ดื่มชามีประโยชน์อย่างไร? ทำความรู้จัก ?ใบชา? เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
“ดื่มชาเพื่อสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งกระแสที่ได้รับความนิยมจากสังคมยุคปัจจุบันที่ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ รวมถึงโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน แล้วชาแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร? ช่วยดูแลปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างไรบ้าง? วันนี้รวบรวมข้อมูลมาฝากค่ะ
ใบชา ทำมาจากอะไร?
ชา คือ ผลผลิตจาก ใบ ยอดอ่อน และก้านของต้นชา Camellia Sinensis ที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปที่หลากหลาย ซึ่งมักรวมถึงเครื่องดื่มที่ได้จากพืชตากแห้งชนิดอื่นๆ ที่นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน เช่น ชามะลิ ชาเก๊กฮวย หรือชาใบหม่อน ซึ่งชาแต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติ กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล
ประเภทและสรรพคุณของ “ใบชา”
“ใบชา” ถูกจัดแบ่งประเภทตามกระบวนการแปรรูปหลังเก็บเกี่ยว ใบของต้นชาจะถูกทิ้งให้สลด และ "บ่ม" จนใบชามีสีเข้มขึ้น คลอโรฟิลล์ในใบชาแตกตัวกลายเป็นสารแทนนินที่ให้รสฝาด หากไม่ระมัดระวังในการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิระหว่างการผลิต ใบชาอาจขึ้นรา และเกิดปฏิกิริยาจนกลายเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ชาเสียรสชาติ และเป็นอันตรายต่อการดื่มชาได้ โดย “ใบชา” สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ดังนี้
1. ชาขาว (White Tea)
ชาขาว เป็นชาชนิดหนึ่ง ผลิตจากตูมและยอดอ่อนของต้นชา กรรมวิธีผลิตชาขาวเริ่มจากการเลือกเก็บยอดอ่อนชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นนำยอดชาที่เก็บได้มาผ่านกระบวนการทำให้แห้งในระยะเวลาที่รวดเร็วด้วยวิธีธรรมชาติอาศัย ลม แสงแดด หรือความร้อนซึ่งจะแตกต่างจากกรรมวิธีผลิตชาประเภทอื่น ๆ ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งด้วยความร้อน ไอน้ำ หรือผ่านกระบวนการหมัก ทำให้ชาขาวมีกลิ่นและรสชาติที่ยังคงความสดชื่น นุ่มนวล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระและคุณค่าทางโภชนาการอยู่ในปริมาณมาก
2. ชาเขียว (Green Tea)
ชาเขียวเป็นใบชาที่เก็บมาจากยอดอ่อนของต้นชา โดยนำไปอบแห้งทันที ไม่ผ่านการหมัก เพื่อไม่ให้ใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับออกซิเจน ทำให้ได้ใบชาที่ยังมีสีเขียว มีรสชาติ สี และกลิ่นใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ชาเขียวแบ่งออกเป็นประเภทหลักๆ ได้ 2 ประเภทคือ ชาเขียวญี่ปุ่นซึ่งไม่ผ่านการคั่ว และชาเขียวแบบจีนที่ผ่านการอบการคั่วด้วยกระทะร้อน และชาเขียวก็มีคุณสมบัติในการต้านทานโรคได้หลายชนิด
3. ชาอู่หลง (Oolong Tea)
ชาอู่หลงเป็นชาประเภทกึ่งหมักหรือชาที่ผ่านการหมักเพียงบางส่วน ทำให้มี สี กลิ่นหอม และมีรสชาติระหว่างชาเขียวกับชาดำ โดยชาอู่หลงผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยการผึ่งแห้งใบชาจากแสงอาทิตย์เพื่อให้ใบชาคายน้ำ หลังจากนั้นนำไปผึ่งในที่ร่มภายใต้การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเป็นการหมักใบชาเพียงบางส่วน จากนั้นนำมานวดแล้วอัดให้เป็นเม็ด ทำให้ชาอู่หลงมีรสชาตินุ่มและคงความหอมไว้ได้มาก ชาอู่หลงมีสรรพคุณในการช่วยดักจับไขมันและควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากชาอู่หลงมีสารชนิดพิเศษที่เรียกว่า OTTPS ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นจากการหมักใบชา ทำให้ช่วยลดการดูดซึมไขมันของร่างกายได้ดี
4. ชาดำ (Black Tea)
ชาดำ เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์ หากยิ่งบ่มนาน ยิ่งทำให้ได้รสชาติมากขึ้น ชาวตะวันตกมักนิยมชาชนิดนี้เป็นพิเศษและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น ชาอัสสัม ชาซีลอน ชาดาจีลิง ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศอินเดียและศรีลังกาตามชื่อชา นอกจากนี้ยังนิยมนำมาผสมแต่งกลิ่นเป็นรสชาติใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น ชาเอริลเกรย์ (Earl Grey) ชาอิงลิชเบรกฟาสท์ (English Breakfast) ส่วนทางฝั่งตะวันออกก็มีชาดำที่มีชื่อเสียงด้วยเช่นกัน เช่น ชาผู่เอ๋อ (Puer Tea) โดยสรรพคุณชาดำจะโดดเด่นในเรื่องช่วยการย่อยอาหาร ลดครอเลสเตอรอล และลดการดูดซึมไขมันในลำไส้
5. ชาสมุนไพร (Herbal tea)
ชาสมุนไพรอาจจะไม่สามารถเรียกว่าชาได้ เนื่องจากชาสมุนไพรนั้นมักทำจากผลไม้ ดอกไม้ หรือสมุนไพรตากแห้ง ไม่ได้มีส่วนผสมที่เป็นใบชาจากต้นชาจริงๆ (แต่ก็ยังเรียกว่าชา เพราะวิธีการชงนั้นเหมือนกับการชงชาทั่วไป) เช่น ชาดอกเก๊กฮวย ชามินท์ หรือชากุหลาบ ชาชนิดนี้ไม่มีคาเฟอีน และไม่แนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรที่อ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนัก เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะเจอชาที่ผสมยาระบายและอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้
ประโยชน์ของการดื่มชา
1. การดื่มชาช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น เนื่องจากในใบชามีสารโพลีฟีนอล กรดอะมิโน และคาร์โบไฮเดรต เมื่อสารเหล่านี้เกิดปฏิกิริยากับน้ำลายจะช่วยกระจายความร้อนส่วนเกินในร่างกายได้
2. ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีแร่ธาตุละสารอาหารอยู่หลายชนิดที่ช่วยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสารคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ช่วยหมุนเวียนโลหิต มีอิทธิพลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย และยังมีการใช้ชาผสมกับยาแก้ปวด รักษาโรคไมเกรน เพื่อช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้น
3. ขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชราและมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ
4. ส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และช่วยสลายไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอล โดยไปเพิ่มการขับคอเลสเตอรอลในร่างกายผ่านทางน้ำดีในอุจจาระ
5. ชามีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และการดื่มชายังช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย
6. ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และช่วยในการย่อยอาหารจำพวกวิตามินกลุ่มต่าง ๆ
7. สารไอโอดีน และฟลูออไรด์ ในชาช่วยป้องกันภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ฟลูออไรด์ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะช่วยป้องกันฟันผุและเสริมมวลกระดูกได้
หลายงานวิจัยชี้ชัดว่า การดื่มชาส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันการบริโภคชาที่มากเกินไปหรือเลือกชาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คิด เลือกรักษาสุขภาพของคุณให้ฟิตและเฟิร์มอยู่เสมอ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์อย่างพอประมาณ และออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
เลือก
ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย ที่สุดของความคุ้มครองเรื่องสุขภาพ ที่ให้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก นอนโรงพยาบาลเหมาจ่ายค่ารักษาตามจริงสูงสุด 500,000 บาท
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : ดื่มชามีประโยชน์อย่างไร? ทำความรู้จัก ?ใบชา? เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ