เดินทางสะพายกล้อง

ผู้เขียน : เดินทางสะพายกล้อง

อัพเดท: 29 พ.ค. 2007 13.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7780 ครั้ง

เรื่องไกลตัวที่ควรรู้ หนึ่งในการประยุกต์ใช้แนวทางทฤษฏี"เศรษฐกิจพอเพียง"


ไร่หมุนเวียน : วิถีพอเพียงกระเหรี่ยงแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร


ไร่หมุนเวียน :
วิถีพอเพียงกระเหรี่ยงแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
ภาพโดย :  ชนิดา ธาราธร


                    23314_scan0003.jpg

จากอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เข้าไปยังเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก ด้วยเส้นทางอันทุลักทุเล รถโฟวีลอันสมบุกสมบันพาเราเข้ามายังหมู่บ้านจะแก ชุมชนชาวกระเหรี่ยงแห่งป่าทุ่งใหญ่ฯที่อยู่คู่เคียงป่าแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน สองข้างทางเข้าหมู่บ้านปรากฏภาพป่าไผ่ที่ถูกถางและเผาจนโล่งเตียน ต้นไผ่หลายร้อยต้นถูกฟันล้มระเนระนาดรอการขนออกไปจากผู้ที่มาจับจองที่ดินแห่งนี้ เพื่อเป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูกไร่หมุนเวียนตามวิถีชาวกะเหรี่ยงเคียงป่าต่อไป

                                       23314_scan0012.jpg

พ่อไทซ่า หรือ นายวิชัย ไทรสังขกมล ชาวไทยกะเหรี่ยงแห่งป่าทุ่งใหญ่ฯเล่าให้ฟังว่า การทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีทำกินอันเป็นวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงมายาวนาน โดยการทำไร่จะเพาะปลูกไร่ละหนึ่งปีต่อครั้งแล้วหมุนเวียนไปหาพื้นที่ใหม่ต่อไป ซึ่งชาวกะเหรี่ยงจะเว้นช่วงทิ้งไร่เก่าประมาณ7-8 ปี เพื่อรอให้ป่าฟื้นตัวจนสมบูรณ์ก่อนจึงจะกลับมาทำที่ผืนเดิมได้ ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนนี้ประกอบด้วยความเชื่อและภูมิปัญญาในการรักษาทรัพยากรป่าของคนเคียงป่าแฝงไว้ด้วย

  “ คนภายนอกมักจะมองกระเหรี่ยงอย่างพวกเราว่าเป็นคนทำลายป่า เผาป่าทำไร่เลื่อนลอย แต่ความจริงแล้วนี่เป็นวิถีทำกินของพวกเรา ทุกวันนี้เราอยู่กับป่า ทุกคนเป็นเจ้าของไร่ทุกไร่ และป่าร่วมกัน เวลาจะทำไร่สักผืน เราไม่ได้ทำมั่วซั่วเลื่อนลอย แต่จะเลือกป่าไผ่เป็นส่วนใหญ่ ป่าที่มีต้นไม้ใหญ่หรือป่าต้นน้ำเราจะไม่ทำ เป็นความเชื่อในการเลือกพื้นที่ทำไร่ซึ่งสืบทอดมาจากปู่ย่าตายายของเรา   ”

ในการทำไร่ของชาวกระเหรี่ยงแต่ละครั้งจะมีการประกอบพิธีขอทำไร่จากพระแม่ธรณีและเจ้าป่าเจ้าเขาก่อน โดยจะจุดธูปทำพิธีในพื้นที่บริเวณที่จะทำไร่แล้วกลับไปนอนเพื่อฝัน หากไม่มีสิ่งร้ายใดเกิดขึ้นในความฝัน รุ่งเช้าก็สามารถถางฟันต้นไผ่และเผาเพื่อทำการเตรียมดินเพาะปลูกต่อไปได้

23314_scan0004.jpg

  นอกจากนี้การเลือกพื้นที่ไร่ของชาวกะเหรี่ยงยังมีความเชื่อคือห้ามทำไร่บนที่เขาหลังเต่า หรือพื้นที่ที่มีน้ำไหลชนกันสองสาย รวมทั้งพื้นที่ต้นน้ำด้วย ซึ่งช่วงเวลาในการฟันป่าและเผาคือ เดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน เมื่อฝนแรกของฤดูโปรยลงมาเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฤดูเพาะปลูกได้เข้ามาแล้ว ชาวกะเหรี่ยงจะเริ่มหยอดเมล็ดข้าวและพืชพรรณต่างๆในไร่หมุนเวียน เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน พื้นที่เนินเขาที่เคยถูกเผาไหม้จนเป็นสีน้ำตาลดำก็จะปรากฏภาพไร่ข้าวเขียวขจีไปทั่วทั้งเขา พร้อมเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนผืนป่าแห่งนี้

การปลูกพืชพรรณในไร่หมุนเวียนหนึ่งไร่จะประกอบไปด้วยพืช 2 ชนิดคือ พืชอาหารและพืชที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งพืชอาหารหลักๆคือ ข้าวไร่ซึ่งเมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวไปแล้วก็ไม่ได้ทิ้งไร่ผืนนี้ไปเลยทีเดียว แต่จะมีการปลูกพืชผักอื่นๆในไร่ข้าวแซมไปด้วย ซึ่งสามารถเก็บกินได้ทั้งปี เช่น พริก เผือก มัน สัปปะรด กล้วย สมุนไพรต่างๆ ยาสูบ ฯลฯ และดอกไม้ที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ

ในพื้นที่ 1 ไร่จะมีพืชพรรณต่างๆมากกว่า 80 ชนิด ชาวกระเหรี่ยงสามารถใช้ในการดำรงชีวิตได้ทั้งปี  ซึ่งเป็นการทำไร่หมุนเวียนส่วนผสมที่สมบูรณ์ในการดำรงชวิตแบบพอเพียงของชาวกะเหรี่ยง ที่ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเลย เมื่อเก็บข้าวเสร็จ หญ้าต่างๆจะขึ้นมาแทนที่ และอีก1ปีต่อมา ก็จะมีต้นไผ่ขึ้นมากลับกลายเป็นป่าไผ่ที่ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง  การเพาะปลูกก็จะใช้เพียงไม้ไผ่แหลมทิ่มลงในดินเพื่อหย่อนเมล็ดไม่มีการทำลายหน้าดิน ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนเช่นนี้ถือว่าเป็นทั้งการทำเกษตรผสมผสาน และเกษตรปราณีตไปในตัวด้วย

“ วิถีชีวิตของชาวกระเหรี่ยงเป็นแบบพอเพียง อยู่กับธรรมชาติหาอยู่หากินในป่า ทำไร่ข้าวเก็บไว้กินเองทั้งปี มีไว้แบ่งปันเพื่อนบ้าน รองรับแขกที่เข้ามาเยือน มีเหลือก็เอาไปแลกเกลือ ไม่ได้ทำเพื่อขาย ผืนป่าที่ทำไร่หมุนเวียนก็จะฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ เราไม่ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีอันเป็นอันตรายต่อธรรมชาติในการเพาะปลูก ในไร่ของเราก็มีสัตว์ป่ามาอาศัยกินพืชที่ปลูกไว้ เป็นการพึ่งพาอาศัยกันทั้ง คน ป่า และสัตว์ป่า อยู่อย่างเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  ”

                      23314_scan0006.jpg

สิ่งที่ก่อทำให้เกิดความวิตกกังวลของพ่อไทซ่าในขณะนี้ คือการสืบสานวิถีทำไร่หมุนเวียนของชาวกระเหรี่ยงจะขาดหายไป เพราะนอกจากคนภายนอกไม่เข้าใจและพยายามหยุดการทำไร่หมุนเวียนของคนเคียงป่าอย่างกระเหรี่ยงแล้ว ปัจจุบันการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายได้ขยายเข้ามาในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งมีบางหมู่บ้านที่นำพื้นที่ไร่หมุนเวียนมาทำไร่ข้าวโพดเพื่อขาย โดยใช้ปุ๋ยและสารเคมี ซึ่งทำลายความสมดุลของดิน และป่า นอกจากนี้ ปัจจุบันเด็กรุ่นหลังไม่ค่อยทำไร่กันแล้ว เนื่องจากออกไปทำงานในเมือง

ดังนั้นวิถีทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นสิ่งที่ควรสืบสานให้คนรุ่นหลังได้ดำรงไว้ต่อไป เพราะถ้าเราสามารถรักษาวิถีการทำไร่หมุนเวียนที่มีภูมิปัญญาในการรักษาป่านี้ได้ก็เท่ากับว่าเรารักษาวิถีที่คนอยู่กับป่า และสัตว์ป่าร่วมกันอย่างเอื้ออาทรไว้ได้เช่นกัน



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที