โดย ดร. ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น หากกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ การกำหนดราคาสินค้า หรือบริการจะพิจารณาจากอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ที่เกิดขึ้นในตลาด โดยที่อุปสงค์ หมายถึง ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ณ ระดับราคาใดราคาหนึ่ง ซึ่งปกติแล้ว ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อสินค้า หรือบริการในปริมาณที่มากขึ้น หากราคาสินค้า หรือบริการนั้นถูกลง ในทางกลับกันหากราคาสินค้า หรือบริการนั้นสูงขึ้น ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อสินค้า หรือบริการนั้นในปริมาณที่ลดลง จึงพอสรุปได้ว่า ราคาสินค้า หรือบริการมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในปริมาณความต้องการซื้อสินค้า หรือบริการของผู้บริโภค โดยมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกันนั่นเอง
ในขณะที่อุปทานนั้น หมายถึง ปริมาณความต้องการขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ณ ระดับราคาใดราคาหนึ่ง ซึ่งผู้ขายมักต้องการที่จะขายสินค้า หรือบริการในปริมาณที่มากขึ้น หากราคาสินค้า หรือบริการนั้นสูงน่าจูงใจ แต่ถ้าราคาสินค้า หรือบริการถูกลง ปริมาณความต้องการขายสินค้า หรือบริการของผู้ขายก็จะลดลงตาม ดังนั้น ราคาสินค้า หรือบริการจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในปริมาณความต้องการขายสินค้า หรือบริการของผู้ขาย เช่นเดียวกับอุปสงค์ แต่ความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันแทน
คราวนี้ลองมาดูกลไกการทำงานของอุปสงค์ และอุปทานในการกำหนดราคาสินค้า หรือบริการกันดูนะครับ สมมตินะครับสมมติว่า ณ ตลาดแห่งหนึ่ง มีผู้บริโภคกล้วยไข่จำนวนมาก และมีผู้ขายกล้วยไข่จำนวนมากเช่นเดียวกัน และสมมติต่อไปอีกว่า อุปสงค์ และอุปทานของกล้วยไข่ในตลาดนี้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ราคาต่อหวี ปริมาณความต้องการซื้อ ปริมาณความต้องการขาย
5 บาท 300 หวี 100 หวี
10 บาท 200 หวี 200 หวี
15 บาท 100 หวี 300 หวี
มาดูที่ราคาหวีละ 5 บาทกันก่อนนะครับ ที่ราคานี้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อถึง 300 หวี แต่ในตลาดกลับมีความต้องการที่จะขายเพียง 100 หวี นั่นหมายความว่า สินค้าขาดตลาด (Shortage) ดังนั้นหากผู้บริโภคต้องการซื้อกล่วยไข่เพิ่มขึ้น ก็ต้องซื้อที่ราคาสูงขึ้นคือ 10 บาทต่อหวี เพื่อที่จะบริโภคกล้วยไข่ได้ตรงตามความต้องการ แต่ในทางกลับกัน กล้วยไข่ที่ราคาหวีละ 15 บาท ณ ราคานี้ผู้ขายมีความต้องการขายถึง 300 หวี แต่ผู้บริโภคกลับมีความต้องการซื้อเพียง 100 หวีเท่านั้น สินค้าจึงล้นตลาด (Excess) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ราคากล้วยไข่แพงไปในสายตาของผู้บริโภค ดังนั้นหาก ผู้ขายต้องการขายกล้วยไข่ในปริมาณที่มากขึ้น ก็ต้องทำการปรับราคาลง ทำให้ในที่สุดปริมาณสินค้าซึ่งทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายมาพบกัน ก็คือ ที่ 200 หวี ณ ราคา 10 บาทต่อหวีนั่นเอง โดยปริมาณที่ทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภค เท่ากับอุปทานของผู้ขายนี้ เราเรียกกันว่า ปริมาณดุลยภาพ (Equilibrium Quantity) และราคาที่ทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภค เท่ากับอุปทานของผู้ขาย เราจะเรียกว่า ราคาดุลยภาพ (Equilibrium Price) ครับ ซึ่งราคาดุลยภาพนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ ราคาที่ทั้งผู้บริโภค และผู้ขาย เต็มใจที่จะซื้อ หรือขายสินค้า หรือบริการในปริมาณที่เท่ากันพอดีนั่นเอง
ถึงตรงนี้คงพอสรุปได้ว่า กรณีที่สินค้าขาดตลาด หรือสินค้าล้นตลาดนั้น ก็เป็นเพราะราคาไม่อยู่ในภาวะดุลยภาพนั่นเอง ดังนั้นกลไกการทำงานของอุปสงค์ และอุปทานจะผลักดันให้ราคาที่ไม่อยู่ในภาวะดุลยภาพนี้กลับเข้าสู่ดุลยภาพ โดยปรับปริมาณความต้องการซื้อ ให้เท่ากับปริมาณความต้องการขายโดยผ่านกลไกราคา (Price Mechanism) และทำให้เกิดราคาดุลยภาพขึ้นในที่สุด แต่ว่าราคาดุลยภาพนี้ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในความเป็นจริงแล้วการกำหนดราคายังมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งไม่ได้คงที่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวของราคาในตลาด จึงทำให้กำหนดราคาดุลยภาพเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับทั้งปริมาณดุลยภาพ และราคาดุลยภาพนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดราคาสินค้า หรือบริการของตนต่อไปในอนาคตครับ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที