GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 16 มิ.ย. 2021 15.47 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1320 ครั้ง

ชิลีประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีศักยภาพน่าสนใจในการค้าและการลงทุน มีบรรยากาศการค้าที่ดีต่อกันมายาวนาน อีกทั้งยังมีความตกลงการค้าเสรีกับไทย โดยล่าสุดเมื่อ 15 มิถุนายน 2564 ทั้งสองประเทศเพิ่งบรรลุข้อตกลงการนำระบบลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) ในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาใช้ร่วมกัน แล้วประเทศชิลีมีความน่าสนใจอย่างไร สินค้าหมวดไหนที่ควรทำตลาด มาทำความรู้จักได้ในบทความนี้


มองตลาดลาตินอเมริกา เริ่มต้นการค้าที่ชิลี

             ชิลีเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่มีลักษณะแปลกตาด้วยภูมิประเทศเป็นพื้นที่ทอดตัวจากเหนือจรดใต้ทางด้านทิศตะวันตกของทวีปติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยความยาวถึง 2,700 ไมล์ (ประมาณ 4,345 กิโลเมตร) และมีความกว้างเพียง 217 ไมล์ (ประมาณ 349 กิโลเมตร) มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมายาวนานถึง 10,000 ปีก่อน โดยผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเรียกว่าชาวมาปูเช (Mapuche) นอกจากจะมีประวัติศาสตร์มายาวนานยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความแตกต่างกันทั้งทะเลทราย ทะเล ภูเขาไฟ และธารน้ำแข็ง ขณะเดียวกันชิลียังมีความน่าสนใจทางด้านเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงมีข้อตกลงความร่วมมือทางการค้ากับไทย อันเป็นลู่ทางเข้าสู่ตลาดชิลีด้วย 

สภาพเศรษฐกิจของชิลี

            สถิติ ณ เดือนมิถุนายน ปี 2021 ชิลีมีประชากรราว 19.28 ล้านคน เป็นประชากรในช่วงวัยทำงานมากกว่า 14.5 ล้านคน โดยประชากรมากกว่า 84% อาศัยอยู่ในเขตเมือง (ข้อมูลจาก www.worldometers.info)  ซึ่งเมืองที่มีประชากรอาศัยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เมืองหลวงกรุงซันติอาโก (Santiago) มีประชากรราว 7.2 ล้านคน ตามมาด้วยเมือง Valparaíso 979,000 คน และเมือง Concepción 945,000 คน ส่วนเมืองอื่นๆ ไม่มีเมืองใดมีประชากรถึง 5 แสนคน ชิลีใช้เงินสกุลเปโซ CLP (1 เปโซ เท่ากับ 0.0014 ดอลลาร์สหรัฐ) ชิลีมีมูลค่า GDP สูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศลาตินอเมริกา รองจากบราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย แต่มี GDP Per Capita สูงที่สุดในภูมิภาคด้วยมูลค่า 15,092 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ถูกจัดเข้าเกณฑ์ประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวในทวีปอเมริกาใต้ (GDP Per Capita ≥12,000 ดอลลาร์สหรัฐ) 

ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญทางเศรษฐกิจในทวีปอเมริกาใต้ 

ข้อมูลจาก : https://www.statista.com/statistics/1032072/

             : https://tradingeconomics.com/

            เศรษฐกิจของชิลีพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงถึงประมาณ 56% ของ GDP โดยสินค้าส่งออกหลักของชิลี ได้แก่ แร่ทองแดง สินค้าประมง ไม้แปรรูป ผลไม้ และไวน์ นอกจากชิลีจะเป็นผู้ส่งออกแร่ทองแดงอันดับ 1 ของโลกแล้ว ชิลียังเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่สำคัญอันดับ 6 ของโลกอีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในปี 2020 ตลาดส่งออกหลักของชิลี ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล ด้วยสัดส่วนร้อยละ 37.16%, 13.77%, 8.72%, 5.90% และ 4.43%  ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา และเยอรมนี ในสัดส่วน 27.37%, 17.90%, 7.63%, 6.05% และ 4.03% ตามลำดับ

เครื่องประดับของชนพื้นเมืองและเครื่องประดับสมัยใหม่

            ชนพื้นเมืองในชิลีคิดเป็น 9% ของประชากรทั้งหมด โดยชาวมาปูเช (Mapuche) นับเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดจากชนพื้นเมืองทั้ง 9 กลุ่ม คิดเป็นประชากรราว 84% ของชนพื้นเมืองที่มีในชิลี จำนวนกลุ่มรองลงมาคือ Aymara, Diaguita, Lickanantay และ Quechua ทั้งสี่กลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นจำนวนราว 15% ของชนพื้นเมืองทั้งหมด

            เครื่องประดับของชาวมาปูเชแบบดั้งเดิมนิยมทำด้วยผ้าทอ โลหะทองแดง หรือโลหะเงิน ที่ผ่านกรรมวิธีเช่น การตอก ขัดเงา แล้วนำมาเจาะรูเพื่อร้อยเรียงกันในแต่ละชิ้นงาน มีทั้งเครื่องประดับผม ต่างหู เครื่องประดับ-แบบคลุมไหล่ ส่วนใหญ่มีรูปทรงเป็นเรขาคณิตไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยม มุมฉาก ทรงกลม หรือทำเป็นชิ้นเล็กๆ มาเชื่อมต่อกัน เครื่องประดับเหล่านี้ชาวมาปูเชมีความเชื่อว่า สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารกับธรรมชาติและพระผู้เป็นเจ้าได้ โดยผู้หญิงจะสวมใส่เครื่องประดับในงานเฉลิมฉลอง พิธีการสำคัญ หรือเดินทางเข้าเมือง การสวมใส่เครื่องประดับนอกจากแสดงออกถึงความภูมิฐานแล้วยังเชื่อว่าสามารถใช้ปกป้องจากภยันตรายต่างๆ ได้ด้วย 

    ภาพจาก https://www.ethnicadornment.com/mapuche-jewellery

            วิถีชีวิตชาวชีลีในปัจจุบันมีลักษณะไม่รีบเร่งวุ่นวายแบบเมืองใหญ่ประเทศอื่นๆ มีความเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมสูง ขณะที่เมืองเล็กๆ หรือในชนบทจะมีการดำเนินชีวิตอิงตามวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ต่างจากเมืองใหญ่อย่างกรุงซันติอาโก เมืองหลวงของชิลี ซึ่งมีศูนย์การค้าใหญ่หลายแห่งที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Parque Arauco, Costanera Center และ Alto Las Condes หรือตลาด Bio-Bio Market ที่เป็นศูนย์รวมสินค้า อาหาร ของตกแต่งบ้าน เครื่องแต่งกาย ซึ่งมีความคลับคล้ายจตุจักรบ้านเรา นอกจากนี้ กรุงซันติอาโก ยังขึ้นชื่อเรื่องช่างฝีมือที่มีทักษะความชำนาญในการผลิตเครื่องประดับ ด้วยเทคนิคที่หลากหลายทั้งแบบดั้งเดิมของชาวมาปูเช การใช้วัสดุรีไซเคิล หรือใช้เครื่องมือแบบสมัยใหม่ ซึ่งสามารถซื้อหาได้ในย่านการค้าที่สำคัญอย่าง Patio Bellavista เป็นแหล่งศูนย์รวมของฝากนานาชนิดทั้งงานศิลปะ หัตถกรรม สิ่งทอ และเครื่องประดับ หรือหมู่บ้าน Pueblito Los Dominicos แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมงานหัตถกรรม สิ่งทอคุณภาพดี เครื่องประดับเงินสไตล์ชาวมาปูเช หรือเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วย ลาพิส ลาซูลี 

             การเข้าถึงแฟชั่น สไตล์การแต่งตัว และเครื่องประดับตกแต่ง สื่อออนไลน์ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนในเมืองใหญ่ให้ความสำคัญ โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวชิลีคิดเป็น 82.33% ของจำนวนประชากร สื่อออนไลน์ยอดนิยม ได้แก่ Facebook 68.25%, Pinterest 10.79%, Instagram 8.67%, YouTube 6.48%, Twitter 4.85% และ Tumblr 0.46% ซึ่ง Influencers ที่ทรงอิทธิพลด้านแฟชั่นเครื่องแต่งกายในชีลี ได้แก่ Ignaciaa Antonia มีผู้ติดตามไอจี 7.2 ล้านคน Palomamami มีผู้ติดตาม IG 4.1 ล้านคน Fernanda Vilalobos มีผู้ติดตาม IG 3.1 ล้านคน Raquel Calderon Argandona มีผู้ติดตาม IG 1.7 ล้านคน Claudipia มีผู้ติดตาม IG 1.6 ล้านคน เป็นต้น

แถวบนจากซ้าย Ignaciaa Antonia และ Palomamami แถวล่างจากซ้าย Fernanda Vilalobos, Raquel Calderon Argandona และ Claudipia

            การแต่งตัวของผู้คนในเมืองใหญ่นิยมแต่งกายในลักษณะผ่อนคลาย สบายๆ ผู้หญิงไม่นิยมแต่งกายเซ็กซี่วาบหวิวมากนัก แต่เน้นความพิถีพิถันกับการแต่งกายให้เข้ากับแต่ละโอกาส ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นทางยุโรป สำหรับการสวมใส่เครื่องประดับชาวชิลีนั้น มีผลการสำรวจของสมาคมผู้ประกอบการสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีของชิลี (Asociación Gremial Joyeros, Relojeros y Afines de Chile) ระบุว่า ชาวชิลีนิยมรูปแบบที่เรียบง่าย ดีไซน์ไม่หวือหวา สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน หากเป็นแหวนหมั้นนิยมเลือกซื้อแหวนที่ตัวเรือนทำจากแพลทินัมและประดับด้วยเพชรที่มีขนาดกะรัตไม่ต้องมาก แต่เน้นจำนวนเพชรหลายๆ เม็ด และแหวนแต่งงานจะเป็นทองคำเกลี้ยงโดยมักจะแกะสลักชื่อบุคคลลงไปด้วย 

            นอกจากนี้ สตรีชาวชิลีอายุระหว่าง 18-45 ปี มีความนิยมเครื่องประดับเงิน เนื่องจากมีราคาไม่สูงนัก สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน ต่างจากผู้มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป มักนิยมเครื่องประดับทองคำ 18-24 กะรัต แต่สีของทองคำที่มีกะรัตสูงมีสีเหลืองมากเกินไปไม่เป็นที่นิยมในชิลี ขณะที่เครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าอื่นๆ อย่าง ทองแดง ทองเหลือง หรือเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยลาพิส ลาซูลี ก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชิลี ซึ่งเครื่องประดับตกแต่งด้วยลาพิส ลาซูลี เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแบบชนพื้นเมืองชาวมาปูเช เป็นของฝากขึ้นชื่อของชิลีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของชิลีกับนานาชาติ

            ในปี 2020 ชีลีได้ดุลการค้าระหว่างประเทศในหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ 1,185.37 ล้าน-ดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการส่งออก 1,253.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.86% ของมูลค่าการส่งออกรวม สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ทองคำ โลหะเงิน และเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า มีสัดส่วน 76.13%, 20% และ 2.82% ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อิตาลี อินเดีย และสเปน คิดเป็นสัดส่วน 63.49%, 27.24%, 2.63%, 1.59% และ 0.90% ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 68.05 ล้านดอลลาร์-สหรัฐ คิดเป็น 0.12% ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ไทย จีน แคนาดา อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ในสัดส่วน 23.20%, 16.98%, 1.22%, 8.09% และ 4.05% ตามลำดับ ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2021 ไทยส่งออกไปยังชิลีเพิ่มขึ้นกว่า 153.68% อันเนื่องมาจากสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับเทียม ขยายตัวสูงถึง 298.59% และ 73.17% ตามลำดับ

            แม้ว่าชิลีจะนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยเป็นอันดับ 1 แต่การส่งออกของไทยไปชิลีคิดเป็น 0.02% ของการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังชิลี คือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับ-ทอง และเครื่องประดับเทียม คิดเป็นสัดส่วน 70.35%, 18.81% และ 9.44% ตามลำดับ

            ไทยและชิลีมีการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมาต่อเนื่อง กระทั่งนำมาสู่ข้อตกลงการค้าเสรีในปี 2015 โดยสินค้าและบริการภายใต้ข้อตกลงนี้ทั้งหมดจะลดภาษีเป็น 0 ภายในปี 2023 ทั้งนี้ สินค้าหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ ชิลีเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา MFN Rate1  6% แต่ภายใต้ข้อตกลงไทย-ชิลี ทำให้ภาษีนำเข้าเป็น 0 ทุกรายการ ยกเว้นทองคำพิกัด 7108 บางพิกัดที่ยังเก็บในอัตรา 6% จึงถือเป็นข้อได้เปรียบที่ผู้ประกอบการควรใช้สิทธิประโยชน์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาดชิลี 

            ล่าสุดไทยและชิลีบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form TC ด้วยการนำระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) มาใช้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดการสัมผัสเอกสาร สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุค New Normal ได้เป็นอย่างดี

โอกาสและจุดแข็งของการค้าไทย-ชิลี

            ชิลีเป็นประเทศที่เปิดกว้างรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เปิดรับวัฒนธรรมจากเอเชีย มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินของลาตินอเมริกา การทำธุรกิจกับชาวชิลีนั้นควรเริ่มต้นด้วยการติดต่อผ่านหน่วยงานของรัฐเพื่อศึกษาข้อมูลและเดินทางไปชิลีเพื่อศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยตนเองหรือผ่านงานจัดแสดงสินค้า หากต้องการหุ้นส่วนธุรกิจให้ติดต่อผ่านทางทูตพาณิชย์เป็นสำคัญเพื่อคัดกรองให้ได้คู่ค้าที่ดีมีศักยภาพ อีกทั้งนโยบายของชิลีเน้นส่งเสริมการค้าเสรี จึงมีข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก การใช้ชิลีเป็นฐานการผลิตหรือ Re-Export ไปยังประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา หรือภูมิภาคอื่นที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าจึงเป็นโอกาสที่น่าพิจารณา โดยชิลีมีเขตปลอดภาษี 2 แห่ง คือ

            1. เขตปลอดภาษีเมือง Iquique ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี เป็นเขตปลอดภาษีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากเป็นเมืองท่าเรือที่มีศักยภาพแล้ว ยังมีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมโยงเปรู โบลิเวีย อาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย และปารากวัย จึงเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ที่สำคัญการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

            2. เขตปลอดภาษี Zonaustral เมือง Punta Arenas ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี ใช้เป็นแหล่งกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคตอนใต้ของชิลีและอาร์เจนตินา มีขนาดเล็กกว่าเขตปลอดภาษีเมือง Iquique

            สิทธิพิเศษสำคัญที่ผู้ประกอบการในเขตปลอดภาษีได้รับ เช่น การยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเข้า เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 19% และภาษีนำเข้า รวมทั้งมีพิธีการทางศุลกากรที่ง่ายกว่านอกเขตปลอดภาษี การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax) 24% หรือการยกเว้นภาษีให้กับสินค้า Re-export เป็นต้น

            ข้อสังเกต ชิลีและหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกาใช้ภาษาสเปนเป็นหลักในการติดต่อสื่อสาร ประชากรพูดภาษาอังกฤษได้ไม่มากนัก จำกัดเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ 

            ชิลีแม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดตลาดไม่ใหญ่นักแต่ประชากรมีกำลังซื้อสูงและเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี รวมทั้งมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับหลายประเทศที่สำคัญในลาตินอเมริกา ดังนั้น การตั้งต้นทำการค้ากับชิลีไม่เพียงแต่ได้ประโยชน์ทั้งตลาดในประเทศแต่ยังสามารถขยายตลาดไปทั่วลาตินอเมริกาได้อีกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง


1 Most-favored Nation Treatment : MFN เป็นหลักการปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิก WTO ต้องเรียกเก็บภาษีศุลกากร หรือค่าธรรมเนียม หรือใช้มาตรการใดๆ กับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าเทียมกันทุกประเทศ และปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าเท่าเทียมกับสินค้าภายในประเทศ

ข้อมูลอ้างอิง
1) Chile. Retrieved February 21, 2021. from https://www.britannica.com/place/Chile
2) Chile Population. Retrieved February 21, https://worldpopulationreview.com
3) Indigenous peoples in Chile. Retrieved February 22, 2021. from https://www.iwgia.org/en/chile
4) MAPUCHE TRADITIONAL ADORNMENT. Retrieved February 22, 2021. from https://www.ethnicadornment.com/mapuche-jewellery
5) What is Chile like?. Retrieved February 22, 2021. from https://theexpater.com
6) Top 1000 Fashion Instagram Influencers in Chile in 2021. Retrieved February 25, 2021. from https://starngage.com/app/global/influencer
7) SHOPPING IN CHILE. Retrieved March 9, 2021. from https://www.exoticca.com
8) Top 5 Souvenirs from Santiago de Compostela. Retrieved March 10, 2021. from https://spanishsabores.com/typical-souvenirs-from-santiago
9) Santiago Landmarks Walking Tour. Retrieved March 12, 2021. from https://www.gpsmycity.co m/tours
10) https://www.ditp.go.th/contents_attach/637252/637252.pdf
11) https://gs.statcounter.com/social-media-stats/all/chile
12) https://www.afar.com/places/los-dominicos-santiago
13) คต. ปลื้ม ไทยและชิลีดันนวัตกรรมดิจิทัล เพิ่มความสะดวกทางการค้า ในยุค New Normal สืบค้นจาก https://www.thailandplus.tv/archives/334884

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที