ศุภกร

ผู้เขียน : ศุภกร

อัพเดท: 18 เม.ย. 2007 22.17 น. บทความนี้มีผู้ชม: 19484 ครั้ง

เจติยสถาน


ประวัติพระพุทธบาท

ประวัติพระพุทธบาท

19050_DSCN2041.jpg

วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร
  พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร

ประวัติ

 พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นพระมหาเจดียสถานมีมาในประเทศไทยแต่โบราณกาล ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา (พุทธศักราช ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑) ปรากฏว่า มีพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยคณะหนึ่ง พากันเดินทางไปยัง ลังกาทวีป ด้วยหวังจะสักการบูชาพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ การไปคราวนั้นประจวบกับเป็นเวลาที่พระสงฆ์ชาวลังกาทวีปกำลังขวนขวายสอบสวนประวัติ และที่ตั้งแห่งรอยพระพุทธบาททั้งปวงตามที่ปรากฏอยู่ในตำนานว่ามีเพียง ๕ แห่ง(เขาสุวรรณมาลิก เขาสุวรรณบรรพต เขาสุมนกูฏ ที่เมืองโยนกบุรี และที่หาดในลำน้ำนัมทานที) ภายหลังสืบ ได้ความว่าภูเขาที่ชื่อว่า สุวรรณบรรพตมีอยู่ในสยามประเทศ ครั้นเมื่อได้พบกับพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยในคราวนั้น ต่างพากันสอบภามว่ารอยพระพุทธบาท ที่มีอยู่ ๕ แห่ง ในสถานที่ต่างๆ กันนั้น ปรากฏว่ามีที่เขาสุวรรณบรรพตแห่ง ๑ ก็ภูเขาลูกนี้อยู่ในประเทศไทยแท้ๆ ไฉนจึงไม่พยายามสืบเสาะไปนมัสการ กลับพากันมาถึงลังกาทวีป เป็นการหมดเปลืองเวลาโดยใช่เหตุ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไทยคณะนั้นได้รับคำบอกเล่าดังนี้แล้ว กลับมาสู่ประเทศไทย จึงนำความขึ้นถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราสั่งบรรดาหัวเมืองทั้งปวง ให้เที่ยวตรวจตราค้นดูตามภูเขาต่างๆ ว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด

19050_DSCN2029.jpg

     ครั้งนั้น เจ้าเมืองสระบุรี สืบได้ความจากนายพรานบุญว่า ครั้งหนึ่งออกไปล่าเนื้อในป่าใกล้เชิงเขา ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งเจ็บลำบากหนีขึ้นไปบนไหล่เขา ซุกเข้าเชิงไม้หายไป พอบัดเดี๋ยวก็เห็นเนื้อตัวนั้น วิ่งออกจากเชิงไม้เป็นปกติอย่างเก่า นายพรานบุญนึกประหลาดใจ จึงตามขึ้นไปดูสถานที่บนไหล่เขาที่เนื้อหนีขึ้นไป ก็พบรอยปรากฏอยู่ในศิลา มีลักษณะเหมือนรูป รอยเท้าคน ขนาดยาวประมาณสักศอกเศษ และ ในรอยนั้นมีน้ำขังอยู่ด้วย นายพรานบุญเข้าใจ ว่าบาดแผลของเนื้อตัวที่ถูกตนยิง คงหายเพราะดื่มน้ำในรอยนั้น จึงวักน้ำลองเอามาทาตัวดู บรรดาโรคผิวหนังคือ กลากเกลื้อน ซึ่งเป็นเรื้อรังมาช้านานแล้ว ก็หายหมดสิ้นไป เจ้าเมืองสระบุรี จึงสอบสวนความจริงดู ก็ตรวจค้นพบรอยนั้น สมดังคำบอกเล่าของนายพรานบุญ จึงมีใบบอกแจ้งเรื่องเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา

19050_DSCN2039.jpg
บันไดนาคเจ็ดเศียร สำหรับขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท


สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไป ณ ที่เขานั้น ทอดพระเนตรเห็นรอยนั้นแล้ว จึงทรงพระราชวิจารณ์ตระหนักแน่นพระราชหฤทัยว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท เพราะมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐุตตรสตมหามงคลร้อยแปดประการ ตรงกับเรื่องทีชาวลังกาทวีปแจ้งเข้ามาด้วย เกิดพระราชศรัทธาปราโมทย์โสมนัสเป็นกำลัง โดยทรงพระราชดำริเห็นว่ารอยพระพุทธบาทย่อมจัดเป็นบริโภคเจดีย์แท้ เพราะเป็นพุทธบทวลัญช์อันเนื่องมาแต่พระพุทธองค์ ย่อมประเสริฐยิ่งกว่าอุเทสิกเจดีย์ เช่น พระพุทธรูป และพระสถูปเจดีย์ อันเป็นสิ่งที่สมมติสร้างกันขึ้น สมควรจะยกย่องบูชาเป็นพระมหาเจดียสถาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤหหลังน้อย สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนแล้ว ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังราชธานี จึงทรงเริ่มงานสถาปนายก ที่พระพุทธบาทขึ้นเป็นเจดียสถานเป็นการใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปยอดเดี่ยวสวมรอยพระพุทธบาทกำหนดเป็นพุทธเจดีย์ และสร้างอารามวัตถุอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ เสนาสนสงฆ์ เป็นต้น จัดเป็นสังฆาราม ให้เป็นที่สำหรับพระภิกษุอยู่แรมจำพรรษา เพื่อทำการบริบาลพระพุทธบาท ทรงพระราชศรัทธาอุทิศเนื้อที่โยชน์หนึ่ง โดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธเกษตรต่างพุทธบูชา บรรดากัลปนาผล ซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงจากเนื้อที่นั้นให้ใช้จ่ายเป็นค่าบำรุงรักษาพระมหาเจดียสถานที่พระพุทธบาท ทรงยกที่พุทธเกษตรส่วนนี้ให้เป็นเมืองชั้นจัตวา ชื่อเมืองปรันตปะ แต่นามสามัญเรียกกันว่า เมืองพระพุทธบาท ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา (คงเป็นเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ลดลงเป็นอำเภอขึ้นต่อเมืองสระบุรีในรัชกาลที่ ๕ )

19050_DSCN2030.jpg
ระฆังแขวน ตั้งอยู่ริมกำแพงแก้วซึ่งล้อมพระมณฑปพระพุทธบาททางด้านเหนือ

โปรดเกล้าฯ ให้ชายฉกรรจ์ทุกคนที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่พระพุทธบาทพ้นจากหน้าที่ราชการอย่างอื่นสิ้น ตั้งให้เป็นพวกขุนโขลนเป็นข้าปฏิบัติบูชารักษาพระพุทธบาทแต่หน้าที่เดียว พระราชทานราชทินนามบรรดาศักดิ์ประจำตำแหน่งผู้รักษาการพระพุทธบาท หัวหน้าเป็นที่ขุนสัจจพันธ์คีรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสี นพคูหาพนมโขลน รองลงมาเป็นที่หมื่นสุวรรณปราสาท หมื่นแผ้วอากาศ หมื่นชินธาตุ หมื่นศรีสัปบุรุษ ทั้ง ๔ คนนี้ เป็นผู้รักษาเฉพาะองค์พระมณฑป ตั้งนายทวารบาล ๔ นาย เป็นที่หมื่นราชบำนาญทมุนิน (น่าจะเป็นหมื่นบาทมุนินทร์) หมื่นอินทรรักษา หมื่นบูชาเจดีย์ หมื่นศรีพุทธบาล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคลังสำหรับเก็บวัตถุสิ่งของที่มีผู้นำมาถวายเป็นพุทธบูชา ให้ผู้รักษาคลังเป็นที่ขุนอินทรพิทักษ์ ขุนพรหมรักษา หมื่นพิทักษ์สมบัติ หมื่นพิทักษ์รักษา ให้มีผู้ประโคมยามประจำทั้งกลางวันกลางคืนเป็นพุทธบูชา ตั้งเป็นที่หมื่นสนั่นไพเราะ หมื่นเสนาะเวหา พันเสนาะ รองเสนาะ ทรงกำหนดเทศกาลสำหรับให้มหาชนขึ้นไปบูชารอยพระพุทธบาทเดือน ๓ ครั้ง ๑ และเดือน ๔ ครั้ง ๑ เป็นประเพณีตั้งแต่นั้นมา

19050_DSCN2036.jpg
                           ประตูยักษ์ 

วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ห่างจากตัวจังหวัดสระบุรีประมาณ ๒๘ กม. มีทางเลี้ยวซ้ายก่อนถึงอำเภอพระพุทธบาทเข้าไป ๑ กม. ปูชนียสถานที่สำคัญคือ "รอยพระพุทธบาท" ที่ประทับไว้ในแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี ลักษณะของรอยพระพุทธบาทคล้ายเท้าคน กว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕ ฟุต ลึก ๑๑ นิ้ว ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นรอยพระบาทตามลักษณะ ๑๐๘ ประการ จึงโปรดให้สร้างมณฑปชั่วคราวครอบรอยพระบาทไว้ ต่อมาได้มีการก่อสร้างต่อเติมอีกหลายสมัยลักษณะของพระมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท ๗ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสองปิดประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนมและมีพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับชั้นเยี่ยมของเมืองไทย ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสาย หมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงมาจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริดเป็นนาค ๕ เศียร บริเวณรอบพระมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตี เป็นการแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย พระอุโบสถและพระวิหารต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น



แหล่งอ้างอิง

1.http://www.dhammathai.org/watthai/central/watphrabuddhabat.php
2.http://www.watphrabuddhabat.com/th/about/index.html
3.http://student.swu.ac.th/fa471010158/cv.htm
4.http://www.student.chula.ac.th/~46436542/page2.htm

รวบรวมไว้โดยสมบูรณ์ หากผิดพลาดหรือมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเขียนเพิ่มใน comment แล้วผู้เขียนจะนำมาเพิ่มเติมในบทความ ขอขอบพระคุณ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที