ไข้เลือดออกเป็นได้กี่ครั้ง เป็นซ้ำได้หรือไม่?
โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) จัดเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายใกล้ตัวที่มียุงเป็นพาหะ หลายคนสงสัยว่าไข้เลือดออกสามารถมีโอกาสเป็นซ้ำได้ไหม? ทำไมไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จึงอันตรายกว่าครั้งแรก? หรือแม้กระทั่งสามารถเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่? วันนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อโรคไข้เลือดออกมาฝาก
1. ไข้เลือดออกเป็นได้กี่ครั้ง?
โรคไข้เลือดออกสามารถติดได้มากกว่า 1 ครั้ง เนื่องจากมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue) ที่ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดอย่างน้อยจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3, และ DENV-4 ซึ่งสามารถพบการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ตามแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อและมีอาการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออกได้หลายครั้งจากการติดเชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม อาการจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ในครั้งแรกอาจจะไม่แสดงอาการหรือไม่มีความรุนแรง โดยอาจมีอาการไข้เพียงเล็กน้อย และสามารถหายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในครั้งที่ 2 เป็นต้นไปด้วยเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิมอาจทำให้เกิดอาการไม่ร้ายแรง หรือไม่มีอาการเลยเนื่องจากมีภูมิต้านทานเเล้ว แต่หากเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ต่างจากการติดเชื้อในครั้งแรก อาจส่งผลกระทบให้อาการของโรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้ที่เคยติดเชื้อและหายจากโรคไข้เลือดออกในครั้งที่ 2 จะมีปริมาณภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าวในระดับสูงเพียงพอที่จะสามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ในครั้งต่อๆ ไปได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่ภูมิต้านทานโรคไข้เลือดออกเฉพาะสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจะคงอยู่อย่างยาวนาน และอาจคงอยู่ตลอดชีวิตขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยโรคไข้เลือดออกจะอยู่ในกลุ่มเด็กวัยเรียน (5-14 ปี) ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะอยู่ในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ คือ ภาวะเลือดออกมาก และภาวะเลือดรั่วซึ่งนำไปสู่ภาวะช็อกและเสียชีวิตในที่สุด
2. อาการไข้เลือดออกครั้งที่ 2 เป็นอย่างไร?
อาการของโรคไข้เลือดออกจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ในครั้งที่ 2 นั้น จะยังมีลักษณะอาการเบื้องต้นคล้ายกับอาการของโรคไข้เลือดออกโดยทั่วไป เช่น ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เซื่องซึม เบื่ออาหาร มีผื่นแดง แต่ความรุนแรงของอาการอาจมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อในครั้งแรก และอาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้จากอาการเลือดออกตามร่างกายอย่างรุนแรง เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือมีประจำเดือนมากผิดปกติ
3. ทำไมติดเชื้อไข้เลือดออก ครั้งที่ 2 ถึงรุนแรงกว่าครั้งแรก?
สาเหตุที่ทำให้อาการจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 มีอันตรายมากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายสร้างแอนติบอดี (Antibody) ออกมามากเกินไป
กล่าวคือ เชื้อไวรัสเด็งกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออดทั้ง 4 สายพันธุ์จะมีแอนติเจน (Antigen) หรือลักษณะทางพันธุกรรมร่วมกันบางส่วน ทำให้เมื่อร่างกายเกิดติดเชื้อใดก็ตามใน 4 สายพันธุ์ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะ หรือที่เรียกว่าแอนติบอดี้ (Antibody) สำหรับทำลายเฉพาะเชื้อไวรัสชนิดหรือสายพันธุ์นั้นๆ และก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันกับเชื้อไวรัสในสายพันธุ์อื่นๆ ร่วมด้วยในระยะหนึ่ง แต่ภูมิต้านทานเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเเละคงอยู่ได้เพียง 6-12 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ภูมิต้านทานที่เกิดกับเชื้อจากสายพันธุ์ที่ติดนั้นๆ อาจจะคงอยู่ตลอดชีวิต
เมื่อร่างกายเรียนรู้ที่จะสร้างแอนติบอดี้เพื่อทำลายไวรัสเด็งกี้เฉพาะสายพันธุ์ได้แล้ว ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่สายพันธุ์อื่นๆ ในอนาคต ร่างกายจะยังคงสร้างแอนติบอดี้แบบเดียวกันกับที่เคยสร้างมาเพื่อทำลายเชื้อไวรัสเด็งกี่สายพันธุ์เฉพาะที่เคยติดเมื่อในอดีต แต่แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจะไม่สามารถเข้าทำลายเชื้อไวรัสเด็งกีสายพันธุ์ใหม่ได้ดั่งที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่ใช่การสร้างแอนตี้บอดี้เพื่อทำลายเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ที่คล้ายคลึงกันนั้นเอง
4. ค่ารักษาไข้เลือดออกอยู่ที่เท่าไร?
ค่ารักษาโรคไข้เลือดอาจอยู่ที่ประมาณ 25,000 - 85,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา เนื่องจากปัจจุบันการรักษาโรคไข้เลือดออกจะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะโรคแต่อย่างใด ทำให้เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์แล้ว มักจะได้รับแจ้งให้แอดมิตเข้าเป็นผู้ป่วยในเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 3-7 วัน และหากมีอาการหนักเกิดขึ้นร่วมด้วยแล้ว อาจต้องเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน (ICU) ต่อเนื่องนานนับเดือน ดังนั้นแล้วค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าพยาบาล ค่าเวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์อื่นๆ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : ไข้เลือดออกเป็นได้กี่ครั้ง เป็นซ้ำได้หรือไม่?