นระ

ผู้เขียน : นระ

อัพเดท: 06 ส.ค. 2007 15.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 534624 ครั้ง

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความหมายของ โลจิสติกส์ ก็เปลี่ยนไปตามวิธีการดำเนินธุรกิจของโลก ในยุคศตวรรษที่ 20 ในทางการทหาร หมายถึง การวางแผนและบริหารจัดการเพื่อการเคลื่อนกองทัพ กำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปโภคต่าง ๆ ส่วนในด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจ หมายถึง การวางแผนและควบคุมการเคลื่อนไหลของวัตถุดิบและผลผลิต รวมไปถึงการกระจายสินค้าสู่ตลาดจนถึงผู้บริโภค โดยมีการจัดองค์กรหรือกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสมคุ้มค่า

โดย
ดร.นระ คมนามูล Ph.D.(London)
วุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมโยธา


ความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ

ระยะนี้มีข่าวอุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนนที่น่าเศร้าสลดหลายราย โดยเฉพาะเกิดขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลที่ควรจะเป็นมงคลกับสังคมในส่วนรวม จึงถือว่ากรณีเช่นนี้เป็นความประมาทร่วมกัน ตั้งแต่รัฐบาล หน่วยงานรับผิดชอบ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรถโดยสาร และผู้ใช้บริการ เพราะไม่มีการตรวจรับรองเพื่อออกใบสำคัญสมควรเดินรถ (Certificate of Roadworthiness) ในประเด็นความปลอดภัยของตัวรถยนต์โดยสารหรือตู้รถไฟฟ้าโดยสารจากทางราชการเช่นเครื่องบินหรือเรือ สถาบันวิชาชีพทางวิศวกรรมและสถาบันอุดมศึกษาของไทยก็ยังไม่ได้ให้ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้มากนัก

กรณีรถโดยสารนั้นควรทราบด้วยว่าน้ำหนักตัวรถและน้ำหนักบรรทุกนั้นโดยปกติลงที่ล้อทั้งสองข้างไม่เท่ากัน และรถยนต์ทั่วไปก็มีข้อกำหนดขีดจำกัดของสัดส่วนน้ำหนักลงที่ล้อหน้าและล้อหลัง ซึ่งสำคัญมากเวลาเบรกหรือวิ่งบนทางที่ลาดชัน ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีอุปกรณ์หาศูนย์กลางน้ำหนักถ่วงของรถที่เรียกว่า C.G. ในทิศทางต่างๆ โดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้น ซึ่งมีห้องเก็บกระเป๋าและสัมภาระขนาดใหญ่ใต้ชั้นที่นั่งโดยสาร กรณีที่ห้องนี้ว่างหรือกระเป๋าสามารถไหลไปมาได้ ศูนย์กลางของน้ำหนักถ่วงแนวตั้งจะอยู่สูงกว่าปกติ รถจะเสียการทรงตัวง่ายขึ้นเมื่อวิ่งบนทางที่ลาดชันหรือถนนที่คดไปมา การคำนวณหาค่า C.G.ของน้ำหนักบรรทุกนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเครื่องบินในการจัดที่นั่งและโหลดกระเป๋าผู้โดยสารทุกครั้ง

สำหรับปัญหารถตู้โดยสารนั้น นับวันแต่จะบานปลาย ทั้งนี้เนื่องมาจากการปล่อยให้บ้านเมืองเจริญเติบโตโดยไม่มีโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่สมบูรณ์รองรับเป็นลำดับขั้น ซึ่งประกอบด้วยศูนย์คมนาคมในละชุมชน ระบบขนส่งมวลชนสายหลัก-สายรองและฟีดเดอร์ กอปรกับการแก้ปัญหาจราจรคับคั่งในเมืองด้วยการย้ายศูนย์ราชการและสถาบันการศึกษาต่างๆออกไปอยู่นอกเมืองแต่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมรองรับ จึงเกิดปัญหารถตู้โดยสารขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง และเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะระบบบริการรถตู้โดยสารสามารถทำหน้าที่ได้ตั้งแต่การขนส่งผู้โดยสารสายหลัก สายรอง กระทั่งฟีดเดอร์

เป็นที่ทราบกันดีว่ารถตู้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นรถโดยสารสาธารณะ มิหนำซ้ำยังดัดแปลงให้มีที่นั่งโดยสารมากขึ้น ทำให้ที่ว่างคงเหลือสำหรับความปลอดภัยที่เรียกว่า Residual space เหลือน้อยลง และที่อันตรายมากๆ คือพนักที่นั่งของรถตู้สะบัดไปมาได้มาก อีกทั้งยังพับได้อีกเพื่อการขึ้นลงของผู้โดยสาร นี่เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้โดยสารรถตู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

พูดถึงเรื่องนี้ก็น่าจะหยิบยกเรื่องความปลอดภัยของตู้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยเฉพาะสายบริการท่าอากาศยานซึ่งมีความเร็วสูงกว่าปกติ ที่ควรเอาใจใส่มากคือที่วางกระเป๋าใหญ่และที่นั่งผู้โดยสารต้องสามารถป้องกันกระเป๋าและผู้โดยสารไม่ให้ไหลไปอัดกันตายเมื่อรถหยุดกะทันหัน และจำนวนประตูทางเข้าออกรถต้องมีมากเพียงพอในยามฉุกเฉิน ที่สำคัญคือเมื่อรถเสียประตูหน้าต่างเกิดปิดตายหมด ต้องแน่ใจว่าผู้โดยสารสามารถมีอากาศหายใจได้อย่างเพียงพอและนานได้ถึงครึ่งชั่วโมงหรือมากกว่า เพราะเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอเช่นกรณีที่รถไฟฟ้าใต้ดินของรฟม.เกิดชนกัน ไม่สามารถนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงทีเพราะว่ามีนักข่าวและผู้คนไปมุงดูกันอยู่เต็มหน้าสถานีจนรถพยาบาลเข้าไม่ถึงเป็นต้น

ต้องระลึกไว้ด้วยว่ากรณีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเชื่อมโยงท่าอากาศยานนั้นเข้าข่ายการบริการนานาชาติ ผู้โดยสารชาวต่างประเทศคงเรียกร้องค่าเสียหายหนักมากถ้าเขาเกิดบาดเจ็บหรือเสียชีวิต อนึ่งใต้ที่นั่งผู้โดยสารไม่ควรเปิดโล่งเพราะคนร้ายอาจแอบซุกกระเป๋าใส่ระเบิดวางทิ้งไว้ได้ สรุปแล้วการตรวจสอบออกใบรับรองความปลอดภัยตัวรถโดยสารสาธารณะทุกชนิดเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

ดร.นระ คมนามูล 28 ธันวาคม 2553

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที