ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวจากผลของวิกฤติโควิด-19 ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้เกิดความผันผวนในการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดทุน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนในอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากทองคำและโลหะเงินที่นักลงทุนเข้าเก็งกำไรมากขึ้นในปีที่ผ่านมาแล้ว เพชรและพลอยสีก็ถือเป็นสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่นักลงทุนและนักสะสมทั่วโลกให้ความสนใจในการลงทุนด้วยคุณสมบัติที่เป็นสินทรัพย์คงทน มูลค่าคงอยู่ไม่ลดลงไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังสามารถนำมาช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้
“บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก McKinsey & Company คาดการณ์ว่า หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมฟุ่มเฟือยจะเปลี่ยนโฉม คนทุกวัยจะหันมาให้ความสำคัญกับการครอบครองสินทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันระยะยาวมากขึ้น”
มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของเพชรและพลอยสี
นับแต่อดีตผู้คนนิยมนำอัญมณีมีค่ามาทำเป็นเครื่องประดับสวมใส่เพื่อความสวยงาม แสดงถึงฐานะทางสังคม และเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ จนกลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่เนื่องด้วยอัญมณีที่เกิดจากธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดและนับวันยิ่งหายาก ราคาจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการยอมรับว่าสามารถสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ดี อีกทั้งการที่หลายๆ ประเทศไม่เก็บภาษีนำเข้าเพชรและพลอยสีจึงเป็นการจูงใจให้คนนิยมมาลงทุนในอัญมณีกันมากขึ้น
15-Carat Purple-Pink Diamond ในงานประมูลของ Christie’s
เพชรเป็นหนึ่งในไม่กี่สินทรัพย์ที่มีความคงทน คุณค่าและมูลค่าไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา ไม่อ่อนไหวไปตามสภาพเศรษฐกิจดังเช่นสินทรัพย์อื่น ปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาคือกลไกตลาดตราบเท่าที่ความนิยมและความต้องการในเพชรยังคงเพิ่มขึ้น สวนทางกับปริมาณเพชรในธรรมชาติที่มีอยู่จำกัด ราคาก็ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันโลหะมีค่ามีมูลค่าที่อ้างอิงได้ตามราคามาตรฐานที่ซื้อขายกันในตลาดโลก ในขณะที่เพชรนั้นอาจอ้างอิงราคาซื้อขายได้โดยพิจารณาจาก Rapaport Price List1 ซึ่งจะมีระดับราคาที่หลากหลายขึ้นกับคุณภาพเพชรโดยดูจากสี ความใส และน้ำหนักกะรัต ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะอาศัยราคาดังกล่าวนี้เป็นมาตรฐานในการเจรจาซื้อขาย ทั้งนี้ ในมุมมองด้านการลงทุนนั้น เพชรเหมาะที่จะซื้อเพื่อลงทุนระยะกลาง (1-3 ปี) ถึงระยะยาว (3-5 ปีขึ้นไป) เพราะเป็นระยะเวลาที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของราคาเพชรอย่างชัดเจนและคุ้มค่ากับการลงทุน โดยเฉพาะประเภท “เพชรกะรัต” หรือเพชรที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 1 กะรัตขึ้นไป ซึ่งนักลงทุนเพชรรู้ดีว่ายิ่งเพชรเม็ดใหญ่ก็ยิ่งหายากทำให้มูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพชรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี
นอกจากเพชรแล้ว พลอยสีก็ได้รับความนิยมในการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะพลอยแต่ละเม็ดจะมีความงามแบบเฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน อีกทั้งปริมาณพลอยสีในธรรมชาติที่มีคุณภาพดีสีสันสวยงาม ขนาดใหญ่นั้นหายากขึ้นทุกวัน ราคาพลอยสีจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลอยสีคุณภาพสูงที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยกรรมวิธีใดๆ ตัวอย่างเช่น ทับทิมสยาม จัดว่าเป็นอัญมณีที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ ปัจจุบันไม่สามารถขุดหาได้เหมือนในอดีตแล้ว โดยกว่า 15 ปีที่ผ่านมาทับทิมสยามมีราคาเพิ่มจาก 5 แสนบาทต่อ 1 กะรัต เป็นกะรัตละหลายล้านบาท ขณะที่ผู้ค้าที่คร่ำหวอดในวงการพลอยสีไทยให้ความเห็นว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของพลอยสีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10-30 เท่า
“ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระดับราคาของพลอยสีเม็ดหนึ่งๆ นอกจากระดับคุณภาพของพลอย
เม็ดนั้นแล้ว แหล่งกำเนิดของพลอยถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้”
ในปัจจุบันนอกจากพลอยสีที่รู้จักกันดีอย่างทับทิม ไพลิน และมรกต หรือกลุ่ม Big Three แล้ว นักลงทุนทั่วโลกยังนิยมลงทุนในพลอยสีอีกหลายชนิด อาทิ อเล็กซานไดรต์ พาราอิบาทัวร์มาลีน แทนซาไนต์ อิมพีเรียลโทแพซ ซาวอไรต์การ์เนต สปิเนล เป็นต้น2 ซึ่งล้วนแต่เป็นพลอยสีสันแปลกตาและหายาก อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การลงทุนในพลอยสียังคงไม่มีการกำหนดราคาซื้อขายมาตรฐานที่แน่ชัดเมื่อเทียบกับการลงทุนในทองคำและเพชร
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระดับราคาของพลอยสีเม็ดหนึ่งๆ นอกจากระดับคุณภาพของพลอยเม็ดนั้นแล้ว แหล่งกำเนิดของพลอยถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยทับทิมจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ที่ต่างกันจะมีเฉดสีที่แตกต่างกันไปด้วย เห็นได้จากทับทิมสีแดงสดที่มีแหล่งกำเนิดจากเมียนมา หรือที่เรียกว่าเฉดสีแดงเลือดนกพิราบ ซึ่งหากไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ก็มักมีราคาสูงกว่าพลอยทับทิมจากแหล่งอื่นๆ ในขนาดและคุณภาพเดียวกัน จึงเป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วโลกและจัดเป็นอัญมณีที่มีราคาแพงชนิดหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น ทับทิมเมียนมาเฉดสีแดงเลือดนกพิราบที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยกรรมวิธีใดๆ ขนาด 1.03 กะรัต มีราคาสูงถึง 12,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ทับทิมจากโมซัมบิกที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยกรรมวิธีใดๆ ขนาด 1.01 กะรัต มีราคาเพียง 2,500 เหรียญสหรัฐ และหากเป็นทับทิมเมียนมาเฉดสีแดงเลือดนกพิราบที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยด้วยความร้อน ขนาด 1 กะรัต มีราคาเพียง 2,300 เหรียญสหรัฐ ส่วนทับทิมจากโมซัมบิกที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนอุดแก้วตะกั่ว ขนาด 3 กะรัต มีราคาเพียง 20 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
ส่วนทับทิมจากแหล่งอื่นๆ ที่พบได้ในตลาดปัจจุบันมาจากโมซัมบิก มาดากัสการ์ เคนย่า แทนซาเนีย อัฟกานิสถาน กรีนแลนด์ เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งระดับราคาของทับทิมจากแหล่งเหล่านี้อาจมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความนิยมในเฉดสี คุณภาพและขนาดของพลอย ฝีมือการเจียระไน และกรรมวิธีการปรับปรุงคุณภาพ ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการเลือกซื้อพลอยสีเพื่อการลงทุนก็จะต้องคำนึงถึงแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ร่วมด้วย
ซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับผ่านบริษัทประมูลชั้นนำ
ช่องทางการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อการสะสมและการลงทุนนั้น นอกจากจะซื้อขายผ่านทางร้านค้าเครื่องประดับ/แบรนด์เครื่องประดับ แพลตฟอร์มออนไลน์ งานแสดงสินค้า ไปจนถึงงานประมูลของบริษัทผู้ผลิตอัญมณีซึ่งจำหน่ายเป็นล๊อตใหญ่แล้ว งานประมูลของสถาบันประมูลชั้นนำอย่าง Christie’s3 และ Sotheby’s4 ที่เป็นผู้นำด้านการประมูลของโลก ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญสำหรับการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ทรงคุณค่า โดยอัญมณีและเครื่องประดับที่นำออกประมูลนั้นจะครอบคลุมทั้งเพชร พลอยสีคุณภาพสูงน้ำงาม มีขนาดใหญ่หายาก อัญมณีสมัยเก่า เครื่องประดับโบราณ ชิ้นงานวินเทจ คอลเลกชันพิเศษหายากทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ชิ้นงานที่ผลิตโดยแบรนด์เครื่องประดับที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่าง Boivin, Boucheron, Cartier, JAR, Van Cleef & Arpels, Bvlgari เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการประมูลที่มีนักสะสม/นักลงทุนจากทั่วโลกเข้าร่วมแต่ละครั้งนั้น ไม่มีใครบอกได้ว่าสินค้าแต่ละชิ้นจะขายได้ราคาเท่าไร แต่หลายๆ ครั้งราคาประมูลพุ่งขึ้นไปสูงกว่าราคาที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินเอาไว้หลายเท่า เห็นได้จากการประมูลครั้งล่าสุดของ Christie’s ซึ่งจัดขึ้นในมหานครนิวยอร์กและจบลงเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2021 ด้วยมูลค่ารวม 35 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเครื่องประดับชิ้นเด่นในการประมูลครั้งนี้คือ “Perfect Palette” ที่เป็นชุดแหวนเพชรสามวงซึ่งประดับด้วยเพชรสีชมพู น้ำเงิน และส้ม ขายแยกวงกัน แหวนเพชรสามวงนี้ขายได้ราคารวม 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าราคาที่ประเมินไว้ และเป็นไปตามกระแสนิยมเพชรสีแฟนซีที่กำลังเติบโตขึ้น โดยแหวนเพชรสีชมพู ขนาด 2.17 กะรัต ขายได้ที่ราคาสูงถึง 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แหวนเพชรสีน้ำเงินขนาด 2.13 กะรัต ขายได้ที่ราคา 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และแหวนเพชรสีส้ม ขนาด 2.34 กะรัต ที่ราคา 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
“เทรนด์ความนิยมเพชรสีแฟนซีและอุปสงค์ของผู้ซื้อในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากราคาขายที่สูงจากงานประมูลที่ผ่านมาหลายครั้งในปีนี้”
ขณะที่แหวนทับทิมเมียนมาโดย F.J. Cooper ผู้ผลิตเครื่องประดับชื่อดังจากฟิลาเดลเฟีย ก็ขายได้ที่ 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จากราคาประเมินราว 1.2 - 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และแหวนมรกตโคลอมเบียทรงสี่เหลี่ยม ขนาด 19.47 กะรัต โดย Cartier เคาะราคาที่ 225,000 เหรียญสหรัฐ จากราคาประเมินราว 200,000 - 300,000 เหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าพลอยสีในกลุ่ม Big Three ซึ่งหายากและมาจากประเทศแหล่งกำเนิดที่มีชื่อเสียงยังคงเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดโลก
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน Sotheby’s ก็ได้จัดงานประมูลขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สามารถทำรายได้จากการประมูลถึง 56 ล้านเหรียญสหรัฐ หนึ่งในเครื่องประดับชิ้นพิเศษที่เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้คือ เข็มกลัดยุคปี 1930 ที่ตกแต่งด้วยแซปไฟร์แคชเมียร์ขนาดใหญ่ 2 เม็ดและเพชรประดับล้อมรอบ โดยเม็ดแรกเป็นแซปไฟร์แคชเมียร์สีน้ำเงินรูปไข่หนัก 55.19 กะรัต และเม็ดที่สองเป็นแซปไฟร์แคชเมียร์ขนาด 25.97 กะรัต ซึ่งเครื่องประดับชิ้นนี้ทำยอดขายได้สูงถึง 3.88 ล้านเหรียญสหรัฐ จากราคาประเมินประมาณ 2 - 3 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีการประมูลเข็มกลัด/จี้ของ Harry Winston จากปี 1974 ประดับด้วยมรกตโคลอมเบียรูปหยดน้ำขนาด 104.40 กะรัต ซึ่งขายได้ที่ราคา 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ จากราคาประเมิน 1 - 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงสร้อยคอประดับด้วยแซปไฟร์ศรีลังการูปหมอนขนาด 111.73 กะรัตและตกแต่งด้วยเพชร ทำราคาประมูลได้สูงถึง 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จากราคาประเมินอยู่เพียงแค่ 1.5 - 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้อัญมณีและเครื่องประดับที่ขายผ่านงานประมูลส่วนใหญ่มักเป็นชิ้นงานคุณภาพสูง หายาก มาจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก รวมทั้งบางชิ้นยังเป็นสมบัติล้ำค่าที่เป็นมรดกตกทอด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามกาลเวลา และดึงดูดให้นักสะสมและนักลงทุนจากทั่วโลกต้องการได้มาครอบครอง แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการนำเครื่องประดับและอัญมณีที่มีขนาดเล็กไปทำการซื้อขายผ่านงานประมูลกันมากขึ้น อาทิ งานประมูลของบริษัทประมูล Artcurial5 Bonhams6 และ Fellows7 เป็นต้น ซึ่งขอเพียงให้อัญมณีและเครื่องประดับนั้นมีคุณสมบัติสอดคล้องกับปัจจัยที่กล่าวมาในทางใดทางหนึ่ง ย่อมมีโอกาสสร้างรายได้ทำกำไรจากการลงทุนได้ไม่น้อย แต่ที่สำคัญก็คือ ชิ้นงานนั้นควรมีใบรับรองคุณภาพจากห้องปฎิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับที่มีมาตรฐานระดับสากลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่สินค้าและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อไปครอบครองควบคู่ไปด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที