การใช้แรงงานเด็กเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ มีการรณรงค์สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม กระทั่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล (World Day Against Child Labour) มาตั้งแต่ปี 2002 โดยในปี 2021 นี้ ILO ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติได้ประกาศให้ชาติสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดการใช้แรงงานเด็กให้หมดไปภายในปี 2025
การว่าจ้างเด็กทำงานโดยปกติไม่ใช่เป็นสิ่งต้องห้าม แต่การใช้แรงงานเด็กที่ต้องห้ามตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หมายถึง งานที่ริดรอนสภาพในการพัฒนาศักยภาพและความมีศักดิ์ศรีของเยาวชน ด้วยลักษณะงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ศีลธรรม และพัฒนาการของเยาวชน โดยรายละเอียดอาจแตกต่างกันตามรูปแบบงานและหลักปฏิบัติของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ILO ก่อตั้งขึ้นในปี 1919 โดยมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 45 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ปัจจุบันมีสมาชิก 187 ประเทศ ซึ่งมีนโยบายการดำเนินงานในระบบไตรภาคี ระหว่างภาครัฐ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ของประเทศสมาชิก เพื่อกำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานแรงงานสากล กำหนดนโยบาย และส่งเสริมผู้หญิงและผู้ชายให้มีโอกาสเท่าเทียมกันในการทำงาน
รายงานจาก Global March (องค์กรนานาชาติที่มีเป้าหมายให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก) ระบุว่า ทั่วโลกมีแรงงานเด็กอายุ 5-17 ปี อยู่ราว 152 ล้านคน ซึ่งทำงานที่เสี่ยงอันตรายและผิดกฎหมาย โดยประมาณ 73 ล้านคน ทำงานในสถานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานที่อยู่ใต้ดิน ในน้ำ หรือสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอันตราย
" มีการใช้แรงงานเด็กกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก ในเหมืองโลหะมีค่าและเหมืองอัญมณี "
ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องประดับในปีนี้ มีแคมเปญระดมทุนเพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก โดย Lebrusan Studio แบรนด์เครื่องประดับที่มีจริยธรรมในสหราชอาณาจักร ซึ่ง Arabel Lebrusan ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ประมาณการณ์ว่า มีแรงงานเด็กกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกทำงานในเหมืองโลหะมีค่าและเหมืองอัญมณี โดยเฉพาะกลุ่มคนงานเหมืองและเหมืองทองขนาดเล็ก มีเด็กจำนวนมากทำงานในเหมืองเหล่านี้ที่ไม่มีระบบความปลอดภัย เกิดการเจ็บป่วยจากระบบทางเดินหายใจ และมีสารพิษสะสมในร่างกายซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การใช้แรงงานเด็กจะลดลงถึง 38% แต่การรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้เป็นรูปธรรมเร็วขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็น
การใช้แรงงานเด็กส่วนมากพบในภูมิภาคที่มีความยากจน มีอัตราการเพิ่มของประชากรสูงโดยไม่มีมาตรการป้องกันทางสังคมรองรับเพียงพอ อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการลักลอบใช้แรงงานเด็กเพิ่มมากขึ้นได้
รูปโฆษณาการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กของ Lebrusan Studio จาก https://pressreleases.responsesource.com
ทุกวันนี้ แบรนด์เครื่องประดับที่มีจริยธรรมมักสื่อสารเพียงว่า มีแหล่งผลิตและแหล่งวัตถุดิบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ความรับผิดชอบควรรวมถึงสิทธิมนุษยชนที่พึงมีในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อต่อสู้กับการหาประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับด้วย จึงจะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีความโปร่งใสและมีจริยธรรมอย่างแท้จริง
ข้อมูลอ้างอิง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที