GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 10 มิ.ย. 2021 10.26 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7545 ครั้ง

ด้วยชื่อเสียงทางความเชื่อ ทั้งในเรื่องของการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การป้องกันอันตราย โชคลาภ จนไปถึงเมตตามหานิยม ความเชื่อในอดีตเหล่านี้ได้นำพา ?หัวนะโม? เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ของชาวนครศรีธรรมราชตั้งแต่โบราณ ให้ได้รับความนิยมมาจนกระทั่งปัจจุบันได้อย่างไร สามารถติดตามได้จากบทความนี้


หัวนะโมเมืองนครฯ จากความเชื่อสู่เครื่องประดับ

 “หัวนะโม” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากชื่อเสียงทางความเชื่อ ทั้งในเรื่องของการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การป้องกันภยันอันตราย จนไปถึงเมตตามหานิยม ด้วยความหลากหลายของพุทธคุณนี้ ทำให้ผู้คนต่างให้ความสนใจกับหัวนะโมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหัวนะโมจากนครศรีธรรมราช

ที่มาของหัวนะโม

            หัวนะโมมีจุดเริ่มต้นมาหลายร้อยปี โดยเล่าสืบต่อกันมาว่า ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 หัวนะโมเป็นเบี้ยที่ไว้ใช้แทนเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนเปลี่ยนสินค้าของอาณาจักรตามพรลิงค์ หรือจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน โดยทำจากโลหะ เหตุที่ชื่อว่าหัวนะโมนั้น มาจากการจารึกอักษรปัลลวะหรืออักษรอินเดียโบราณ ที่เรียกว่าตัว “นะ” ไว้บนเม็ดเงินที่มีลักษณะกลม และเมื่อสมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดขึ้น จึงได้มีการทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมขึ้นมาด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์ โดยอัญเชิญเทพเจ้าสามพระองค์ ซึ่งได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม แล้วนำไปหว่านยังจุดที่มีโรคระบาด และรอบๆ บริเวณเมือง ปรากฎว่าโรคระบาดได้หายไป และอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ได้เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดในเมืองนครศรีธรรมราชเช่นกัน จึงได้ทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมเพื่อนำไปหว่านแบบกาลก่อน ซึ่งโรคระบาดนั้นก็ได้หายไปเหมือนเดิม จึงเป็นเหตุให้ “หัวนะโม” เป็นของมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของชาวนครศรีธรรมราชที่ส่วนใหญ่จะพกของมงคลนี้ติดตัว

หัวนะโมกับความเชื่อในอดีต

            การทำหัวนะโมในอดีตเป็นการนำเงินยวง (โลหะเงินไม่ผสมโลหะอื่น ที่มีความขาวและนิ่ม) มาตอกตรานะโมลงไป และขึ้นรูปในอยู่ในลักษณะเป็นเม็ดกลม หรือนำนวโลหะ (โลหะเก้าอย่าง) หรือสัตตโลหะ (โลหะเจ็ดอย่าง) มาตอกตรานะโมและขึ้นรูปเช่นเดียวกัน โดยหัวนะโมนั้นเปรียบเสมือนฝาและมีเงินอีกชิ้นมาหล่อประกบกัน ผ่านการหลอมหรือตอกหรือบีบ เพื่อให้ติดกันจนไม่เกิดช่องว่าง โดยช่องว่างตรงกลางนั้นจะใส่แร่ปรอทเข้าไปจากการใช้ไม้ไผ่สีสุกที่ตัดสดใหม่และฉีกเป็นเส้นเล็กสำหรับเทปรอทเข้าไปในช่องว่างตรงกลางเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ เพราะในอดีตเชื่อว่า ปรอทเป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์ แต่กระนั้นยังมีการซัดว่านยาเพื่อเป็นการใช้สมนุไพรกำราบพิษจากปรอทควบคู่กันไปด้วย จะเห็นได้ว่า หัวนะโมนั้นจะมีขนาดไม่ใหญ่ ช่องว่างที่อยู่ตรงกลางก็จะไม่ใหญ่ เพราะสมัยก่อนการหาปรอทมาใส่เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เล่ากันว่าต้องมีการไปทำพิธีดักปรอทจากในป่า อีกทั้งวิธีการหุงปรอทและทำให้ปรอทมีความศักดิ์สิทธิ์ก็มีความซับซ้อนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ปริมาณปรอทที่ถูกในภายในหัวนะโมจึงมีขนาดประมาณเมล็ดถั่วเขียวเท่านั้น 

           โดยมีความเชื่อว่า “หัวนะโม” สามารถป้องกันอันตราย หรือป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ เปรียบได้กับเบี้ยแก้ที่ทำจากเปลือกหอยแล้วใส่ปรอทไว้ตรงกลางข้างใน โดยมีลักษณะการทำ และความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์คล้ายคลึงกัน 

หัวนะโมความเชื่อที่ผสานกับเครื่องประดับในปัจจุบัน

            จากกระแสโด่งดังของ “หัวมะโม” ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย หัวนะโมจึงไม่ได้เป็นเพียงเม็ดเงินกลมๆ ที่มีเพียงตราหัวนะโมอีกต่อไป

            ขั้นตอนการทำหัวนะโมในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องของโลหะเงินที่นำมาใช้ตอกตราหัวนะโมก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้จัดทำ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นโลหะเงินทั่วไป ไม่ได้มีการใส่ปรอทเข้าไปในช่องว่างด้านใน ส่วนในเรื่องของพิธีกรรมก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลอีกเช่นกัน บางคนนิยมหัวนะโมที่ผ่านพิธีปลุกเสกมาแล้ว แต่บางคนเชื่อว่าขอแค่เป็นหัวนะโมก็มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีปลุกเสกใดๆ หรือบางคนก็นำหัวนะโมที่ยังไม่ได้ปลุกเสกไปร่วมงานร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่เคารพนับถือเพื่อเป็นการปลุกเสก

“หัวนะโม” ถูกนำไปประกอบและผสมผสานเป็นเครื่องประดับมากมาย ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้จัดทำ ทั้งในส่วนเครื่องเงิน เครื่องทอง หรือเครื่องถม ไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือ สร้อยคอ แหวน หรือแม้กระทั่งตุ้มหู ล้วนแล้วตามความชอบและความสะดวกใช้งานของแต่ละบุคคล และสำหรับเรื่องจำนวนหัวนะโมที่อยู่ในเครื่องประดับต่างๆ นั้น ไม่ได้มีความเชื่อเรื่องการระบุจำนวนที่แน่นอน ดังนั้น สามารถใช้จำนวนได้ตามเหมาะสม

  

สร้อยคอและสร้อยข้อมือ “หัวนะโม”

  

แหวน “หัวนะโม”

            จากความเชื่อในอดีตสู่เครื่องประดับที่หลากหลายรูปแบบในปัจจุบันทำให้ “หัวนะโมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช” ยังคงโลดแล่นไปพร้อมกาลเวลาที่ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นทางของกาลเวลาที่นำพาความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ ความมงคลเดินตามเส้นทางของยุคใหม่ไม่มีวันจบสิ้น

 

ข้อมูลอ้างอิง


1) https://mgronline.com/travel/detail/9620000074818
2) https://mgronline.com/travel/detail/9630000030719
3) https://th.koohoo.fm/bas/ep016/

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที