ธนัยวงศ์

ผู้เขียน : ธนัยวงศ์

อัพเดท: 09 พ.ค. 2007 08.14 น. บทความนี้มีผู้ชม: 28853 ครั้ง

มารู้จักกับแนวคิดในการกำหนดปริมาณสินค้าคงคลังกันดีกว่า


จะจัดการสินค้าคงคลังอย่างไรให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

โดย ดร. ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์


                 สินค้าคงคลัง หรือสินค้าคงเหลือ
(Inventory) เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจแทบทุกประเภท เพราะจัดเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนรายการหนึ่งซึ่งธุรกิจพึงมีไว้เพื่อให้การผลิตหรือการขายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่การมีสินค้าคงคลังในปริมาณที่มากเกินไป ธุรกิจก็จะประสบปัญหาในเรื่องต้นทุนการเก็บรักษาที่สูง สินค้าเสื่อมสภาพ หมดอายุ ล้าสมัย ถูกขโมย หรืออาจสูญหายได้ นอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียโอกาสในการนำเงินที่จมอยู่กับสินค้าคงคลังนี้ไปหาประโยชน์ในด้านอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม ถ้าธุรกิจมีสินค้าคงคลังในปริมาณที่น้อยเกินไป ก็อาจประสบปัญหาสินค้าขาดแคลนไม่เพียงพอ (Stock out) สูญเสียโอกาสในการขายสินค้าให้แก่ลูกค้า เป็นการเปิดช่องให้แก่คู่แข่งขัน และก็อาจต้องสูญเสียลูกค้าไปในที่สุด นอกจากนี้ถ้าสิ่งที่ขาดแคลนนั้นเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ การดำเนินงานทั้งการผลิตและการขายก็อาจต้องหยุดชะงัก ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจในอนาคตได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจัดการสินค้าคงคลังของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากไป หรือน้อยจนเกินไป ทั้งนี้ก็เพราะการลงทุนในสินค้าคงคลังต้องใช้เงินจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้

16707_14.jpg


              แม้ว่าการกำหนดปริมาณสินค้าคงคลังเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ แต่การพิจารณาถึงปริมาณของสินค้าคงคลังในระดับที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก จึงจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องทราบถึงสิ่งที่สามารถนำมาช่วยในการกำหนดปริมาณของสินค้าคงคลังในระดับที่เหมาะสม อันได้แก่

·   จุดมุ่งหมายหลักในการมีสินค้าคงคลัง โดยปกติแล้วธุรกิจมีสินค้าคงคลังไว้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการสะดุดหรือหยุดชะงัก แต่ในบางครั้งธุรกิจอาจมีจุดมุ่งหมายอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น เช่นธุรกิจคาดการณ์ว่าราคาสินค้ามีแนวโน้มจะสูงขึ้นในอนาคต ธุรกิจก็อาจจะทำการเก็งกำไรโดยเลือกเก็บสินค้าคงคลังในปัจจุบันเพื่อขายในราคาที่สูงขึ้นในอนาคต ปริมาณของสินค้าคงคลังจึงมีจำนวนมาก นอกจากนี้ธุรกิจอาจได้รับข้อเสนอส่วนลดเงินสดจาก Supplier โดยต้องสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากๆ ถึงจะได้รับส่วนลดเงินสดนั้น ในกรณีนี้ ผู้ประกอบการคงต้องทำการพิจารณาถึงผลดี (ส่วนลดเงินสดที่ได้รับ) และผลเสีย (ต้นทุนในการบริหารสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น) ของการรับส่วนลดนั้นเสียก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ และถ้าเลือกที่จะรับข้อเสนอส่วนลดนั้น ปริมาณของสินค้าคงคลังของธุรกิจก็คงจะเพิ่มขึ้นตามข้อเสนอที่ได้รับนั่นเอง

·   ยอดขายในอดีตของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถนำยอดขายที่เกิดขึ้นในอดีตของตนมาพยากรณ์ยอดขายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การกำหนดปริมาณสินค้าคงคลังของธุรกิจจะแปรผันโดยตรงกับยอดขายที่พยากรณ์ได้นั่นเอง ถ้าขายมาก ก็อาจต้องมีปริมาณสินค้าคงคลังในระดับค่อนข้างมาก เพื่อรองรับการขายที่พยากรณ์ไว้นั้น แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่ยังไม่มียอดขายในอดีต ก็สามารถกำหนดระดับของสินค้าคงคลัง ได้จากการประมาณการยอดขายของตน

·   การซื้อขายตามฤดูกาล (Seasonal Selling) ถ้าเป็นธุรกิจที่มีการซื้อขายตามฤดูกาล เช่นธุรกิจขายร่ม ซึ่งถ้าเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ยอดขายก็อาจมากกว่าปกติ ดังนั้นระดับของปริมาณสินค้าคงคลังในในช่วงฤดูฝนก็จะมากขึ้นตามปริมาณของยอดขายที่เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นยอดขายก็จะลดลงมาสู่ระดับปกติ ซึ่งระดับของปริมาณสินค้าคงคลังก็จะลดลงตาม

·   คุณสมบัติของสินค้า อันได้แก่ วงจรชีวิต ความคงทน ขนาด รูปลักษณ์ เป็นต้น ถ้าเป็นธุรกิจที่ขายผักหรือผลไม้ ซึ่งมีวงจรชีวิตน้อย การที่ธุรกิจจะมีปริมาณสินค้าคงคลังมากก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่นอน เนื่องจากถ้าขายไม่หมด ผักหรือผลไม้นั้นก็อาจจะเน่าเสียหายได้ในเวลาค่อนข้างเร็ว นอกจากนี้สินค้าบางชนิดแม้ว่าจะเก็บได้นาน อาจเสื่อมสภาพ หมดอายุ หรือเสียหายได้ ธุรกิจก็อาจต้องมีสินค้าเผื่อปลอดภัย (Safety Stock) เพื่อรองรับไม่ให้การขายสะดุดลงได้

·   การแบ่งประเภทของสินค้า ในบางครั้งธุรกิจอาจมีการผลิตสินค้าหลายชนิดสำหรับขาย บางอย่างอาจขายได้มาก บางอย่างอาจขายได้ค่อนข้างน้อย ผู้ประกอบการก็อาจแบ่งประเภทของสินค้าในสายการผลิตของตนตามปริมาณการขายออกเป็น สินค้าประเภทที่มีความสำคัญมาก ซึ่งสามารถขายได้เป็นจำนวนมาก สินค้าที่มีความสำคัญปานกลาง ขายได้ในระดับปานกลาง และสินค้าที่มีความสำคัญน้อย เพราะขายได้น้อย หลังจากนั้นจึงกำหนดปริมาณของสินค้าคงคลังตามความสำคัญของสินค้าแต่ละประเภท เช่น สินค้าที่มีความสำคัญมาก ขายได้มาก ก็ควรมีปริมาณของสินค้าคงคลังมาก สินค้าที่มีความสำคัญน้อย ขายได้น้อย ก็ควรมีปริมาณของสินค้าคงคลังน้อย เป็นต้น

·   ความนิยมในตัวสินค้า ถ้าธุรกิจมีสินค้าประเภทล้าสมัยไม่เป็นที่นิยม ปริมาณสินค้าคงเหลือของสินค้าชนิดนี้ก็ควรจะมีปริมาณน้อยกว่าสินค้าประเภทอื่นในสายการผลิตของธุรกิจนั้น นอกจากนี้ความนิยมของลูกค้ายังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นสำหรับกรณีที่ธุรกิจมีสินค้าที่เป็นที่นิยม ติดตลาด และมีแนวโน้มว่าจะขายได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจจึงควรต้องพิจารณาถึงการมีสินค้าเผื่อปลอดภัยในการกำหนดปริมาณของสินค้าคงคลังของตนด้วย เพื่อป้องกันการขาดแคลนสินค้าซึ่งจะนำมาซึ่งการสูญเสียลูกค้าในที่สุดนั่นเอง

·   ความไม่แน่นอนในการจัดส่งสินค้าของ Suppliers ในบางครั้งธุรกิจอาจต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจาก Suppliers ซึ่งโดยปกติจะมีระยะเวลาการสั่งซื้อสินค้า (Lead Time) ที่ค่อนข้างแน่นอน แต่เมื่อถึงเวลาการจัดส่งวัตถุดิบจริงอาจมีความล่าช้าเกิดขึ้น ทั้งนี้อาจเกิดจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุรถขนส่งชนกันขึ้น ดังนั้นในการกำหนดปริมาณของสินค้าคงคลัง ผู้ประกอบการก็ควรจะต้องมีสินค้าเผื่อปลอดภัยเก็บไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก และสูญเสียโอกาสในการขาย อันอาจเกิดจากความไม่แน่นอนของการจัดส่งสินค้านี้

·   การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการบริหารสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะในด้านการสื่อสาร และการดำเนินรายการทางการค้ากับลูกค้า ทั้งนี้เพราะหากการสื่อสารผิดพลาด ธุรกิจก็จะเสียโอกาสในการขายสินค้าให้แก่ลูกค้า อันเนื่องมาจากขายสินค้าผิดประเภท ขายสินค้าไม่ตรงตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ หรืออาจไม่มีสินค้าสำหรับขาย นอกจากนี้หากการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อจากลูกค้าล่าช้า ก็จะทำให้คาดการณ์ปริมาณสินค้าคงคลังเพื่อรองรับการขายได้ยากขึ้น ดังนั้นยิ่งธุรกิจสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการสื่อสาร และการดำเนินรายการทางการค้ากับลูกค้าได้ดีเท่าไร การคาดการณ์ปริมาณสินค้าคงคลังก็จะง่ายขึ้นเท่านั้น

·   การเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ อันได้แก่ กฎหมาย ข้อกำหนด และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดทั้งโอกาส หรืออุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และส่งผลโดยตรงต่อปริมาณสินค้าคงคลังของธุรกิจแต่ละประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่ขึ้นกับนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

·   ต้นทุนในการบริหารสินค้าคงคลัง อันได้แก่ ต้นทุนในการสั่งซื้อ (Ordering Cost) และต้นทุนในการเก็บรักษา (Carrying Cost) ทั้งนี้ในการกำหนดปริมาณของสินค้าคงคลังของธุรกิจนั้นต้องคำนึงถึงต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย โดยจุดมุ่งหมายหลักก็คือ ต้องมีปริมาณของสินค้าคงคลังที่เหมาะสมและมีต้นทุนในการบริหารสินค้าคงคลังต่ำที่สุด ในที่นี้จะขอพูดถึงความหมายของต้นทุนในการบริหารสินค้าคงคลังแต่ละประเภทเสียก่อน

o   ต้นทุนในการสั่งซื้อ หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าสำหรับการผลิตและขาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ค่าโทรศัพท์ในการสั่งซื้อ ค่าเอกสารต่างๆ ในการสั่งซื้อ เป็นต้น

o   ต้นทุนในการเก็บรักษา หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจต้องจ่ายเพื่อใช้ในการดูแลเก็บรักษาสินค้าเพื่อการผลิตและขาย เช่น ค่าเช่าคลังสินค้า ค่าจัดเก็บสินค้า เป็นต้น

ถ้าปริมาณของสินค้าคงคลังของธุรกิจมาก ธุรกิจจะสั่งซื้อน้อยครั้งทำให้ต้นทุนในการสั่งซื้อลดลง แต่ต้นทุนในการเก็บรักษาจะสูงเพราะมีสินค้าจำนวนมากในคลังสินค้า ในทางตรงกันข้าม  ถ้าปริมาณของสินค้าคงคลังของธุรกิจน้อย ธุรกิจต้องสั่งซื้อมากครั้งทำให้ต้นทุนในการสั่งซื้อมากขึ้น แต่ต้นทุนในการเก็บรักษาจะต่ำเพราะมีสินค้าจำนวนน้อยในคลังสินค้า จะเห็นได้ว่าต้นทุนทั้งสองประเภทแปรผกผันซึ่งกันและกัน

                ต้นทุนในการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น          ต้นทุนในการเก็บรักษาลดลง 

ต้นทุนในการสั่งซื้อลดลง             ต้นทุนในการเก็บรักษาเพิ่มขึ้น 

สำหรับการกำหนดปริมาณของสินค้าคงคลังที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนในการบริหารสินค้าคงคลังด้วย ผู้ประกอบการต้องพิจารณา

o   ปริมาณการสั่งซื้อที่มีต้นทุนต่ำที่สุด (Economic Order Quantity) ในแต่ละครั้ง ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสามารถคำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อที่ทำให้ทั้งต้นทุนในการสั่งซื้อ และต้นทุนในการเก็บรักษานี้ได้ ก็จะทำให้ทราบว่าเมื่อสินค้าในคลังสินค้าถูกขายออกไปจนหมด จะต้องสั่งซื้อสินค้าเข้ามาใหม่ในจำนวนเท่าใดจึงจะประหยัดที่สุด

o   สินค้าเผื่อปลอดภัย เพื่อป้องกันความไม่แน่นอนอันอาจเกิดจากตัวสินค้า และการขนส่งสินค้าที่ล่าช้า

o   จุดสั่งซื้อ (Reorder point) ซึ่งบอกให้ผู้ประกอบการทราบว่าควรสั่งสินค้าเข้ามาใหม่เมื่อสินค้าคงคลังลดลงเหลือระดับเท่าใด

เมื่อทราบทั้งปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละครั้ง ปริมาณสินค้าเผื่อปลอดภัย และจุดสั่งซื้อสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการก็สามารถนำข้อมูลที่ได้มากำหนดปริมาณสินค้าคงคลังของตนได้

              แม้ว่าการจัดการสินค้าคงคลังในปริมาณที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าผู้ประกอบการได้มีการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินค้าคงคลังอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็จะสามารถกำหนดปริมาณสินค้าคงคลังของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที