พื้นฐานความเชื่อของชุมชนหมู่บ้านภาคเหนือคือการนับถือผี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีแห่งธรรมชาติที่ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถดลบันดาลความเป็นไปของธรรมชาติรอบตัวได้ ผีขุนน้ำ เป็นผีที่ดูแลให้น้ำแก่ไร่นา ดังนั้นชาวบ้านจึงให้ความสำคัญโดยเลี้ยงผีขุนน้ำที่คันฝายแรกเชิงดอย การที่หมู่บ้านที่ใช้น้ำร่วมกันมาประกอบพิธีร่วมกัน เป็นการเตือนให้ชาวบ้านนึกถึงและประสานผลประโยชน์ในการใช้น้ำ และทำให้ชุมชนตระหนักในความร่วมมือกันรักษาระบบนิเวศน์ของตนเองไว้ให้ได้ | ||||
แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2548 ในพื้นที่อ.ปาย และเหตุการณ์ดินถล่มที่ต.แม่ลานา จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน และพื้นที่ไร่นาอย่างมาก จึงเกิดความตระหนักในการรักษาทรัพยากรน้ำ ดิน ป่า อย่างจริงจัง โดยได้ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ขึ้นมาเพื่อดึงการมีส่วนร่วมของผู้ที่ใช้ประโยชน์แม่น้ำปายร่วมกัน ให้หันมาร่วมมือกันในการรักษาต้นน้ำปาย โดยกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีพิธีสืบชะตาแม่น้ำปายขึ้น บริเวณริมแม่น้ำปาย บ้านตาลเจ็ดต้น หมู่ 3 ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คนจากเครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ และเจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยวในอำเภอปาย จำรูญ วาดจันทร์ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรลุ่มน้ำปาย ได้เล่าถึงสาเหตุที่เกิดอุทกภัยซ้ำซ้อนในพื้นที่ลุ่มน้ำปายว่า โดยธรรมชาติ น้ำปายจะหลากและท่วมเป็นปกติ โดยจะท่วมที่นาที่เป็นที่ต่ำอยู่ลุ่มแม่น้ำ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากแม่น้ำถูกบีบและถูกขีดขวางลำน้ำ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่ต้องใช้สารเคมี ทำให้ดินเสื่อมถูกกัดเซาะได้ง่าย พอฝนตกดินก็จะถูกชะล้างไหลไปตามน้ำ กลายเป็นตะกอนที่ทับถม ทำให้น้ำปายตื้นเขินขึ้นพอฝนตกหนัก น้ำระบายไม่ทันผลสุดท้ายจึงเกิดอุทกภัยขึ้น น้ำท่วมที่นาเรือกสวนริมแม่น้ำในฤดูน้ำหลากเป็นเรื่องปกติ เป็นวิถีธรรมชาติ แต่ปัจจุบันการกระทำของมนุษย์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งการทำลายสมดุลของธรรมชาติเช่น การขุดทรายในแม่น้ำขึ้นมา และการสร้างเกสเฮาส์หรือรีสอร์ทขวางกั้นทางน้ำ ล้วนแต่กระตุ้นให้เกิดอุทกภัยทั้งสิ้น ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่เราต้องร่วมกันแก้ไข | ||||
การสืบชะตาแม่น้ำ หรือการเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันในการรักษาทรัพยากรน้ำ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรของเรานี้ควรจะเกิดจากความร่วมมือของทุกส่วน ทั้งชาวบ้าน หน่วยงานต่างๆภาครัฐ และภาคธุรกิจ รวมทั้งการร่วมมือของคนทั้งสายน้ำ จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง สามารถป้องกันและบรรเทาภัยธรรมชาติได้ ในอนาคตการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเราจะต้องดูและทั้งระบบ ดิน น้ำ ป่า และย้อนดูประวัติศาสตร์ชุมชน ถึงการจัดการระบบลุ่มน้ำ การจัดการระบบเหมืองฝายที่มีภูมิปัญญาเป็นต้นทุนที่มีคุณค่าของชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน เราต้องรื้อระบบเก่าและฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมอันเป็นรากเหง้าแท้จริงของชาวบ้านขึ้นมา จึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที