ในปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลฮ่องกงโดยคณะกรรมการศึกษาการพัฒนาท่าเรือและสนามบินได้ประกาศให้เกาะเช็คแล็ปก็อก (Chek Lap Kok) ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลทางทิศเหนือของเกาะลันเตา (Lantau) เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของฮ่องกง โดยโครงการนี้เป็นโครงการทางวิศวกรรมโครงสร้างและงานโยธาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในโลก
รูปที่ 1 : ผังแสดงตำแหน่งที่ตั้งโครงการพร้อมแสดงแนวเส้นทางรถไฟฟ้า สายAEL และสาย TCL
เหตุผลที่เลือกเกาะเช็คแล็ปก็อกเป็นสนามบินนานาชาติแห่งใหม่เนื่องจากอยู่ในที่ตั้งที่มองเห็นได้ง่ายทางอากาศและเป็นจุดที่สะดวกที่จะเดินทางไปได้ทั้งฝั่งเกาลูนและฝั่งฮ่องกง จากขนาดพื้นที่ของเกาะเพียง 302 เฮกตาร์ก็ได้ถมทะเล (ไม่ได้ถมหนองน้ำนะครับ จะบอกให้) จนมีขนาดพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าขนาดเดิมเกินกว่าสามเท่าเป็น 1,248 เฮกตาร์ จนกล่าวได้ว่าเป็นสนามบินนานาชาติแห่งหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
รูปที่ 2 : แผนผังสนามบินนานาชาติ Chek Lap Kok
งานดินทั้งหมดเพื่อปรับปรุงพื้นที่สำหรับใช้เป็นรากฐาน (Platform) ของสนามบิน อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเสร็จสมบูรณ์ในกลางปีพศ. 2538 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้งานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆก็ดำเนินการไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง
สนามบินนานาชาติฮ่องกงแห่งใหม่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 หรือ 9 ปีหลังจากรัฐบาลฮ่องกงได้เลือกเกาะ Chek Lap Kok เป็นที่ตั้งสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ (ในขณะที่ประเทศไทยต้องใช้เวลาถึง 37 ปีในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ) ภายหลังจากเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติ Chek Lap Kok สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 35 ล้านคนต่อปี และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 2.6 ล้านตันต่อปี (ตัวเลขในปี พ.ศ. 2542) การพัฒนาก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องรันเวย์ที่สองได้แล้วเสร็จในกลางปี พ.ศ. 2542 โดยสามารถรองรับเครื่องบินขึ้นลงได้ถึง 50 ลำต่อชั่วโมงและสามารถรองรับปริมาณเครื่องบินสูงสุดที่ 80 ลำต่อชั่วโมงในปี พ.ศ. 2583 ซี่งในช่วงเวลาดังกล่าวสนามบินจะรองรับผู้โดยสารได้เต็มความสามารถที่ 87 ล้านคนต่อปีและปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 9 ล้านตัน
การเดินทางจากสนามบินนานาชาติ Chek Lap Kok ไปยังฮ่องกงนั้นมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ร่วมดำเนินการระหว่างองค์การรถไฟฟ้าฮ่องกง Mass Transit Railway Corporation (MTRC) และ Lantau and Airport Railway (LAR) ประกอบด้วยรถไฟฟ้าสองสาย คือ สาย Airport Express Line (AEL) เป็นขบวนรถรถไฟฟ้าด่วน เชื่อมเส้นทางจากฝั่งฮ่องกงและฝั่งเกาลูนไปยังสนามบิน และ สาย Tung Chung Line (TCL) เป็นขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการหลักภายในเมืองเชื่อมระหว่างฝั่งฮ่องกง ฝั่งเกาลูน และเมืองใหม่ Tung Chung บนเกาะลันเตา และจุดสำคัญก็คือผู้โดยสารขาออกสามารถเช็คอินจากสถานีรถไฟฟ้าภายในเมืองได้ เช่นที่สถานีรถไฟฟ้าฮ่องกง (Hong Kong Station) สถานีรถไฟฟ้าเกาลูน (Kowloon Station) เป็นต้น เรียกได้ว่าส่งกระเป๋าเดินทางมาก่อนแล้วตัวตามมาทีหลัง สะดวกสบายก่อนขึ้นเครื่องบินจนนาทีสุดท้ายเลยละครับ
รูปที่ 3 : สนามบินนานาชาติ Chek Lap Kok ที่แล้วเสร็จ
จากภาพรวมของโครงการ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเห็นความแตกต่างของ เขา กับ เรา บ้างแล้วใช่ไหมครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที