอาจเหนือใครไม่มีใครมาครอบงำได้แน่  เท่านี้ท่านก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารแบบ  “ธรรมาภิบาล”

ขอฝากไว้เป็นข้อสรุปด้วยพุทธศาสนสุภาษิต

 

 

ศีล เป็นเยี่ยมในโลก 
( สีลํ โลเก อนุตฺตรํ )


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที