สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศผู้บริโภคเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก โดยคาดว่าดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures : PCE) ในการซื้อเครื่องประดับและนาฬิกาของชาวอเมริกันจะเติบโตร้อยละ 5.2 ต่อปีจนถึงปี 2025 ตามรายงานของ Freedonia Focus Reports ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจจึงเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและใช้จ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มียอดซื้อสูงจากคู่แต่งงาน/คู่หมั้นรายใหม่
ผลสำรวจล่าสุดโดย Plumb Club Industry & Market Insights จากผู้ตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ในสหรัฐอเมริการวม 1,049 ราย (ซึ่งมีอายุ 25-60 ปีและจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยมีรายได้ตั้งแต่ 75,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป) เผยแนวโน้มการซื้อเครื่องประดับที่น่าสนใจดังนี้
ปัจจัยสำคัญที่สุด: “คุณภาพ” (ร้อยละ 31) “การออกแบบ” (ร้อยละ 23) และ “เอกลักษณ์” (ร้อยละ 17) ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคที่กำลังมองหาเครื่องประดับ โดยมีเพียงร้อยละ 16 ที่มองว่า “ราคา” เป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด
อิทธิพล: ผู้ตอบแบบสำรวจ 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) ระบุว่าเว็บไซต์ของผู้ขายมีอิทธิพลเป็นอันดับ 1 นับเป็นตัวเลขที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรากฏตัวของผู้ขายในโลกออนไลน์ “ครอบครัวและเพื่อนฝูง” เป็นอันดับ 2 ที่ร้อยละ 30 ขณะที่การโฆษณาทางโซเชียลมีเดียอยู่ในอันดับ 3 ที่ร้อยละ 14
เหตุผลที่ซื้อ: ผู้บริโภคร้อยละ 48 สนใจซื้อเครื่องประดับเพื่อรำลึกถึงโอกาสพิเศษมากที่สุด ร้อยละ 23 ระบุว่า “ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล” ขณะที่ร้อยละ 12 กล่าวว่าการให้รางวัลตัวเองเป็นปัจจัยหลัก นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ผู้รับการสำรวจรวมร้อยละ 52 ไม่ต้องรอให้ถึงโอกาสพิเศษจึงจะซื้อเครื่องประดับ จึงนับเป็นการบ่งชี้ถึงการเติบโตของการซื้อเครื่องประดับให้ตนเอง
นอกจากนี้ เมื่อให้ผู้ตอบแบบสำรวจจัดอันดับแรงจูงใจในการซื้อเครื่องประดับตามลำดับความสำคัญ การซื้อให้ตนเองอยู่ในอันดับ 1 ที่ร้อยละ 40 ขณะที่โอกาสพิเศษอยู่ในอันดับ 2 ที่ร้อยละ 31
มูลค่าการซื้อ: การซื้อเครื่องประดับชิ้นใหม่มีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,207 เหรียญสหรัฐ โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 51 ระบุว่าจะใช้เงินโดยเฉลี่ยไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐในการซื้อเครื่องประดับชิ้นใหม่ และร้อยละ 26 ระบุว่าจะใช้เงินตั้งแต่ 1,000 เหรียญสหรัฐจนถึงกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐในการซื้อเครื่องประดับ
สถานที่ซื้อ: ผู้เข้าร่วมการสำรวจร้อยละ 28 ระบุว่าซื้อเครื่องประดับทางออนไลน์ ขณะที่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) ยังคงนิยมการซื้อในร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าอิสระ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ราวร้อยละ 25 ระบุว่านิยมร้านอิสระหรือร้านค้าในท้องถิ่นมากกว่า
“ผู้ซื้อเครื่องประดับส่วนใหญ่ไม่สนใจราคา
แต่หลายคนยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าที่จัดหาอย่างถูกต้อง”
ความยั่งยืน: ผู้รับการสำรวจได้ให้คะแนนจาก 1 ถึง 10 เพื่อระบุว่าการจัดหาเครื่องประดับอย่างมีความรับผิดชอบ ความยั่งยืน และความถูกต้องนั้นสำคัญเพียงใดต่อตนเอง ร้อยละ 20 จัดให้ประเด็นนี้มีความสำคัญอยู่ที่ 10 คะแนน และผู้เข้าร่วมการสำรวจร้อยละ 72 ให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 ระบุว่ายินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อเครื่องประดับที่ผ่านการจัดหาโดยคำนึงถึงความยั่งยืน โดยที่ร้อยละ 26 ระบุว่าจะยอมจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก
ฉะนั้น เห็นได้ว่าผู้ซื้อเครื่องประดับในปัจจุบันหันมาซื้อเครื่องประดับให้ตนเองเพื่อเป็นรางวัลให้ชีวิตเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องรอซื้อในช่วงโอกาสพิเศษต่างๆ เหมือนอย่างแต่ก่อน ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเครื่องประดับที่จัดหาอย่างถูกต้อง เป็นแบรนด์เครื่องประดับที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการควรตระหนักถึงความสำคัญของกระแสดังกล่าวและปรับการผลิตเครื่องประดับให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที