วัตพล

ผู้เขียน : วัตพล

อัพเดท: 18 มี.ค. 2024 02.03 น. บทความนี้มีผู้ชม: 671325 ครั้ง

ผิวแห้งคัน ปัญหาคันยุบยิบที่รักษาให้หายได้


6 อาการข้อเข่าเสื่อมมีอะไรบ้าง? รักษาหายไหม? ผู้สูงอายุควรรู้

อาการข้อเข่าเสื่อม

อาการข้อเข่าเสื่อม เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อต่อ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่า ข้อเข่าติดขัด มีเสียง หรืออาการอื่นๆ ต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจนำไปสู่อาการข้อเข่าอักเสบ เรามักพบโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุบ่อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 50 ปี ทว่าก็มีปัจจัยอื่นทั้งด้านพฤติกรรมและพันธุกรรมที่อาจนำไปสู่การเดินอาการข้อเข่าเสื่อมในคนอายุน้อยได้

 

รู้จักโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคกระดูกและข้อ เนื่องจากเข่าเป็นอวัยวะที่มีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทั้งรับน้ำหนักตัว และรับน้ำหนักที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่างๆ อาการข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าที่ทำหน้าที่เหมือนหมอนรับน้ำหนักระหว่างข้อเข่าถูกทำลาย ทำให้กระดูกข้อต่อเสียดสีกัน นำไปสู่อาการปวด บวม บริเวณข้อเข่า รวมถึงทำให้เกิดอาการข้ออักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะมีการปวดทุกครั้งที่เคลื่อนไหว ส่งผลต่อการใช้ชีวิต

 

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมมีหลายแบบ ทั้งปัจจัยด้านสภาพร่างกายอันได้แก่ อายุ โดยเมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองลดลง รวมถึงโครงสร้างร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าผู้ชาย ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าอักเสบและข้อเข่าเสื่อมได้ ปัจจัยด้านพฤติกรรมก็ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม กิจวัตรประจำวันที่ทำให้เกิดแรงกดที่กระดูกอ่อนของข้อเข่า เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งยอง นั่งขัดสมาธิ หรือการเล่นกีฬาที่เกิดแรงกระแทกบริเวณก็เข่าก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเช่นกันนอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมหรือโรคประจำตัวเป็นโร ไขข้ออักเสบ เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ หรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อมาก่อน ก็จะมีความเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป
 

ระยะของโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ

1. ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก

อาการข้อเข่าเสื่อมระยะแรก เป็นระยะที่กระดูกผิวข้อต่อกำลังถูกทำลายแต่ยังไม่หายไปทั้งหมด ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อทำกิจกรรมที่มีแรงกดต่อเข้าเข่าเป็นระยะเวลานานๆ แต่เมื่อผ่านไปก็จะหายปวด จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และเป็นระยะที่อาการข้อเข่าเสื่อม รักษาแล้วได้ผลที่สุด
 

2. ข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง

สำหรับข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง เป็นระยะที่จะรู้สึกปวดแม้ในตอนที่ไม่ได้ใช้งานข้อเข่าและอาการปวดจะไม่ทุเลาไปเอง เนื่องจากเป็นระยะที่เกิดการอักเสบแล้ว

 

3. ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง

ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง ในระยะนี้ข้อต่อเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแล้ว ไม่สามารถหยุดอาการเสื่อมได้ มักรักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่า

 

เช็คลิสต์ 6 อาการข้อเข่าเสื่อมที่พบบ่อย

ข้อเข่าเสื่อม อาการของโรคมีอะไรบ้าง? ปกติแล้วผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการที่พบหลักๆ 6 อาการด้วยกัน ดังนี้


1. อาการปวดหัวเข่าเรื้อรัง
 

ข้อเข่าเสื่อม อาการข้อเข่าเสื่อม

อาการข้อเข่าเสื่อม มักจะเป็นอาการปวดหลังจากการใช้งานข้อเข่า เช่น ตอนที่ต้องนั่งงอเข่า เดิน วิ่ง หรือมีอาการปวดข้อเข่าเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน

 

2. ข้อเข่าตึงฝืดกว่าปกติ

อาการข้อเข่าเสื่อมระยะแรก
 

เมื่อขยับขาหลังจากไม่ได้ขยับเป็นเวลานานแล้วรู้สึกว่าไม่สามารถยืดหรือเหยียดได้สุด มีอาการตึง  ฝืด หรือในตอนเช้าหลังจากตื่นนอนมีอาการเข่าติด เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก

 

3. เข่ามีเสียงก๊อกแก๊ก

ข้อเข่าอักเสบ

อาการข้อเข่าเสื่อมที่พบได้บ่อยอีกอย่างหนึ่ง สามารถสังเกตได้ขณะเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อเหยียดหรืองอเข่า เกิดเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่า

 

4. มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อเข่า

ข้อเข่าเสื่อม อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อเข่า เมื่อนำมือไปกดที่บริเวณข้อเข่าแล้วรู้สึกเจ็บ

 

5. ข้อเข่าผิดรูปไปจากเดิม

เข่าผิดรูป

เมื่อสังเกตบริเวณกระดูกข้อเข่าแล้วมีลักษณะโก่งผิดรูป อาจบวมหรือมีปุ่มกระดูกยื่นออกมา

 

6. ข้อเข่าบวมผิดปกติ

ข้อเข่าอักเสบปวดบวม

ในกรณีที่อาการข้อเข่าเสื่อมเข้าสู่ระยะปานกลางแล้ว จะเกิดอาการอักเสบส่งผลให้ข้อเข่าบวม เมื่อแตะดูจะรู้สึกร้อนกว่าบริเวณอื่น

 

อาการข้อเข่าเสื่อมที่ควรพบแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือน หรือเป็นๆหายๆ หรือต้องรับประทานยาแก้ปวดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ก็ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อม รักษาได้ผลดีที่สุดในระยะเริ่มต้น ไม่ควรรอให้อาการรุนแรง

 

การตรวจวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

วินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

หากสงสัยและยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่สามารถรับการคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเองได้โดยการทำแบบประเมินอาการข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้น 
หรือในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยจะมีการส่งตรวจเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของกระดูกในข้อเข่าของผู้ป่วย อาจมีช่องว่างระหว่างกระดูกหรือเกิดปุ่มกระดูกรอบๆข้อเข่า แพทย์อาจสั่งให้ทำ MRI เพื่อตรวจสอบกระดูกอ่อนเนื้อเยื่อรอบข้อเข่าให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้การตรวจเลือดก็ช่วยทดสอบและตัดความเป็นไปได้ของโรคอื่นๆ 
จากนั้นแพทย์จะประเมินระดับความรุนแรงของโรคเผื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยจะใช้ระบบการให้คะแนน (scoring)

 

วิธีรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมรักษาหายไหม

ผู้ป่วยหลายคนอาจเกิดคำถามว่า เมื่อเกิดอาการข้อเข่าเสื่อมแล้ว ข้อเข่าเสื่อมรักษาหายไหม และสามารถรักษาหายได้ด้วยตนเองหรือไม่ หรือต้องเข้ารับการผ่าตัดเท่านั้น การรักษาข้อเข่าเสื่อม รักษาได้หลายวิธี ดังนี้
 

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สามารถทำได้โดยการลดละเลิกพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดแรงกดทับที่ข้อเข่ารวมถึงออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเอ็นและกล้ามเนื้อ เนื่องจากกล้ามเนื้อจะช่วยพยุงข้อเข่าทำให้รับน้ำหนักน้อยลง


2. รักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการใช้ยา

ในการรักษาโดยใช้ยามีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ป่วยที่ทรมานจากอาการปวดสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้โดยใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด


3. การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด เช่น ใช้เลเซอร์รักษา หรือทำอัลตราซาวด์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถนะร่างกายของผู้ป่วยและบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่าทั้งก่อนและหลังผ่าตัด


4. รักษาข้อเข่าเสื่อมทางชีวภาพ

แพทย์จะใช้วิธีฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าหรือสารสกัดจากเลือดที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติของผู้ป่วยเอง Platelet Rich Plasma (PRP) เข้าไปที่บริเวณข้อเข่าเพื่อลดอาการฝืดและบรรเทาอาการปวด

5. ผ่าตัดโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการส่องกล้อง

วิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก ข้อเข่าล็อก หรือหมอนรองข้อเข่าขาด แพทย์จะผ่าตัดโดยใช้กล้องวิดีโอขนาดเล็กเชื่อมต่อสัญญาณกับจอภาพสอดเข้าไปในข้อเข่าเพื่อให้เห็นส่วนต่างๆในข้อเข่า ซึ่งวิธีนี้แพทย์จะพิจารณาใช้เป็นกรณีไป

6. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

มี 2 วิธีคือผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนและผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด วิธีนี้จะช่วยเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ลดอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น วิธีนี้ยังใช้ได้กับผู้ป่วยโรคข้อต่อรูมาตอยด์ โรค hemophilia เก๊าท์อีกด้วย

 

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมรักษาหายได้ด้วยตนเอง จริงหรือไม่? คำตอบคือไม่สามารถรักษาหายด้วยตนเองได้ ถึงแม้จะดูแลตนเองได้ดีเพียงใด ข้อเข่าที่เสื่อมไปแล้วก็ไม่สามารถฟื้นฟูจนกลับมีสภาพดีได้ แต่การดูแลตัวเองสามารถทำให้อาการปวดเข่าบรรเทาลง รวมถึงป้องกันไม่ให้ข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเดิมเร็วขึ้นได้ด้วย 
โดยวิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม มีดังนี้

- ควบคุมน้ำหนัก เพราะหากน้ำหนักตัวมากเกินไป เข่าจะต้องรับน้ำหนักตัวมาก ทำให้อาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรงขึ้น
- ไม่ทำกิจกรรมที่เป็นการใช้เข่ามากเกินไป เช่น การนั่งในท่าที่ต้องงอเข่ามากๆ เลี่ยงการเดินขึ้นหรือลงบันไดบ่อยๆ ไม่ยืนพักขาจนลงน้ำหนักที่เข่าข้างเดียวมากเกินไป และไม่ออกกำลังกายที่มีการกระโดด วิ่ง กระแทก หรืองอเข่ามากเกินไป
- เลือกเครื่องเรือนให้เอื้อต่อการถนอมข้อเข่า อย่างเช่นเลือกเก้าอี้ที่ค่อนข้างสูง ให้ระดับที่นั่งอยู่สูงกว่าเข่า เวลาลุกหรือนั่งจะได้ไม่ต้องลงน้ำหนักที่เข่ามาก รวมถึงการเลือกเตียง ก็ควรเลือกให้มีระดับสูงกว่าเข่าด้วยเหตุผลเดียวกัน ส่วนชักโครกก็ไม่ควรเลือกใช้แบบนั่งยอง
- ไม่ควรยืนหรือนั่งท่าเดิมนานๆ
- ควรเดินในที่ราบ ไม่ควรเดินในที่ที่เป็นเนิน หรือที่ที่พื้นผิวขรุขระ ไม่สม่ำเสมอ หากเดินในที่ราบแล้วยังรู้สึกเจ็บเข่า ควรใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยพยุงตัวขณะเดิน
- ไปพบแพทย์เป็นประจำตามนัด เพื่อติดตามอาการ หากอาการแย่ลงจะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

 

แนวทางป้องกันอาการข้อเข่าเสื่อม

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี เพื่อป้องกันไม่ให้เข่ารับน้ำหนักตัวมากเกินไปจนเสี่ยงเกิดอาการข้อเข่าเสื่อม
- ไม่ควรยกของหนักเป็นประจำ
- ไม่ควรทำกิจกรรมที่ใช้เข่ามากเกินไป อย่างการนั่งงอเข่าเป็นประจำ
- ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าและต้นขา เพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยพยุงน้ำหนักตัว ไม่เป็นภาระกับเข่ามากเกินไป
- ควรออกกำลังกายแต่พอดี หากออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณเข่าบาดเจ็บ หรือเข่าได้รับแรงกระแทกมากเกินไป ก็อาจจะเสี่ยงเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าปกติ

 

ข้อสรุป

อาการข้อเข่าเสื่อม มักจะเริ่มเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือผู้ที่มีข้อเข่าผิดรูป สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม ควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่ามีอาการข้อเข่าเสื่อมแล้วหรือไม่ หากรู้สึกปวดเข่าบ่อยๆ ใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่หาย ก็ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อหาทางป้องกันและรักษาอาการของโรคต่อไป




บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที