พลิกโฉมการเรียนรู้เสมือนจริงด้วย 5 เทคโนโลยีการศึกษา EdTech
ท่ามกลางความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย ความเมื่อยล้า และอุปสรรคต่าง ๆ ในการเรียนออนไลน์ อันเป็นผลพวงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 โรงเรียน สถาบัน ตลอดจนองค์กรทางการศึกษาในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ปรับตัวหรือทำอย่างไรกันบ้าง เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้ดี มีคุณค่า และเกิดประสิทธิผลยิ่งกว่าเดิม วันนี้ Starfish Labz ได้ไปส่องหลาย ๆ เทคนิคจากสถาบันหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ถูกนำมาปรับใช้และพบว่าเกิดประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวดมาให้แล้ว จะมีเทคนิคหรือเทคโนโลยีใดน่าสนใจ น่านำมาปรับใช้ในกรณีของเรากันบ้าง มาดูกันเลย
1. Microlearning หรือ Bite-Sized Lessons
บทเรียนของเรายาวเกินไปหรือเปล่า? เนื้อหาต่าง ๆ ในหนึ่งคลาสมีหลากหลายส่วนที่เด็กต้องพยายามจำและทำความเข้าใจเกินไปไหม? วิธีการนำเสนอเนื้อหาของเราซับซ้อนโดยไม่จำเป็น หรือ มันสามารถทำให้ย่อยง่ายกว่านี้ได้อีกหรือเปล่า? คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่ Microlearning หรือ Bite-Sized Learning ชวนคุณครูผู้สอนหลาย ๆ คนตั้งคำถาม Microlearning หรือ Bite-Sized Learning หมายถึง การเรียนการสอนอย่างง่ายย่อย หรือการจัดการเรียนการสอน-บทเรียนให้อยู่ในลักษณะที่ “พอดีคำ” (bite-sized) ไม่ได้มากหรือน้อยเกินไป แต่อยู่ในระดับ ปริมาณ และท่ามกลางองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กรู้สึกว่าเขาสามารถซึมซับ รับรู้และเรียนรู้ทุกอย่างได้ตามวัตถุประสงค์อย่างพอดิบพอดี
หัวใจของ Bite-Sized Learning ไม่ใช่การตัดทอนเนื้อหาที่สำคัญหรือซับซ้อน แต่คือการขยายขอบเขตหรือระยะเวลาของการเรียนรู้เพื่อให้เด็กสามารถค่อย ๆ ซัมซับเนื้อหาที่สำคัญและซับซ้อนดังกล่าวได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในบริบทของการเรียนออนไลน์หรือการต้องจดจ่ออยู่หน้าคอมตลอดเวลา การปรับเนื้อหาให้มีความสังเขปหรือย่อยง่ายกว่าเดิมหน่อยยังช่วยให้ผู้เรียนหลาย ๆ คน เช่น นักศึกษาแพทย์ของประเทศจีนในผลการทดลองและวิจัยชิ้นหนึ่ง สามารถซึมซับเนื้อหาได้ดียิ่งกว่าเดิมและยังมักรู้สึกเครียด กังวล และหงุดหงิดน้อยลงในระหว่างการเรียน
2. Gamification
Gamification หรือ การเรียนรู้ในลักษณะของเกม เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การสอนการเรียนออนไลน์ 2022 ที่ถือได้ว่ามีคุณประโยชน์และสามารถช่วยปรับสภาพแวดล้อมการเรียนและอารมณ์ของผู้เรียนได้อย่างทันตาเห็น หัวใจของ Gamification คือการปรับหรือสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนรู้ให้มีลักษณะของการมี “รางวัล” (reward) รออยู่ที่ปลายทาง มีการแข่งขันกันระหว่างเพื่อน มีความสนุกสนาน และแรงจูงใจในการเรียนรู้ โดยจากผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งศึกษาผลลัพธ์ของการบูรณาการ Gamification เข้ากับการสอนการเรียนออนไลน์ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีกิจกรรมในลักษณะของเกมรวมอยู่ด้วยช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ รู้สึกสนุกสนานในระหว่างการเรียน และยังรู้สึกเหงา เครียด และกังวลจากผลพวงของการต้องกักตัวหรืออุดอู้อยู่แต่ในบ้านจากสถานการณ์ COVID-19 ลดลง อันส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น พร้อมจะที่จดจ่อ และเรียนรู้ในแต่ละรอบของการเรียนตามลำดับ
3. Immersive Learning with Virtual Reality (VR)
ทำอย่างไรหากเด็กควรต้องได้รับการฝึกฝนทักษะในห้องแล็บ แต่พวกเขากลับต้องเรียนอยู่ที่บ้านและผ่านหน้าจอคอม? คุณครูผู้สอนหรือสถาบันจะจัดการหรือแก้ปัญหาสถานการณ์นี้อย่างไรเพื่อให้เด็กไม่สูญเสียโอกาสอันแสนสำคัญนี้ในการเรียนรู้ของพวกเขา? คำถามนี้คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก (University of Johannesburg) เผชิญและถามตัวเอง ก่อนที่ในที่สุด พวกเขาจะพบทางออก นั่นก็คือ การนำเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ เข้ามาทดแทนจุดที่ผู้เรียนและผู้สอนอาจไม่สามารถปฏิสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนสิ่ง ๆ ต่างร่วมกันได้อย่างตัวต่อตัวภายในห้องแล็บเหมือนเคย แต่สามารถทำได้ในรูปแบบใหม่และอย่างประสบความสำเร็จผ่านเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือน ด้วยเทคโนโลยี VR โลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นจะมีความสมจริงมากกว่าในแบบ AR แม้ร่างกายจะไม่ได้อยู่ในห้องแล็บจริง ๆ แต่นักศึกษาก็จะรู้สึกได้อยู่เสมอผ่านแว่น VR ที่กำลังสวมว่าพวกเขากำลังอยู่ในห้องแล็บ กำลังฝึกฝน และกำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เหมือนอย่างที่พวกเคยมีโอกาสทำในห้องเรียนจริง ๆ เหมือนเคย
4. Classroom Flipping
อีกหนึ่งเทคนิคที่เข้ามามีอิทธิพลในการเรียนออนไลน์ในยุค COVID-19 แน่นอนว่าคือโมเดลการเรียนการสอนแบบ Classroom Flipping หรือ “ห้องเรียนกลับด้าน” ในโมเดลหรือเทคนิคนี้ ประสบการณ์การเรียนรู้และการสอนในห้องเรียนของคุณครูและนักเรียนถูกพลิกหรือถูกกลับอย่างสิ้นเชิง คือ จากเดิมที่เรามักจะให้เด็กมาเรียนรู้ทุกอย่างในห้องเรียนแล้วสั่งงานหรือการบ้านให้เด็กทำมาส่งด้วยตัวเอง ใน Flipped Classroom เนื้อหาหรือพาร์ทของการบรรยายจะกลายเป็นสิ่งที่เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการอัดวิดีโอของเราหรือผ่านสื่อการสอนต่าง ๆ ที่เราเตรียมไว้ล่วงหน้าและเมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้าเรียนจริง ๆ พื้นที่ในการเรียนรู้จะไม่ได้เป็นการเน้นเพียงแค่บรรยายหรืออธิบายอีกต่อไป แต่จะเน้นไปที่การฝึกฝน, ทำกิจกรรมร่วมกัน, พูดคุย, อภิปราย และในหลาย ๆ กรณี ยังเป็นพื้นที่ให้เด็กนำการบ้านมาทำโดยมีคุณครูคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำข้าง ๆ อยู่ตลอด จุดเด่นและหัวใจหลักของโมเดล Flipped Classroom คือการลดการกินพื้นที่ของพาร์ทการบรรยายและเปิดโอกาสให้ผู้เรียน-ผู้สอนได้ปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างลึกซึ้ง สร้างสรรค์ และเน้นไปที่ประสบการณ์ความรู้สึก และความเห็นของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น การเรียนในห้องเรียนแบบ Flipped Classroom ช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกไม่เบื่อ เพราะมักจะได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ห้องเรียนให้กลายเป็นเหมือนพื้นที่ทำกิจกรรมห้องหนึ่ง ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่เพียงแค่กับเนื้อหา การบรรยาย แต่อยู่ที่การคิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์สิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้และสนใจที่นำมาอภิปรายต่อในห้องเรียน
5. Graphical Presentation
นอกเหนือจากเทคนิคและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้ว แน่นอนว่าอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ในยุคปัจจุบัน ก็คือ Graphical Presentation หรือการใช้กราฟฟิก เทมเพลต Infographics ตลอดจน Visual Aids หรือโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ ในการช่วยสอน ในเด็กเล็ก ผลการศึกษาหนึ่งพบว่า การใช้สื่อภาพและเสียง (Audio-visual media) สามารถช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน และมีแรงจูงใจในการเรียนยิ่งกว่าเคย ส่วนในเด็กโต การใช้ Visual Aids อย่างเช่น Google Slides หรือวิดีโอต่าง ๆ ตลอดจนภาพยนตร์เอง พบว่าช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ และการซึมซับเนื้อหาได้อย่างลึกซึ้ง
และนี่ก็คือ 5 เทคนิค-เทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ ที่ Starfish Labz ได้ทำการสำรวจและรวบรวมมาให้ทุกคนนั่นเอง แต่ละเทคนิคเรียกได้ว่าสามารถช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการเรียนออนไลน์ให้เด็ก ๆ ได้อย่างมีคุณค่าและความหมายเลยทีเดียว แม้บางเทคนิค เช่น การใช้ VR อาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวคุณครูหรือต้องใช้งบประมาณสูงในการนำมาใช้งานจริง ๆ แต่เทคนิคอื่น ๆ เช่น โมเดลห้องเรียนกับ Starfish Labz เชื่อว่าหากคุณครูท่านใดได้ลองค่อย ๆ ทำแล้ว จะต้องชื่นชอบและทึ่งในผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นของมันแน่นอน
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที