ต้อกระจก ภัยคุกคามการมองเห็นที่ไม่ควรมองข้าม!
ดวงตาเป็นสิ่งอยู่คู่กับเราและมีการใช้งานอยู่เกือบตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อการมองเห็นเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีสิ่งผิดปกติขึ้น จึงสามารถสังเกตเห็นได้อย่างง่าย ๆ ทันที ซึ่ง “ต้อกระจก” เป็นหนึ่งในอาการผิดปกติทางด้านการมองเห็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้มองเห็นน้อยลง และเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาหากไม่เข้ารับการรักษา
ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร
ต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับดวงตาของเรา โดยธรรมชาติเลนส์ตาของเราจะมีสีใส แต่เมื่อเป็นโรคนี้เลนส์ตาจะมีสีขุ่น ทำให้แสงสามารถผ่านเข้าไปในดวงตาได้น้อยลงและส่งผลต่อการรวมแสง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยทำให้เกิดอาการตามัว หรือไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ต้อกระจกเกิดขึ้นได้อย่างไร
ต้อกระจก เป็นโรคตามกาลเวลา โดยส่วนมากมักพบผู้ป่วยโรคนี้ในกลุ่มวัยสูงอายุผู้มีอายุ 50 ปีเป็นต้นไป เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการที่โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบเลนส์ตาเกิดการเสื่อมสภาพ กล่าวสรุปคือ เกิดการจากเสื่อมสภาพของเลนส์ตานั่นเอง
ปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดต้อกระจก
แม้ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการต้อกระจกจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากการเสื่อมสภาพของตาตามเวลา ดังนี้
-
อุบัติเหตุทางดวงตา เช่น ตาได้รับการกระทบอย่างรุนแรง มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในดวงตา
-
ดวงตารับแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน
-
โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ รวมถึงโรคทางตา เช่น ตาเกิดการติดเชื้อ มีการอักเสบในลูกตา
-
ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
-
ต้อกระจกที่เป็นตั้งแต่กำเนิด (มีโอกาสเป็นน้อยมาก) และกรรมพันธุ์
อาการส่งสัญญาณเตือนโรคต้อกระจก
สำหรับผู้ที่เป็นโรคต้อกระจก โดยส่วนมากจะมีอาการตามัวมากในช่วงกลางวัน และมองเห็นได้ดีมากในช่วงกลางคืน บางคนอาจมีอาการเห็นภาพซ้อน และมีค่าสายตาเปลี่ยนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ สำหรับผู้ที่มีอาการมาก การใส่แว่นอาจจะไม่ช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้น
ต้อกระจกแบ่งเป็นกี่ระยะ แต่ละระยะมีอาการอย่างไร
โรคต้อกระจก อาการจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
-
ระยะเริ่มแรก - สายตาเปลี่ยนจุดโฟกัสยากขึ้น เช่น ต้องการมองจากใกล้ไปไกล หรือมองจากไกลมาใกล้ มีอาการตามัวลงเล็กน้อย ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงเมื่อมองที่หลอดไฟจะเห็นเป็นแสงสะท้อน ทำให้ตาล้าง่าย
-
ระยะก่อนต้อแก่ - แก้วตามีความขุ่นมากขึ้นจากระยะแรก โดยดวงตาจะเริ่มมีความขุ่นจากตรงกลาง ในระยะนี้แนะนำให้ใส่แว่นเพื่อช่วยในเรื่องการมองเห็น
-
ระยะต้อแก่ - แก้วตาขุ่นมาก โดยมีการกระจายไปยังส่วนต่างๆรวมถึงแก้วตาทั้งหมด ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้แพทย์มักจะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดในระยะนี้
-
ระยะต้อสุกเกิน - แก้วตามีความขุ่นมากขึ้นจากระยะต้อแก่ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ต้อหินซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตาด้วย และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
การตรวจวินิจฉัยต้อกระจก
เมื่อพบว่าดวงตามีภาวะต้อกระจก ในระยะแรกและระยะก่อนต้อแก่ซึ่งดวงตายังไม่มีอาการหนักมากนัก นอกจากมีการมองเห็นไม่ชัด รวมถึงตามัว และเห็นแสงสะท้อนจากดวงไฟ แพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นตาเพื่อช่วยการมองเห็นและตัดแสงสะท้อน แต่สำหรับผู้ที่มีอาการต้อกระจกอยู่ในระยะที่ต้อมีความแก่เป็นต้นไป ซึ่งทำให้ดวงตามีอาการขุ่นมัวมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแม้ว่าจะใส่แว่น แพทย์จะแนะนำให้รีบเข้ารับการผ่าตัด
วิธีรักษาต้อกระจก
โรคต้อกระจกจะมีวิธีการรักษาตามระยะอาการของโรค โดยแบ่งเป็น 2 วิธี โดยเป็นวิธีที่ใช้สำหรับรักษาโรคต้อกระจกระยะเริ่มต้น และวิธีที่รักษาโรคต้อกระจกสำหรับผู้ที่มีอาการหนัก
วิธีรักษาต้อกระจกระยะเริ่มต้น
สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจกระยะแรก หรือระยะที่อาการของโรคยังไม่มีรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใชีชีวิตประจำวัน ยังไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ดังนั้นแพทย์จะแนะนำการใส่แว่นตาเพื่อสามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
วิธีรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัด
ในปัจจุบัน ยังไม่มียารับประทานหรือยาหยอดยาตัวไหนที่สามารถรักษาให้โรคต้อกระจกมีอาการลดลงหรือหายขาดได้ ดังนั้น สำหรับผู้มีอาการของต้อกระจกรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดจะมี 2 วิธี คือ
-
วิธีสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ (Phacoemulsification)
เป็นการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยจะผ่าตัดเปิดแผลขนาด 3 มิลลิเมตรเพื่อใส่เครื่องมือเข้าไปสลายต้อกระจก แล้วเหลือเปลือกหลังของเลนส์แก้วตาเพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียม สำหรับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เนื่องจากมีขนาดแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก แผลจึงมีการสมานตัวอย่างรวดเร็วโดยไม่มีความจำเป็นต้องเย็บแผล และหลังจากที่ทำการสลายต้อกระจกแล้วจะสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
-
วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง
เป็นวิธีผ่าตัดดั้งเดิมในกรณีที่ต้อกระจกสุก และมีลักษณะแข็งมากจนทำให้ไม่สามารถสลายด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ได้อย่างปลอดภัย โดยแพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลความยาวประมาณ 10 มิลลิเมตรเพื่อเอาเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก เหลือเปลือกถุงหุ้มเลนส์ด้านหลังเพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่และเย็บปิดแผล
การผ่าตัดต้อกระจกพร้อมรักษาค่าสายตา
ในระหว่างเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคต้อกระจก สามารถรักษาอาการสายตาเอียงและสายตายาวพร้อมกันได้ในครั้งเดียว เนื่องจากหลังจากการผ่าตัดเพื่อนำต้อกระจกออกจะต้องนำเลนส์แก้วตาเทียมใส่เข้าไปใหม่อีกครั้ง ซึ่งเลนส์แก้วตาเทียมนั้นจะเป็นตัวที่ช่วยในการรักษาอาการสายตาเอียงและสายตายาว
สำหรับการรักษาปัญหาสายตาเอียงที่เกิดจากกระจกตามีรูปร่างผิดปกติจะใช้เลนส์ชนิด Toric IOL เพื่อแก้ปัญหาสายตาเอียง และสำหรับการรักษาปัญหาสายตายาวที่เกิดจากกระจกตามีความโค้งไม่พอจะใช้เลนส์ Multifocal IOL สำหรับแก้ปัญหาสายตายาว
หลังจากการผ่าตัดแล้ว ไม่ควรขยี้ยา ไม่ควรให้ตาโดนลมหรือสิ่งสกปรก และไม่ควรให้ตาข้างที่ผ่าตัดโดนน้ำอย่างน้อย 7 วัน ดังนั้น เมื่อต้องการทำความสะอาดใบหน้าควรใช้ผ้าเช็ดหน้าสะอาดชุบน้ำและบิดให้แห้งเช็ดหน้าแทนการใช้น้ำล้างหน้า นอกจากนี้ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบ และไปตามนัดแพทย์ ในกรณีที่เกิดอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยทันที
สามารถป้องกันตนเองจากโรคต้อกระจกได้อย่างไร
ต้อกระจก เป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุนคน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นโรคต้อกระจก เพื่อป้องกันตนเองจากโรคต้อกระจก สามารถดูแลสุขภาพของตนเองรวมถึงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดังนี้
-
ระวังดวงตาของตนเองไม่ให้ได้รับบาดเจ็บหรือการกระแทก
-
หลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์
-
สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
-
ไม่ควรใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน
-
งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา
-
พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
-
หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ
โรคต้อกระจก รักษาที่ไหนดี
ดวงตาเป็นสิ่งที่สำคัญกับร่างกายมาก หากมีข้อผิดพลาดในการรักษาเพียงเล็กน้อย จะทำให้ดวงตาเกิดความผิดปกติในการมองเห็น และอาจทำให้เกิดอาการตาบอดได้ ดังนั้น เพื่อให้ดวงตาสามารถอยู่ใช้งานได้ตลอดชีวิต การเลือกสถานที่รักษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกสถานที่รักษา คือ ความน่าเชื่อถือ เช่น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและให้การรักษาที่เหมาะสม รวมถึงความสะอาดของสถานที่ เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างปลอดภัย
ข้อสรุป
ต้อกระจก เป็นโรคที่ส่งผลต่อการมองเห็น ในระยะแรกจะเริ่มทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ มัว ไม่ชัดเจน แต่หากปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น ต้อหิน และอาจทำให้ตาของเราบอดได้ ดังนั้น เมื่อดวงตาเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามความเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อการมองเห็นหรือร่างกาย
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที