นับตั้งแต่กองทัพทหารเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน สหรัฐอเมริกาและเหล่าประเทศในยุโรปก็ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้กิจการผลิตและจำหน่ายอัญมณีของเมียนมาหยุดชะงัก ส่งผลต่ออุปทานพลอยสีจากเมียนมาในตลาดโลกลดลง
ทับทิมจากเหมืองโมกกโดยเฉพาะทับทิมสีเลือดนกพิราบที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทับทิมที่สวยงามและมีคุณค่ามาก จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนและนักสะสมทั่วโลก แต่ปัจจุบันการค้าขายทับทิมกับเมียนมาทำได้ยากยิ่ง ในขณะที่ยังมีผู้คนที่ชื่นชอบทับทิมเมียนมาและต้องการครอบครองจำนวนมาก โดยเฉพาะทับทิมที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพขนาด 5 กะรัตขึ้นไป จึงผลักดันให้ทับทิมของเมียนมามีราคาสูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับทับทิมโมซัมบิกที่มีขนาดเท่ากันและไม่ผ่านการเผา ทับทิมเมียนมาจะมีราคาสูงกว่า 7 – 10 เท่าตัว นอกจากนี้ทับทิมเกรดพรีเมียมขนาดต่างๆ ของเมียนมาก็มีราคาสูงกว่าทับทิมจากแหล่งอื่นๆ ราว 2 – 10 เท่าตัว
ปัจจุบันผู้ค้าส่วนใหญ่จะนำทับทิมที่เก็บไว้ในสต๊อกออกมาขาย ฉะนั้น ผู้ที่เก็บสะสมทับทิมเมียนมาไว้จำนวนมากจะได้เปรียบในการทำกำไรจากการขายทับทิม ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอัญมณีคาดการณ์ว่า ทับทิมเมียนมาที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนจะมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่นิยมทับทิมไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ได้แก่ จีนและยุโรป
ต่างหูแพลทินัมตกแต่งด้วยเพชรและทับทิมเมียนมา 7.82 กะรัต ราคา 255,000 ดอลลาร์ โดยแบรนด์ M.S. Rau
ผู้บริโภคยุคใหม่มักเลือกซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต นอกจากจะเลือกซื้อเพราะความชอบแล้ว ยังพิจารณาจากใบรับรองคุณภาพอัญมณีและหลักฐานแสดงแหล่งที่มาที่โปร่งใส มีการค้าอย่างเป็นธรรม รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ผู้ค้าอัญมณีจึงควรปรับตัวให้ทันกระแสเหล่านี้เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที