GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 09 พ.ย. 2021 14.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1006 ครั้ง

ความต้องการเพชรในจีนเพิ่มสูงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและยอดขายเครื่องประดับก็เติบโตขึ้นเช่นกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในยุควิถีใหม่ ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจีนจึงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการที่ตลาดปรับตัวตามความนิยมของผู้บริโภคช่วงหลังล็อคดาวน์ ตลาดจีนมีแนวโน้มขยายตัวจากการปรับธุรกิจอย่างไรติดตามได้ในบทความนี้


การค้าเพชรและเครื่องประดับของจีนมีแนวโน้มขยายตัวสูง

             ความต้องการเพชรในจีนเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและยอดขายเครื่องประดับก็กระเตื้องขึ้นเช่นกัน จากผลสำรวจปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจเพชรของจีน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในยุควิถีใหม่ เห็นได้ว่าเมื่อจีนควบคุมสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ความต้องการเพชรและเครื่องประดับก็เพิ่มสูงขึ้น โดยตัวชี้วัดล้วนแสดงให้เห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการที่ตลาดปรับตัวตามความนิยมของผู้บริโภคช่วงหลังล็อคดาวน์

            การระบาดส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการนำเข้าและการค้าปลีกเพชรในจีนช่วงครึ่งแรกของปี 2020 แต่ผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาได้ชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ส่งผลให้ตัวเลขของปี 2020 อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ การฟื้นตัวยังคงดำเนินมาจนถึงปีนี้ โดยตัวเลขการนำเข้าและการค้าปลีกเพชรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021

            มูลค่าการนำเข้าสุทธิของเพชรเจียระไนที่ตลาดแลกเปลี่ยน Shanghai Diamond Exchange (SDE) จากเดือนมกราคมถึงกันยายน 2021 อยู่ที่ราว 2.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าตัวเลขการนำเข้ารวมของปี 2020 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดเกือบร้อยละ 60 ด้วยแนวโน้มการเติบโตในปัจจุบัน SDE คาดว่าการนำเข้าเพชรเจียระไนในปีนี้อาจมีมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าสถิติสูงสุดก่อนหน้าในปี 2018 
            Lin Qiang ประธานของ SDE ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนำเข้าเพชรเติบโตขึ้นคือการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การปลดปล่อยกำลังการบริโภคที่ถูกจำกัดไว้ด้วยสถานการณ์การระบาด และการแข็งค่าของเงินหยวนซึ่งช่วยหักลบราคาเพชรที่เพิ่มขึ้นในหน่วยเงินดอลลาร์” การนำเข้าเพชรของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การก่อตั้ง SDE ในปี 2000 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นถึงปี 2018 อยู่ที่ร้อยละ 26 ตัวเลขล่าสุดบ่งชี้ว่าตลาดเพชรของจีนกลับมาเติบโตตามปกติแล้ว
            Lin กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลจีนเพื่อปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าและการฟอกเงินช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดเพชรของจีนด้วยเช่นกัน
            ในเดือนกันยายน 2020 สำนักศุลกากรจีนได้เริ่มดำเนินโครงการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเพชรทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลต่อสินค้ารวมมูลค่า 5.9 พันล้านหยวน (855 ล้านเหรียญสหรัฐ) และทำให้มีผู้ถูกควบคุมตัวราว 150 คน โครงการต่อสู้กับการลักลอบนำเข้านี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2021
            น้ำหนักกะรัตและจำนวนเพชรที่นำเข้าผ่าน SDE เพิ่มขึ้นพอสมควรอันเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้า จำนวนผู้สมัครเป็นสมาชิกของ SDE ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตลาดแลกเปลี่ยนแห่งนี้เป็นช่องทางเดียวในจีนที่นำเข้าเพชรได้ภายใต้นโยบายการเก็บภาษีของภาครัฐ
            การนำเข้าเพชรก้อนที่ SDE มีมูลค่าถึง 49.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.24 เท่าในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2021 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019 ขณะเดียวกันสมาชิก SDE ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 386 ราย โดยกว่าครึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศ
            Pan Bin ประธาน Shanghai Diamond Trade Association ยินดีที่รัฐบาลลงมือจัดการกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย “การลักลอบนำเข้าเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจถูกกฎหมายเสมอมา เพชรที่ลักลอบนำเข้าวางจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า จึงนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าสินค้าผิดกฎหมายมีราคาต่ำกว่า แต่ก็ไม่มีการออกใบแจ้งหนี้อย่างเป็นทางการ ผู้บริโภคจึงมักไม่ได้รับการคุ้มครองหากเกิดปัญหาขึ้น มาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าช่วยสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและบรรยากาศที่ดีในตลาดค้าเพชร” Pan กล่าว อีกบทบาทหนึ่งของเขาคือการเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Shanghai Lao Feng Xiang Diamond Processing Center Co Ltd ซึ่งดูแลธุรกิจเพชรของผู้ขายเครื่องประดับชั้นนำของจีนอย่าง Lao Feng Xiang อีกด้วย
 
แนวโน้มในตลาดจีน
            สภาพเศรษฐกิจที่น่าพอใจในจีนส่งผลดีต่อยอดขายเพชร โดยการบริโภค การส่งออก และการลงทุนเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
            ในปี 2020 รัฐบาลจีนได้เริ่มดำเนินกลยุทธ์ Dual Circulation ซึ่งช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและลดการพึ่งพาการส่งออก แม้อยู่ในภาวะโรคระบาด การบริโภคก็มีสัดส่วนร้อยละ 54.3 ของอัตราการเติบโต GDP โดยรวมในปี 2020 และรัฐบาลวางเป้าหมายที่จะเพิ่มตัวเลข GDP ต่อประชากรจาก 11,000 เหรียญสหรัฐในปี 2020 ให้เป็น 3 เท่าหรือ 4 เท่าของตัวเลขดังกล่าวภายในปี 2035
            เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการเติบโตปานกลางที่ร้อยละ 5 - 6 ในช่วงหลายปีข้างหน้า ดังนั้นตลาดเพชรของจีนจึงน่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีกหนึ่งทศวรรษ
            Sanjay Kothari รองประธาน KGK Group เชื่อมั่นว่าตลาดเพชรของจีนจะก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง “เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2021 ชี้ให้เห็นว่ารากฐานทางเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาของตลาดเพชรจีนยังมั่นคงอยู่ จึงช่วยให้การนำเข้าเพชรของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง” เขากล่าว
            ผู้ค้าส่งเพชรและสมาชิก SDE อย่าง Huabi (HB) Diamond พบว่าธุรกิจเพชรปรับตัวดีขึ้นในปีนี้เช่นกัน ยอดค้าส่งในช่วง 6 เดือนแรกปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากช่วงเดียวกันในปี 2020 แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2018 และ 2019 อยู่เล็กน้อย ตามข้อมูลจากประธานบริษัท Lydia Geng
            “ผู้ค้าปลีกรายใหญ่หันไปหาเครื่องประดับสั่งทำเพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง” เธอเผย “ความต้องการสินค้าขายส่งในกลุ่มเพชรทรงกลมขนาดมากกว่า 0.30 กะรัตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ยอดขายเพชรขนาดต่ำกว่า 0.30  กะรัตกลับลดลง เพชรทรงกลมขนาด 1.50 ถึง 2 กะรัตเป็นที่ต้องการสูง รวมถึงเพชรทรงแฟนซีขนาดมากกว่า 2 กะรัตด้วย”
            Geng ระบุว่านอกจากผู้ค้าปลีกทั่วไป ความต้องการยังมาจากสตูดิโอออกแบบขนาดเล็กและร้านเครื่องประดับที่เชี่ยวชาญด้านสินค้าสั่งทำพิเศษด้วย ช่องทางออนไลน์ก็ทำผลงานได้ดีเช่นกัน “ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เราวางแผนที่จะจัดหาสินค้าให้เหมาะกับงานเครื่องประดับจากนักออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพชรทรงกลมขนาด 0.50 กะรัต, 0.70 กะรัต และ 1 กะรัต รวมถึงเพชรทรงแฟนซีขนาดมากกว่า 3 กะรัต” เธอเผย
 
ราคาเฉลี่ยในการนำเข้าเพชรเจียระไนแล้ว (เหรียญสหรัฐ/กะรัต)

 

หมายเหตุ:  ข้อมูลการนำเข้าของจีนในปี 2021 เป็นข้อมูลจากเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม
ข้อมูลการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาในปี 2021 เป็นข้อมูลจากเดือนมกราคมถึงเมษายน
ที่มา: Shanghai Diamond Exchange และสำนักสำมะโนสหรัฐ (US Census Bureau)
 
ความสัมพันธ์ของธุรกิจเพชรจีน-อินเดีย
            ตามข้อมูลจาก Gem & Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) เพชร 14 ใน 15 เม็ดได้รับการเจียระไนในอินเดีย สถานการณ์การค้าเพชรในจีนจึงสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปริมาณอุปทานเพชรในอินเดีย เพชรเจียระไนแล้วจากอินเดียจะถูกส่งมายังจีนแผ่นดินใหญ่โดยตรงหรือผ่านทางฮ่องกง
            GJEPC ระบุว่าหลังจากการล็อคดาวน์ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ความต้องการสินค้าส่งออกจากอินเดียพุ่งสูงขึ้นทั้งในกลุ่มเพชรเจียระไนและเครื่องประดับฝังเพชร ในขณะที่ความต้องการเครื่องประดับเพชรจากภายในประเทศก็กระเตื้องขึ้นเช่นกันในครึ่งหลังของปี 2020 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021
            ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2021 ปริมาณการผลิตพุ่งสูงขึ้นเต็มพิกัดเพื่อสนองความต้องการ ทว่าผลผลิตเพชรเจียระไนลดลงร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียต้องเผชิญกับการระบาดของ Covid-19 ระลอกสอง ทำให้จำเป็นต้องมีการล็อคดาวน์และเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คำสั่งซื้อใหม่ต้องถูกระงับไว้ก่อนเนื่องจากข้อจำกัดด้านลอจิสติกส์ที่ส่งผลต่อสินค้าและบุคลากร
            Kothari กล่าวว่า “ผู้ผลิตจีนต้องการกลับมาดำเนินการผลิตในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2021 แต่เนื่องจากการผลิตเพชรในอินเดียหยุดชะงัก จึงทำให้ขาดเพชรที่จะนำมาใช้ในการผลิต”
            เมื่อสถานการณ์การระบาดระลอกสองเริ่มคลี่คลายและการฉีดวัคซีนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การผลิตเพชรในอินเดียก็กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง GJEPC คาดว่าความต้องการเครื่องประดับในอินเดียจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่
            Sanjay Shah ประธานการประชุม Diamond Panel ของ GJEPC ระบุว่าความต้องการเครื่องประดับเพชรในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความต้องการที่ตกค้างในหมวดสินค้าหรูหรา และการใช้จ่ายภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ผู้บริโภคไม่ได้ท่องเที่ยวในต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2020 การชะลอตัวในฮ่องกงกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ค้าปลีกชั้นนำเปิดร้านแห่งใหม่ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่
 
 
“เรามองว่าจีนจะยังคงมีความต้องการที่แข็งแกร่งในช่วงที่เหลือของปี 2021” Shah กล่าว โดยคาดว่าเพชรเจียระไนจะยังคงระดับราคาเอาไว้ได้เนื่องจากการขาดแคลนเพชรก้อนในตลาดโลก
 
การส่งออกเพชรของอินเดียไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

ที่มา: Gem & Jewellery Export Promotion Council


 
การฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับ
            ตลาดค้าปลีกเครื่องประดับจีนก็กำลังกระเตื้องขึ้นเช่นกัน โดยเครื่องประดับเพชรรับบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวครั้งนี้ ยอดขายปลีกเครื่องประดับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2021 ของผู้ขายเครื่องประดับในกลุ่มตัวอย่างซึ่งมียอดขายต่อปีมากกว่า 5 ล้านหยวน (775,000 เหรียญสหรัฐ) คิดเป็นมูลค่ารวม 173,000 ล้านหยวน (ราว 26,800 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 53 จากช่วงเดียวกันของปี 2020 ตามข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (China’s National Statistics Bureau)
            ข้อมูลจากรายงาน Global Diamond Industry ประจำปี 2021 ของ Bain ระบุว่าตลาดค้าปลีกเพชรของจีนน่าจะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6 ในปี 2020 แต่ก็น่าจะฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ตลาดเติบโตขึ้นร้อยละ 15 - 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019 
            ในงานวิจัยอีกฉบับหนึ่งเผยว่า แม้ว่าเครื่องประดับทองล้วนยังคงเป็นหมวดสินค้าขายดีในจีน แต่เครื่องประดับเพชรก็มีฐานมั่นคงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รายงานพัฒนาการอุตสาหกรรมเครื่องประดับจีน (China Jewellery Industry Development Report) โดย Foundation of the Gems & Jewelry Trade Association of China (GAC) ชี้ว่าจีนมียอดค้าปลีกเครื่องประดับโดยรวมอยู่ที่ราว 610,000 ล้านหยวน (88,440 ล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อปี 2020
 
“ยอดรวมมูลค่าค้าปลีกเครื่องประดับในจีนปี 2020 สูงถึง 88,400 ล้านเหรียญสหรัฐ”
 
            รายงานของ GAC ระบุว่า เครื่องประดับทองล้วนมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 55.7 ของยอดขายโดยรวม ตามมาด้วยเครื่องประดับหยกซึ่งได้ส่วนแบ่งตลาดไปร้อยละ 14.8 และเครื่องประดับเพชรที่ร้อยละ 13.1 ทั้ง 3 หมวดนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของยอดค้าปลีกเครื่องประดับในจีน 
            ตามข้อมูลจาก Pan เครื่องประดับเพชรมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 ของยอดขายปลีกรวมของ Lao Feng Xiang ที่ 51,700 ล้านหยวน (7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2020 แต่ทำยอดขายคิดเป็นร้อยละ 90 ของยอดขายเครื่องประดับอัญมณี
            Lao Feng Xiang คาดว่าจะทำยอดขายปลีกเครื่องประดับรวม 60,000 ล้านหยวน (8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีนี้และคาดว่ายอดขายเครื่องประดับเพชรจะกลับมาสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากที่ทำไว้ในปี 2019
 
ยอดค้าปลีกเครื่องประดับของจีนในปี 2020
ที่มา: รายงานพัฒนาการอุตสาหกรรมเครื่องประดับจีนปี 2020 
โดย Foundation of the Gems & Jewelry Trade Association of China (GAC)
 
ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต
            ตลาดเครื่องประดับแต่งงานซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปี 2021 มีคู่แต่งงานกว่า 2.1 ล้านคู่ที่จดทะเบียนสมรสในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากช่วงเดียวกันของปี 2020 “การแต่งงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการซื้อเพชรในจีน” Stone Xu ประธานของ Zbird บริษัทผู้ขายปลีกเครื่องประดับเพชรชั้นนำกล่าว
            Xu ให้ข้อมูลว่าตลาดเครื่องประดับแต่งงานนิยมเพชร 1 กะรัต รวมถึงเพชรที่มีขนาดระหว่าง 0.30 ถึง 0.50 กะรัต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 75 ของยอดขายรวมของ Zbird โดยยอดขายจากลูกค้ากลุ่มนี้ราวร้อยละ 65 มาจากเพชรสี F-H ขณะที่ร้อยละ 80 มาจากเพชรที่ระดับความใส VS1 ถึง SI1
แบรนด์ Lao Feng Xiang
 
            Pan ก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของตลาดเครื่องประดับแต่งงานต่อภาคค้าปลีกเครื่องประดับเพชร แหวนแต่งงานประดับเพชรขนาดเล็กเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเสมอที่ Lao Feng Xiang ในส่วนของเพชรขนาดใหญ่ขึ้นมานั้น เพชร 0.50 ถึง 1 กะรัตทำผลงานได้ดี โดยเพชร 1 กะรัตมีราคาขายราว 40,000 หยวน (5,800 เหรียญสหรัฐ) ถึง 50,000 หยวน (7,250 เหรียญสหรัฐ) เมื่อจำหน่ายตามงานส่งเสริมการขาย เช่น งานแสดงสินค้าและบริการด้านการแต่งงาน ราคานี้เหมาะกับงบประมาณของคู่แต่งงานใหม่ในเซี่ยงไฮ้พอดี ในขณะที่เพชรขนาด 2 กะรัตขึ้นไปมักขายให้ผู้บริโภควัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่
            Xu จาก Zbird ชี้ว่าเพชรที่ผู้บริโภคนิยมซื้อมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเพชรทรงกลมตามปกติแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนก็มองหาเพชรรูปทรงแฟนซีกันมากขึ้น อย่างเช่น เพชรทรงหมอน (cushion cut) และเพชรทรงพรินเซส นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของเพชรอยู่แล้วก็มักนิยมซื้อเครื่องประดับเพชรเป็นของขวัญให้ผู้เป็นที่รักเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การครบรอบแต่งงาน บางคนอาจสนใจที่จะให้ของขวัญเป็นเพชรสีแฟนซี ซึ่งเพชรสีเหลืองราคาปานกลางก็ได้รับความนิยมสูงสำหรับโอกาสเช่นนี้
เครื่องประดับเพชรทรงหมอน แบรนด์ Zbird
 
            ยอดขายเครื่องประดับเพชรจะได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้นอีกจากฤดูกาลชอปปิงและเทศกาลที่กำลังจะมาถึง ความต้องการมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงในช่วง Golden September และ Silver October ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนนิยมแต่งงานกันมากที่สุด ในขณะที่วัน Double 11 หรือวันคนโสดซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน เทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่นั้นก็น่าจะเพิ่มยอดขายเพชรได้เช่นเดียวกัน
 
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
            ตลาดกลุ่มต่างๆ และช่องทางการขายที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจการค้าเพชรของจีน Mabel Wong McCormick กรรมการผู้จัดการของ Natural Diamond Council (NDC) ประจำภูมิภาคจีนกล่าวว่า NDC กำลังมุ่งเป้าหมายไปยังผู้บริโภคชาวจีนรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งตอบสนองต่อการสื่อสารทางดิจิทัลได้ดีกว่า 
            “ผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจความแปลกใหม่และนวัตกรรม ยินดีทดลองสิ่งใหม่ๆ สนใจเรื่องราคาน้อยลง และมักค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ การสร้างความเชื่อมั่นและปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ต้องอาศัยการใช้แพลตฟอร์มทางดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ การเปิดรับช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงการมอบประสบการณ์ที่เชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างราบรื่น” McCormick กล่าว
            NDC ได้ปรับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อวางโครงสร้างของสื่อออนไลน์สำหรับผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยประกอบด้วยเว็บไซต์ Only Natural Diamonds และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่าง WeChat, Weibo และ Red นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับผู้ค้าปลีกเพื่อเน้นย้ำให้ลูกค้าตระหนักถึงคุณค่าของเพชรธรรมชาติ ผู้ค้าปลีกที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์รายแรกของ NDC ในจีนแผ่นดินใหญ่คือ Chow Tai Fook Jewellery Group
            Kothari จาก KGK ระบุว่าการเติบโตของกิจกรรมการขายทางออนไลน์เป็นผลสืบเนื่องวงกว้างจากการระบาดต่อภาคอุตสาหกรรมเพชรของจีน การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มทางดิจิทัล เช่น พอดแคสต์, WeChat, Weibo, TikTok, Bilibili, Taobao, Tmall ตลอดจนกิจกรรมสำหรับสมาชิก VIP นั้นสร้างการเติบโตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
            ทว่ายอดขายทางออนไลน์ของเครื่องประดับเพชรยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าหรูหราประเภทอื่นๆ หากต้องการประสบความสำเร็จในการย้ายไปยังช่องทางดิจิทัล Kothari กล่าวว่าภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคด้วยการมอบใบรับรองเพชร การรับประกัน และการรีวิว นอกจากนี้การขายทางออนไลน์ควรมอบความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นผ่านการจัดส่งฟรีและการคืนสินค้าหรือการ “ลองก่อนจ่าย” รวมถึงอาจมีส่วนลดพิเศษสำหรับผู้ซื้อทางออนไลน์
            “ผู้ขายที่สร้างปฏิสัมพันธ์โดยใช้ทูตประจำแบรนด์, ผู้นำทางความคิดเห็น (Key Opinion Leaders: KOL) และผู้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็น (Key Opinion Consumers: KOC) ในจีน จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน” Kothari เสริม
            Kothari กล่าวต่อไปว่า ข้อจำกัดด้านการเดินทางอันเนื่องมาจากโรคระบาดส่งผลให้ชาวจีนต้องใช้จ่ายเฉพาะกับผู้ขายภายในประเทศ ทำให้ยอดขายเครื่องประดับเพชรในจีนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ร้านค้าเครือข่ายรายใหญ่มีอัตราการเติบโตของยอดขายเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 นอกจากนี้ ตลาดเพชรก็ได้ขยายไปยังเมืองระดับล่างด้วย ช่วยให้เพชรไม่เพียงเข้าถึงชนชั้นกลางแต่ครอบคลุมถึงผู้มีฐานะในวงกว้าง 

ข้อมูลอ้างอิง


1) “Bright prospect for China’s diamond trade.” by Julius Zheng. JNA. (September/October 2021: pp. 12-17).
2) “SDE: China’s Diamond Trade Headed for a Record Year in 2021.” Retrieved October 28, 2020 from https://en.israelidiamond.co.il/news/retail-and-jewelry/sde-chinas-diamond-trade/.

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที