วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 28 พ.ค. 2007 21.43 น. บทความนี้มีผู้ชม: 10428 ครั้ง

...ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องด้วยมนต์ ไม่ได้ด้วยกลก็ต้องคาถา...เป็นคติที่ใช้ไม่ได้ในยุคธรรมาภิบาล แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้คาถาจะมีบทใดดีไปกว่า " คาถามหาเสน่ห์"


คาถามหาเสน่ห์

“...ใครก็ไม่รักผม….ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย...”   นั่นเป็นเพลง  หากประสบปัญหาใครๆก็ไม่รัก  เป็นหัวหน้าลูกน้องก็ไม่รัก  เป็นลูกน้องก็ไม่รู้ว่าลูกพี่รักหรือเปล่า  ยิ่งเพื่อนร่วมงานรู้สึกจะหมางเมินเหลือเกิน  ถ้าเป็นอย่างนี้อย่าคิดไปจีบใครเลยหมดหวัง

                ถ้าเกิดอาการข้างต้นในที่ทำงาน  นั่นหมายถึงกำลังอยู่ในสภาวะคล้าย “ สวรรค์อยู่ในอก  นรกอยู่ในที่ทำงาน”  ไม่ดีแน่เพราะมากกว่าแปดชั่วโมงเราอยู่ในที่ทำงาน

                เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว  ขอนำเสนอคาถาที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว....ไม่เชื่ออย่าลบหลู่    ลองดูสักครั้งก็ไม่เสียหาย   คาถานี้เรียกว่าคาถามหาเสน่ห์    คาถานี้ถ้าจะให้ได้ผลมีอยู่สองขั้นตอน      คือ    หนึ่งท่องให้ได้    สองปฏิบัติตามคำแนะนำ

                หนึ่งท่องให้ได้    คาถามหาเสน่ห์มีคำท่องตามนี้   “    ทานะ    ปิยะ    อัตถะ    สมานัต  ”   

                ทานะ      =             ทาน

                ปิยะ         =             ปิยวาจา

                อัตถะ     =             อัตถะจริยา

            สมานัต  =             สมานัตตา

            สองปฏิบัติ          การปฏิบัติคาถานี้ให้ปฏิบัติเท่าที่ทำได้  ใช้ใจเป็นหลักรับรองว่าคนที่ไม่เคยรักท่านจะเปลี่ยนพฤติกรรมทางบวกทันที

                ทาน                        หมายถึงการให้   ให้ความเอื้อเฟื้อ  ให้ความรัก   ให้ความจริงใจ  ให้รอยยิ้ม   จำไว้ว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก”  ไม่จำเป็นต้องให้เงินให้ทองหลอก  ถ้าทำได้ก็ไม่ว่ากันแต่อย่าให้ลำบากตนเอง    ให้รอยยิ้มก็ได้  ให้รอยยิ้มนี่แหละง่ายดีไม่ต้องลงทุน  แต่ยิ้มต้องออกมาจากข้างใน  มาจากก้นบึ้งของหัวใจ คือคิดดีๆก่อนแล้วความคิดนั้นจะออกมาทางสีหน้าดวงตาเป็นยิ้มที่สมบูรณ์   วันนี้คุณยิ้มหรือยัง...?

                ปิยะวาจา                 หมายถึงการพูดด้วยวาจาไพเราะอ่อนหวาน    สุนทรภูท่านแต่งเป็นกลอนไว้ว่า  “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์    มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต   แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร   จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา ฯ”  ลูกน้องลูกพี่เพื่อนร่วมงานใครก็ชอบการพูดจาที่ไพเราะอ่อนหวาน แต่เมื่อพูดต้องไม่ฝืนใจตนเองจะเป็นการดัดจริตไม่เป็นตัวของตัวเองข้อสำคัญคิดให้ดีก่อนพูด  ความคิดดีจะส่งผลให้พูดดี  “ที่ไหนมีควันที่นั่นมีไฟ”  เมื่อพูดก็ อย่าพูดเท็จ  อย่าพูดส่อเสียด  อย่าพูดคำหยาบ  และอย่าพูดเพ้อเจ้อ   ลองยิ้มแล้วพูดกับใครสักคนแล้วกล่าวคำว่า “สวัสดีครับ/ค่ะ” วันแรกเขาอาจจะงง  ทำต่อไปเรื่อยๆ  คอยวัดผลเป็นระยะๆ

                อัตถจริยา               หมายถึงการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์   ทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ    ลองถามเพื่อนซิ “มีอะไรให้ช่วยไหม...?”   อะไรที่มีประโยชน์ย่อมเป็นที่ต้องการของสังคม  ต้นตาลใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่างตั้งแต่รากจรดปลาย  รากก็ทำยา  ต้นก็ทำสะพาน ยอดอ่อนก็ทำอาหารได้  คนปลูกตาลจึงไม่ทิ้งตาลไปให้เปล่าประโยชน์  เป็นคนทำได้ตั้งหลายอย่าง  หลายคนรอความช่วยเหลือจากท่านอยู่  นึกดูซิว่าเพื่อนร่วมงาน  ลูกน้อง  หัวหน้าเขากำลังรอความช่วยเหลืออะไรอยู่

                สมานัตตา               หมายถึงเป็นผู้เสมอต้นเสมอเปลาย  เป็นคนหนักแน่นไม่ลวนเลในสิ่งที่ปฏิบัติมาทั้งสามข้อเบื้องต้น  ทำให้เป็นนิสัยไม่งั้นเขาจะหาว่า “ปากหวานก้นเปลี้ยว” 

          ดังกล่าวข้างต้นเป็นคาถามหาเสน่ห์ที่ใช้ได้ผลในการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันในที่ทำงาน  หนึ่งในสี่ปัจจัยการผลิต  คือ Man  ( คน )  ถ้าคนไม่พร้อม  คนไม่รักไม่สามัคคี   คนมีความขัดข้องใจ  กลุ่มมีความขัดแย้งกันอย่างไม่สร้างสรรค์  จะใช้กิจกรรมใดมาพัฒนาองค์กรเห็นจะลำบากอย่างยิ่ง  .


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที