เมื่อไม่นานมานี้ ประชาชนชาวอำเภอสามชุกได้จัดพิธีมหากุศลปล่อยโคและปลากว่าสี่แสนตัวขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครองสิริราชสมับัติครบ 60 ปี ซึ่งมีประชาชนพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองไปร่วมพิธีจำนวนมาก โดยจัดพิธีขึ้นบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอและหน้าตลาดเก่า 100 ปีของอำเภอสามชุก
หลังจากเสร็จพิธีปล่อยโคและปลาแล้ว ผู้เขียนก็ได้เดินเข้าไปชมในตัวตลาดเก่าอายุกว่า 100 ปีของสามชุก ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี และในแต่ละสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวที่นี่จำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
นายพงษ์วิน ชัยวิรัตน์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ เล่าให้ฟังว่า ตลาดสามชุกแห่งนี้เป็นตลาดเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในอดีตย่านนี้เคยเป็นท่าเทียบเรือและ ศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตอนหลังการคมนาคมสะดวกขึ้น เพราะมีถนนใหม่ตัดผ่านหลายสาย ทำให้การคมนาคมทางเรือซบเซาลง ส่งผลทำให้ตลาดสามชุกต้องพลอยซบเซาและเสื่อมโทรมตามไปด้วย ต่อมาชาวบ้านได้มีการรวมกลุ่มกันและมีการจัดตั้ง คณะกรรมการตลาดสามชุก ขึ้นมา เพื่อร่วมกันพัฒนาตลาดสามชุกให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง โดยในปี 2546 โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และมูลนิธิชุมชนไท ได้เริ่มดำเนินงานในเมืองนำร่อง 12 เมือง โดยสามชุกได้เข้าร่วมดำเนินการด้วย เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ชาวบ้านเกิดความเข้มแข็งและตรงกับความต้องการของชาวบ้าน โดยมีประชาชน และหน่วยงานต่างๆ เช่น เทศบาล โรงเรียน วัด เป็นต้น เป็นภาคีร่วมในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้สามชุกเป็นเมืองที่มีความสุข และน่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาตลาด และการจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น โดยการปรับปรุงบ้านไม้โบราณ 3 ชั้น ซึ่งเป็นพักของขุนจำนงจีนารักษ์ อดีตนาอากรคนแรกและบุคคลสำคัญของสามชุก ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน จากนั้นก็ร่วมกันทำกิจกรรมอื่นอีกหลายหลากรูปแบบ จนทำให้สามชุกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็เหนื่อยไปตามๆ กัน เพราะต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก และความสำเร็จเกิดขึ้นได้ ก็เพราะความร่วมมือร่วมใจกัน ความเสียสละ การทำงานเป็นทีม และการทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ประสบความสำเร็จและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีผู้คนเดินทางมาเยี่ยมเยือนอยู่เรื่อยๆ
หลังจากคุยกับประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์เสร็จแล้ว เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ อายุราว 9-12 ขวบ ก็ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทสก์น้อยพาผู้เขียนเดินชมสิ่งของต่างๆ ภายในตลาด โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ซึ่งเป็นบ้านไม้ 3 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี 2459 เป็นบ้านพักของขุนจำนงค์จีนารักษ์ อดีตนายอากรและบุคคลสำคัญของสามชุกในอดีต ต่อมาได้ตกเป็นมรดกของลูกหลาน และลูกหลานได้อนุญาตให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน เป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งบ้านหลังนี้นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมอีกด้วย
นอกจากพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านขุนจำงค์แล้ว ในตลาดสามชุกยังเป็นแหล่งขนมหวาน และอาหารอร่อยหลายอย่าง เช่น บะหมี่เจ๊กอ้าว ข้าวห่อใบบัวร้านพี่หรั่ง น้ำพริกแม่กิมลั้ง ปลาสลิดร้านพี่จิต เปิดย่างจ่าเฉิด กาแฟโบราณร้านเจ๊ชั่ง และขนมกลอจี๊ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาหารอร่อยของที่นี่
ถัดจากนั้น ก็เป็นอาคารสถานที่ต่างๆ ที่มีอายุเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เช่น โรงแรมอุดมโชค ร้านบุญช่วยหัตถกิจ ศาลเจ้าพ่อสามชุก ร้านขายยาจีนฮกอันโอสถ ร้านถ่ายรูปศิลป์ธรรมชาติ บ้านของเก่าไพศาลสมบัติ ยุ้งฉางโบราณ และร้านทันตกรรมโบราณตั้งซิมซ้ง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันทุกแห่งยังเปิดดำเนินการอยู่
จากที่เคยซบเซาในอดีต ต่อมาชาวชุมชนได้ร่วมกันตลาดสามชุกขึ้นมาอย่างจริงจัง และปัจจุบันตลาดแห่งนี้ได้กลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์งดงาม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการพัฒนาชุมชน ที่มีผู้คนมาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกยังได้รับรางวัล องค์กรด้านการอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา อีกด้วย
ถ้าหากผู้อ่านท่านใดมีเวลาว่าง ก็อย่าลืมลองแวะไปเที่ยวชมตลาดสามชุกดูบ้างนะค่ะ
///////////////////////////////////////////////
|