ภายหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และจักรพรรดินีโจเซฟีนตัดสินใจหย่าร้างกัน ด้วยสาเหตุที่จักรพรรดินีโจเซฟีนไม่สามารถให้กำเนิดทายาทได้ จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จึงได้สมรสครั้งใหม่กับอาร์คดัชเชสมารี หลุยส์ แห่งออสเตรีย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1810
“อาร์คดัชเชสมารี หลุยส์ แห่งออสเตรีย” (Archduchess Marie Louise of Austria) ประสูติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1791 ณ กรุงเวียนนา เป็นพระธิดาองค์โตในจักรพรรดิฟรานซิสที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Emperor Francis II of Holy Roman Empire) และจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่า (Empress Maria Theresa) พระองค์ทรงมีศักดิ์เป็นหลานของพระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ราชินีผู้โด่งดังในประวัติศาสตร์
เมื่ออายุได้ 18 ชันษา อาร์คดัชเชสมารี หลุยส์ ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งนอกจากความต้องการที่จะมีทายาทแล้ว การอภิเษกสมรสครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นสำคัญ ด้วยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ต้องการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างจักรวรรดิฝรั่งเศสกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและความยิ่งใหญ่ให้ทัดเทียมราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรป
จักรพรรดินีมารี หลุยส์ แห่งฝรั่งเศส
ภาพจาก: Pinterest
ในการอภิเษกสมรสครั้งนี้ จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้มอบของขวัญให้แก่อาร์คดัชเชสมารี หลุยส์ ว่าที่จักรพรรดินีพระองค์ใหม่ อันได้แก่ชุดเครื่องประดับซึ่งประกอบด้วยมงกุฎ 1 องค์ สร้อยคอ 1 เส้น และต่างหู 1 คู่ ทั้งหมดนี้ถูกรังสรรค์ด้วยมรกตและเพชร บนตัวเรือนที่ทำด้วยทองคำและเงิน โดยดาวเด่นของเครื่องประดับชุดนี้อยู่ที่มงกุฎซึ่งประดับประดาด้วยมรกตจำนวน 79 เม็ด แซมด้วยเพชรอีกกว่า 1,000 เม็ด (ราว 700 กะรัต)
ภายหลังจากที่จักรวรรดิฝรั่งเศสล่มสลายในปี 1814 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทรงสละราชสมบัติ และอพยพไปพำนักยังเกาะเอลบา ในประเทศอิตาลี ส่วนจักรพรรดินีมารี หลุยส์ ทรงประสงค์ที่จะเสด็จกลับออสเตรีย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองพระองค์ก็ไม่ได้พบกันอีกเลย
เมื่อครั้งเดินทางกลับมายังแผ่นดินเกิดในออสเตรีย จักรพรรดินีมารี หลุยส์ ทรงนำทรัพย์สมบัติบางส่วนกลับมาด้วย หนึ่งในนั้นคือชุดเครื่องประดับมรกตที่ได้รับเป็นของขวัญในวันอภิเษก ต่อมาเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในเดือนธันวาคม 1847 เครื่องประดับชุดดังกล่าวกลายเป็นมรดกตกทอดเรื่อยมาในหมู่สมาชิกราชวงศ์ฮัฟบวร์ก
จนกระทั่งปี 1953 เครื่องประดับชุดนี้ได้ถูกจำหน่ายให้กับ Van Cleef & Arpels กิจการเครื่องประดับชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส และด้วยขนาดและคุณภาพของมรกต กอปรกับโอกาสทางการค้าที่จะเกิดขึ้นจากเครื่องประดับเหล่านี้ Van Cleef & Arpels ได้ตัดสินใจถอดมรกตทั้ง 79 เม็ด ออกจากมงกุฎของจักรพรรดินีมารี หลุยส์ เพื่อนำไปประดับบนเครื่องประดับที่ทำขึ้นใหม่จำนวนหลายชิ้น ขณะที่สร้อยคอ และต่างหู ยังคงอยู่ในสภาพเดิม และได้ถูกนำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) ในกรุงปารีส
สร้อยคอและต่างหูมรกตประดับเพชรของจักรพรรดินีมารี หลุยส์ แห่งฝรั่งเศส
ภาพจาก: พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (https://www.louvre.fr)
สำหรับตัวมงกุฎนั้น ในปี 1962 Van Cleef & Arpels ได้ประดับเทอร์คอยส์คุณภาพดีจากเปอร์เซียจำนวน 79 เม็ด น้ำหนักรวม 540 กะรัต ทดแทนมรกตที่ถูกถอดออกไป ก่อนจะนำไปจัดแสดงเคียงคู่กับสร้อยคอและต่างหูที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
เมื่อ มาร์จอรี เมอร์ริวเธอร์ โพสต์ (Majorie Merriweather Post) นักธุรกิจ เศรษฐีนี และนักสะสมงานศิลปะและเครื่องประดับชาวอเมริกันได้เห็นมงกุฎประดับเทอร์คอยส์องค์นี้ เธอไม่รีรอที่จะได้ติดต่อขอซื้อมาจาก Van Cleef & Arpels ก่อนจะบริจาคให้กับสถาบันสมิธโซเนียน ในปี 1971
มงกุฎของจักรพรรดินีมารี หลุยส์ ที่ถูกประดับด้วยเทอร์คอยส์
ภาพจาก: สถาบันสมิทโซเนียน
ปัจจุบันมงกฎของจักรพรรดินีมารี หลุยส์ องค์นี้ ยังถูกจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน (National Museum of Natural History, Smithsonian Institute) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที